ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

นายจรูญ ธาตุอินจันทร์

ภูมิภาค
ภาคเหนือ
จังหวัด
เชียงใหม่
ศูนย์การศึกษาพัฒนาฯ
ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
ด้านศูนย์
ผักปลอดสารพิษ

ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริด้านการปลูกผักปลอดภัยสารพิษ
ชื่อเกษตรกร/ผู้แทน : นายจรูญ ธาตุอินจันทร์

        ก่อนเข้าร่วมโครงการกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เกษตรกรเล่าว่าเดิมตนเองประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ต้องออกไปทำงานแต่เช้ากลับถึงบ้านก็เป็นเวลาช่วงค่ำไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว แต่เมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับในช่วงสภาพเศรษฐกิจคล่องตัว มีงานให้รับเหมาจำนวนมากรายได้ดี แต่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำงานที่เคยมีให้ทำเริ่มลดลงไม่มีผู้ว่าจ้าง ค่าครองชีพ ในแต่ละวันของครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น ความสมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่ายไม่สมดุลกัน จึงหันมายึดอาชีพเกษตรกรรม โดยทำนาเพียงอย่างเดียวแต่ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนการดำเนินการที่สูงเนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่สูง ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้มองหาอาชีพมาแทนที่โดยยึดกิจกรรมที่ต้องใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สามารถทำร่วมกับสมาชิกในครอบครัวมีเวลาให้ครอบครัวอย่างเต็มที่ และมีเวลาช่วยเหลือชุมชน จึงเข้ามาศึกษาเรียนรู้จากศูนย์ศึกษาฯและฝึกอบรมหลักสูตรการปลูกผักปลอดภัยสารพิษ ตลอดจนหลักสูตรต่างๆเกี่ยวกับการเกษตรเพื่อมาสร้างกิจกรรมในพื้นที่ให้หลากหลาย เช่น การผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์กบ และการเลี้ยงปลาดุก เป็นต้น

       หลังเข้าร่วมโครงการกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
เกษตรกรได้ดำเนินกิจกรรมปลูกผักปลอดภัยสารพิษเป็นกิจกรรมหลักนำองค์ความรู้เทคนิคที่ได้รับจากศูนย์ศึกษาฯมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนนำหลักวิชาการสมัยใหม่มาปรับใช้ ได้รับการสนับสนุนและให้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับศักยภาพ การให้ผลผลิตของพืชผักสายพันธุ์ต่างๆ จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ผักของเอกชนทำให้เกษตรกรมีความรู้และแนวทางเลือกที่ดี ในการนำพันธุ์พืชมาปลูกในพื้นที่ ร่วมกับการวางแผนการผลิต การคัดเลือกสายพันธุ์ ชนิดพืชที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรค เหมาะสมในแต่ละฤดูกาลสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยผลิตเป็นรุ่นๆให้มีความหลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงของราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ตลอดจนหลีกเลี่ยงปัญหาผลผลิตล้นตลาด พืชหลักที่ปลูกหมุนเวียนสร้างรายได้ ประกอบด้วย พริก บวบ มะเขือเทศ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บำรุงพืชผักและบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาดำเนินการ จัดสรรพื้นที่เพื่อให้มีกิจกรรมเกษตรต่างๆสร้างเป็นแหล่งอาหารและเกื้อกูลประโยชน์ต่อกิจกรรมการเพาะปลูก เช่น การเลี้ยงไก่พื้นเมือง นำมูลไก่มาบำรุงพืชผัก การเลี้ยงปลาดุก ปลูกไม้ผล เลี้ยงกบ และที่สำคัญเกษตรกรได้จัดตั้งโรงผลิตปุ๋ยหมักที่มีกำลังการผลิตสามารถใช้ในพื้นที่และจำหน่ายสร้างรายได้เป็นอย่างดี เกษตรกรมีความภูมิใจที่ได้ตัดสินใจเลือกอาชีพการปลูกผักปลอดภัยสารพิษเป็นอย่างมาก ผลจากความขยันหมั่นเพียรและความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าส่งผลต่อการตอบรับของลูกค้า ผลตอบแทนสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ประสบปัญหา ค่อยๆฟื้นตัว จนสามารถมีเงินเก็บออม ส่งลูกเรียนให้ได้รับการศึกษาที่ดีจนจบการศึกษาทั้ง 2 คน สมาชิกในครอบครัวมีเวลาอยู่พร้อมหน้า ช่วยเหลือกันทำงานอย่างมีความสุข ผลจากการวางแผนคัดเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมและดำเนินกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลายนั้น ปัจจุบันเป็นตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ด้านการปลูกผักปลอดภัยสารพิษ ได้รับใบรับรองมาตรฐานระบบจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้สนใจชาวต่างประเทศที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรมีความเต็มใจที่จะให้องค์ความรู้และเผยแพร่แนวพระราชดำริที่ตนได้รับจากศูนย์ศึกษาฯ เพื่อขยายผลต่อไป รวมทั้งเมื่อครอบครัวของตนมีความสุขก็ไม่เคยลืมเพื่อนบ้านในชุมชน เกษตรกรได้เป็นผู้ขับเคลื่อนให้ชุมชนหันมาใช้ประโยชน์จากเศษหญ้า ใบไม้แห้งในพื้นที่มาผลิตปุ๋ยหมัก ทดแทนการเผาอันจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ชักชวนให้เพื่อนบ้านเกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี สมัครเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเพื่อเป็นตัวแทนขับเคลื่อนและเป็นสื่อกลางประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมหรือโครงการเกษตรที่เป็นประโยชน์ระหว่างองค์กรของรัฐและเพื่อนบ้านเกษตรกร ทำให้เกิดการขับเคลื่อนและทิศทางการเกษตรในชุมชนพัฒนาไปในทางที่ดีพื้นที่ดำเนินการ – พื้นที่ตนเอง จำนวน 2 ไร่ 70 ตารางวา พื้นที่เช่า จำนวน 10 ไร่

แบ่งเป็น - พื้นที่อยู่อาศัย บ่อกบ เล้าไก่ จำนวน 1 งาน
- พื้นที่บ่อเลี้ยงปลา จำนวน 1 งาน
- พื้นที่ปลูกพืชผัก จำนวน 11 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา

ฐานการเรียนรู้และหัวข้อการเรียนรู้
- การปลูกพืชผักปลอดภัยสารพิษ (มะเขือเทศ พริกหนุ่ม บวบ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แตงกวา)
- การผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ
- การเพาะเลี้ยงและขยายพันธ์กบ
- การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย
- การเลี้ยงไก่พื้นเมือง

กิจกรรมการสาธิตและฝึกปฏิบัติ
- การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ผัก ขั้นตอนและวิธีการเพาะเมล็ดผักชนิดต่างๆ
- การเตรียมแปลง และการปลูกพืชผัก
- การผลิตปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืช และใบไม้แห้ง
- การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากเศษพืชผักและผลไม้

 

รายละเอียดเพิ่มเติม
ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2562

ข้อมูลที่อยู่

นายจรูญ ธาตุอินจันทร์

ที่อยู่ 63/3 หมู่ 2 บ้านป่าไม้แดง ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

  • โทร: 08 9559 3191
  • Fax: -
  • อีเมล์: -

ผู้ประสานงาน

นายจรูญ ธาตุอินจันทร์

หลักสูตรอบรม

-

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Download (1)