ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

เขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พิษณุโลก

เขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พิษณุโลก

นายสมพล พันธุ์มณี เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาแม่น้ำแควน้อยตอนล่างระดับน้ำได้เอ่อล้นในปริมาณที่มากพอควรส่งผลกระทบเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรในตำบลหัวรอ ตำบลสระโคล่ เป็นบริเวณกว้าง ขณะเดียวกันปริมาณน้ำฝนจากจังหวัดแพร่ที่ไหลบ่าลงมาสบทบกับปริมาณน้ำจากจังหวัดสุโขทัย จึงทำให้ระดับน้ำในหลายอำเภอของจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ตลอดถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

เลขาธิการ กปร. ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาเรื่องปริมาณน้ำและการจัดการน้ำในแม่น้ำแควน้อย นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2546 ที่ผ่านมา โดยโครงการเขื่อนแควน้อยนั้นจะเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ตัวเขื่อนมี 3 เขื่อน ติดต่อกัน ได้แก่ เขื่อนแควน้อย เป็นเขื่อนหินทิ้งดาดคอนกรีต มีความสูง 75 เมตร ยาว 681 เมตร เขื่อนสันตะเคียน เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีความสูง 80 เมตร ยาว 1,260 เมตร และเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ เป็นเขื่อนดิน มีความสูง 23 เมตร ยาว 667 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 769 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะมีฝายทดน้ำพญาแมนพร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ประกอบเป็นเขื่อนปิดกั้นลำน้ำแควน้อย ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานบริเวณฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำแควน้อย โดยการปล่อยน้ำลงมาด้านท้ายน้ำของเขื่อนแล้วสร้างหัวงานฝายทดน้ำในลำน้ำแควน้อยที่บ้านพญาแมน อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อผันน้ำจากท้ายเขื่อนแควน้อยผ่านประตูระบายน้ำเข้าสู่คลองชลประทานทั้งด้านขวาและด้านซ้ายของหัวงานฝาย ส่วนน้ำที่เหลือจะปล่อยให้ไหลผ่านฝายไปตามลำน้ำแควน้อยลงลำน้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังพื้นที่เพาะปลูกโครงการชลประทานเจ้าพระยาตอนบน สำหรับใช้เพาะปลูกในฤดูแล้งเพิ่มขึ้นและจะสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าฝนหรือมีปริมาณน้ำมากไม่ให้ไหลท่วมพื้นที่ทางตอนล่างได้



“โครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พิษณุโลก ณ วันนี้ ยังอยู่ในช่วงของการก่อสร้าง ซึ่งยังไม่สามารถทำหน้าที่ในการรองรับปริมาณน้ำได้ตามเป้าหมายและแน่นอนว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างที่เป็นผลมาจากปริมาณน้ำมากในแม่น้ำแควน้อย หากการก่อสร้างหรือโครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้รับการดำเนินการก่อนหน้านี้ ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมในพื้นที่เหล่านั้นก็ย่อมที่จะไม่เกิดขึ้น ดังเช่นพื้นที่ทางตอนล่างของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก” นายสมพล กล่าว


ทางด้าน นายเขียว ดีอินทร์ ราษฎรหมู่ที่ 3 บ้านน้อย ตำบลหินลาด อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เมื่อถึงช่วงหน้าฝนจะเกิดความวิตกกังวลขึ้นมาทันทีเนื่องจากเจอน้ำท่วมจนพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกไว้เสียหายหมด มาถึงปีนี้แม้พื้นที่ยังไม่พ้นปัญหาเรื่องน้ำท่วมก็ตาม ก็ยังมีกำลังใจและความหวังจากเขื่อนแควน้อย และมั่นใจว่าเมื่อเขื่อนสร้างเสร็จพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยจะไม่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมอีกต่อไปและรู้สึกซาบซึ้งในแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้สร้างโครงการเขื่อนแควน้อยขึ้นมา รู้สึกดีใจเมื่อมีเขื่อนแล้วบ้านเมืองจะเจริญขึ้น เศรษฐกิจในชุมชนก็จะดีขึ้น มีน้ำใช้ ไม่แห้งแล้ง และยังช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปีได้อีกด้วย


การก่อสร้างเขื่อนแควน้อยฯตามโครงการจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีแห่งมหามงคล เนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เขื่อนแควน้อยจึงเป็นเสมือนอีกหนึ่งในผลงานเพื่อการเฉลิมฉลองในปีมหามงคลนี้ ขณะเดียวกันเมื่อถึงตอนนั้น ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างก็จะทุเลาเบาบางลงอันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจากพระองค์ที่มีต่อราษฎรในพื้นที่ สำหรับการมีชีวิตและอนาคตที่ดีขึ้น 

พนา พงพรรณ ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549