ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

วันจันทร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการดำเนินงานด้านจัดทำแนวทางบริหารจัดการโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการดำเนินงานด้านวิชาการโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

นายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ สำนักงาน กปร. และเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เฝ้าฯ รับเสด็จ 

   การนี้ นายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการ กปร. กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานสนองพระราชดำริ แนวทางในการดำเนินงานของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ นางสาวมนทกานติ ท้ามติ้น รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ กราบบังคมทูลรายงานผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนาดิน น้ำ ป่าไม้ เกษตร ทรัพยากรชายฝั่ง รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรอบศูนย์ศึกษาฯ

   จากนั้น ทรงประทับรถรางพระที่นั่งทอดพระเนตรผลสัมฤทธิ์กิจกรรมต่าง ๆจำนวน ๙ กิจกรรม ประกอบด้วย การเพิ่มมูลค่าและการใช้ประโยชน์จากดินเลนนากุ้ง การเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านน้ำแดง การสาธิตการเลี้ยงกุ้งขาวตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในบ่อ PE ขนาดเล็ก ที่ให้ผลผลิตดีสามารถใช้เป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก การเพาะเห็ดเศรษฐกิจสู่ชุมชนและโครงการอาหารกลางวันโรงเรียน การปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ

ต่อมาเสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “สิริพัฒนภัณฑ์” ชื่อพระราชทาน หมายถึง อาคารที่เป็นแหล่งผลิตภัณฑ์อันเจริญและเป็นมงคล และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่ออาคารด้วย พร้อมกับทอดพระเนตร ผลิตภัณฑ์ผลผลิตทางการเกษตร ประมง และกลุ่มแม่บ้าน ร้านกาแฟสด 

   จากนั้น เสด็จไปทรงปลูกต้นแก้วเจ้าจอม และทรงเยี่ยมกลุ่มแม่บ้าน เกษตรกรตัวอย่างและผู้แทนศูนย์เรียนรู้ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ และทรงประทับรถรางพระที่นั่งทอดพระเนตร การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าชายเลน และป่าชุมชน การส่งเสริมการเลี้ยงกวางรูซ่า และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและธนาคารปู  

ต่อจากนั้นเสด็จไปบริเวณหาดแหลมเสด็จ ทรงปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ เต่าทะเล หอยชักตีน ปูม้า และกุ้งกุลาดำ รวม ๖๗๐,๐๐๐ ตัว และเสด็จไปยังอาคาร กปร. พร้อมกับพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะอนุกรรมการ คณะทำงานและเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ

ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปี ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่การปฏิบัติจนมีผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์ ในลักษณะของการพัฒนาจากยอดเขา สู่ท้องทะเล โดยการฟื้นฟูป่าบกและป่าชายเลน ควบคู่กับการจัดการด้านประมงและการเกษตรที่สอดคล้องเหมาะสมกับภูมิสังคม สามารถพัฒนาองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อให้เกิดตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนา ดิน น้ำ ป่าไม้ ประมง และอาชีพที่ยั่งยืน ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมการสื่อสารที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต เพื่อก่อให้เกิดการขยายผลสู่ประชาชนได้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้ดำเนินงานในรูปแบบบูรณาการการมีส่วนร่วมโดยให้ชุมชนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเกิดผลสัมฤทธิ์สร้างประโยชน์ต่อชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ด้านทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูเกิดความสมดุลของระบบนิเวศน์โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ตามแนวเขา ด้วยการปลูกป่าทดแทน จำนวน ๑๑,๓๗๐ ไร่ อนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนเดิม ๖๑๐ ไร่ ปลูกป่าชายเลนทดแทน จำนวน ๖๙๐ ไร่ ฟื้นฟูหญ้าทะเลเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๒๔๕ ไร่ ฟื้นฟูป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดจันทบุรีได้ถึง ๑,๑๐๐ ไร่ จึงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ แหล่งวางไข่ และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะปูม้าผลผลิตจากธนาคารปูม้าชุมชนในอ่าวคุ้งกระเบน ดัชนีชี้วัดถึงความสมบูรณ์พบว่าพะยูนสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ที่เคยหายไปจากอ่าวคุ้งกระเบนฯ เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ได้หวนคืนถิ่นอีกครั้ง

ด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เป็นต้นมา ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพการเพาะลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งทะเลรอบอ่าวคุ้งกระเบนอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระหว่างปี ๒๕๓๘-๒๕๖๓ สามารถสร้างผลผลิตกุ้งทะเลมากกว่า ๒๒,๗๑๖ ตัน มีมูลค่ามากกว่า ๒,๖๐๑.๓๖ ร้อยล้านบาท นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำธนาคารปูม้าแบบมีส่วนร่วมแก่ชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวคุ้งกระเบน ทำให้ประชากรปูม้าเพิ่มขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปูม้าได้ ๑๐-๑๒ กิโลกรัม/ครั้งการประมง ส่วนการทำประมงปูม้าเชิงพาณิชย์นอกอ่าวคุ้งกระเบนสามารถทำการประมงปูม้าได้ ๘๐-๑๒๐ กิโลกรัม/ครั้งการประมง ส่งผลให้เกษตรกรสามารถจับปูม้าได้ทั้งปีจากที่เคยมีรายได้เพียง ๕๐๐-๑,๕๐๐ บาท/คน/วัน ปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ ๑,๕๐๐-๕,๐๐๐ บาท/คน/วัน นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูทรัพยากรหอยชักตีน สัตว์น้ำประจำท้องถิ่นอ่าวคุ้งกระเบน โดยส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรหอยชักตีน ในปี ๒๕๖๓ ร่วมกับเกษตรกรผลิตและปล่อยลูกหอยชักตีนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน ๕๖๐,๐๐๐ ตัว

ด้านการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเกษตร จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จำนวน ๑๒ แห่ง และจุดเรียนรู้ ๑๘ แห่ง เพื่อสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ บริการฝึกอบรม ศึกษาดูงานแก่เกษตรกร โดยมีเกษตรกรมาศึกษาดูงาน เฉลี่ย ๔,๐๐๐ คน/ปี นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

   จากผลสำเร็จของการพัฒนาด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการพัฒนาอาชีพ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดด้านการท่องเที่ยวโครงการพระราชดำริในรูปแบบ “การท่องเที่ยวเชิงพัฒนา” ซึ่งนอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินความสุขแล้ว ยังสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้อีกด้วย ที่ผ่านมามีผู้มาศึกษาดูงานและท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า ๘๐๐,๐๐๐ คน/ปี กระจายรายได้ไปสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท/ปี

สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง ๖ แห่ง มีกรอบแนวทางนโยบายการบริหารงานภายใต้คณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีแผนแม่บทศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นตัวกำหนดทิศทางในการดำเนินงาน ประกอบด้วย ๓ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ๑) การศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนา ๒) การขยายผลการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ และ ๓) การบริหารจัดการองค์กร โดยสำนักงาน กปร. ได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด มาเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติสืบไป