โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดนราธิวาส

พระราชดำริ ที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เกิดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎร  บริเวณบ้านปาดังยอ หมู่ที่ 3 ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก ในเดือนกันยายน พุทธศักราช 2517 โดยได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎร ที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรในบริเวณท้องที่ตำบลมูโนะ ตำบลปูโย๊ะ อำเภอสุไหงโก-ลก และตำบลโฆษิต ตำบลนานาค  ตำบลพร่อน  ตำบลเกาะสะท้อน  ตำบลบางขุนทอง อำเภอตากใบ  ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้เป็นที่ลุ่มชายฝั่งแม่น้ำโก-ลก และชายพรุโต๊ะแดง เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำโก-ลก จะไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมไร่นาของราษฎร และน้ำชายพรุโต๊ะแดงจะมีระดับสูงขึ้น จนทำความเสียหายให้แก่พื้นที่ เพาะปลูกเป็นประจำทุกปี  เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการชลประทานมูโนะ  (โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก ในปัจจุบัน) ขึ้น

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

อำเภอแว้ง, อำเภอสุไหงโก-ลก, อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอตากใบ  จังหวัดนราธิวาส

   
วัตถุประสงค์โครงการ :

ื่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลกเป็นโครงการชลประทานประเภทระบายน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอตากใบ ในฤดูฝน ป้องกันน้ำเค็มในฤดูแล้งและส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการ และวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้
1. วางแผน ควบคุม ตรวจสอบ และดำเนินการ ส่งน้ำ และบำรุงรักษา ในเขตพื้นที่ของโครงการและพื้นที่ลุ่มน้ำโก-ลก พื้นที่โครงการ 110,000 ไร่ พื้นที่บริหารจัดการน้ำ 88,550 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 20,545 ไร่ ในเขตพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก และ อำเภอตากใบ
2. การบำรุงรักษาอาคารชลประทาน คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
3. การซ่อมแซมระบบการส่งน้ำ และระบบระบายน้ำที่สามารถส่งน้ำแก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
4. การปรับปรุงระบบการส่งน้ำและระบบระบายน้ำให้สามารถส่งน้ำแก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้มากขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น  
5. การรวบรวมสถิติข้อมูล เกี่ยวกับน้ำท่า น้ำฝน คุณภาพของน้ำ ลักษณะ ของดินที่มีความเหมาะสมสำหรับไว้ เพื่อการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ
6. การดูแลรักษาที่ราชพัสดุในเขตโครงการ
7. การเตือนภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำโก-ลก
8. การควบคุมคุณภาพน้ำในเขตพื้นที่โครงการให้มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก การป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่โครงการ
9. การดูแลรักษาทางน้ำชลประทาน
10. การควบคุมและบริหารทั่วไปด้านธุรการการเงิน การพัสดุ ติดต่อประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อขัดแย้ง ในเรื่องการใช้น้ำ ให้คำแนะนำและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการส่งน้ำ การซ่อมบำรุงรักษาอาคารชลประทาน แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ให้รู้จักใช้น้ำชลประทานอย่างถูกวิธี รวมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

สำนักชลประทานที่ 17 กรมชลประทาน

                                                      
 

ลักษณะโครงการ :

สภาพทั่วไปของโครงการ  มีอาณาเขตดังนี้คือ
ทิศเหนือ                        จด  แม่น้ำบางนราและอ่าวไทย
ทิศใต้                            จด  แม่น้ำโก-ลกและประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันออก                  จด  แม่น้ำโก-ลกและประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันตก                    จด  พรุโต๊ะแดง
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก  ประกอบด้วย งานระบายน้ำ งานป้องกันน้ำเค็ม และงานระบบส่งน้ำ รายละเอียดโครงการ
1) งานระบบระบายน้ำ
กรมชลประทาน ได้ดำเนินงานระบบระบายน้ำโดยการขุดคลองระบายน้ำมูโนะ เริ่มตั้งแต่บริเวณบ้านมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก ไปเชื่อมกับคลองปูยูที่บ้านทุ่งนาหว่าน ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ ความยาวประมาณ 15.600 กิโลเมตร เพื่อช่วยการระบายน้ำในพื้นที่โครงการให้ไหลได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในฤดูน้ำหลาก รวมทั้งการขุดลอกคลองระบายน้ำโต๊ะแดง เพื่อช่วยระบายน้ำในเขตพื้นที่โครงการ และขอบพรุโต๊ะแดงบางส่วน ให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโก-ลกได้เร็วขึ้น เนื่องจากคลองเดิมตื้นเขินและมีต้นไม้กีดขวางทางไหลของน้ำ ในการขุดลอกคลองระบายน้ำ โต๊ะแดงนี้ได้เริ่มต้นตั้งแต่จุดที่บรรจบกับแม่น้ำโก-ลก บริเวณบ้านโคกโต๊ะจุ๊บ ตำบลนานาค  อำเภอตากใบ  ขึ้นไปทางเหนือน้ำจนถึงบริเวณบ้านปูโป๊ะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก มีความยาวประมาณ  13.400  กิโลเมตร
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก  มีคลองระบายน้ำรวม 51 สาย เป็นคลองระบายน้ำสายใหญ่ 3 สาย (คลองระบายน้ำมูโนะ-คลองระบายน้ำโต๊ะแดงและคลองระบายน้ำโคกไผ่ - คลองลาน) รวมยาว 36.095 กิโลเมตร และคลองระบายน้ำสายซอยอีก 48 สาย รวมยาว 155.484  กิโลเมตร รวมความยาวคลองระบายน้ำทั้งสิ้น 191.579  กิโลเมตร
การระบายน้ำในพื้นที่โครงการ แยกได้ 2 ลักษณะ คือ การระบายน้ำที่ท่วมขังพื้นที่เพาะปลูก  และการระบายน้ำเปรี้ยวจากพรุโต๊ะแดง ให้ไหลลงทะเลที่บ้านปูยู การดำเนินการทั้ง 2 ลักษณะ จะใช้คลองระบายน้ำสายต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดระยะเวลาสำหรับการระบายน้ำแต่ละช่วงให้เหมาะสม โดยไม่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูก
• ประตูระบายน้ำปากมูโนะ  (ปตร. มูโนะ)
เป็นอาคารบังคับน้ำขนาดช่องระบายน้ำกว้าง 6.00 เมตร สูง 8.00 เมตร จำนวน 2 ช่อง ตั้งอยู่ที่บ้านมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อสร้างเมื่อปี 2518 ทำหน้าที่ผันน้ำจากแม่น้ำโก-ลกให้ไหลเข้าคลองระบายน้ำมูโนะ ได้ตามปริมาณที่ต้องการ เพื่อเป็นการระบายน้ำจากแม่น้ำโก-ลก  ให้ลงทะเลได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในฤดูน้ำหลาก และส่งน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภค-บริโภคในพื้นที่โครงการได้ตลอดปี
• ประตูระบายน้ำปลายคลองมูโนะ (ปตร. ปูยู)
เป็นอาคารบังคับน้ำขนาดช่องระบายน้ำกว้าง 6.00 เมตร สูง 5.50 เมตร จำนวน 4 ช่อง ตั้งอยู่ที่บ้านปูยู ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ก่อสร้างเมื่อปี 2524 ทำหน้าที่ควบคุมการระบายน้ำในเขตพื้นที่โครงการในฤดูน้ำหลาก  ป้องกันน้ำเค็มและอัดน้ำเข้าพื้นที่เกษตรของโครงการ
• ประตูระบายน้ำปลายคลองโต๊ะแดง   (ปตร. โต๊ะแดง)
เป็นอาคารบังคับน้ำขนาดช่องระบายน้ำกว้าง 6.00 เมตร สูง 5.00 เมตร จำนวน 4 ช่อง ตั้งอยู่บริเวณบ้านโคกมือบา ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ สามารถระบายน้ำได้ สูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 ทำหน้าที่ระบายน้ำในพื้นที่โครงการในฤดูน้ำหลาก  และป้องกันน้ำเค็มไม่ให้ไหลเข้าคลองระบายน้ำโต๊ะแดงและอัดน้ำให้กับพื้นที่เกษตร
• อาคารบังคับน้ำกลางคลองมูโนะ (ประตูระบายน้ำกลางคลองมูโนะ)
เป็นอาคารบังคับน้ำขนาดช่องระบายน้ำ  กว้าง 6.00 เมตร สูง 4.50 เมตร  จำนวน 3  ช่อง ตั้งอยู่บริเวณบ้านโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 150  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2544 ทำหน้าที่ทดน้ำส่งให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่ตำบลโฆษิต ตำบลนานาค บางส่วนของตำบลมูโนะ ชะล้างดินเปรี้ยวบริเวณบ้านโคกกูแว โคกอิฐ โคกใน โคกยาง โคกกระท่อม บ้านใหม่ ตำบลพร่อน และบ้านโคกชุมบก ตำบลบางขุนทอง จังหวัดนราธิวาส และพื้นที่ดำเนินงานของศูนย์ สาขาที่ 4 บ้านยูโย ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทำหน้าที่ระบายน้ำในพื้นที่โครงการในฤดูน้ำหลากอีกทางหนึ่งด้วย
2) งานระบบป้องกันน้ำเค็ม
เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอตากใบ ส่วนใหญ่อยู่ติดทะเลด้านอ่าวไทย ดังนั้นบริเวณปากแม่น้ำโก-ลก แม่น้ำบางนรา คลองปูยู และคลองโต๊ะแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง ที่มีปริมาณน้ำจืดในลำน้ำดังกล่าวน้อย น้ำเค็มก็จะขึ้นสูง ทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกเสมอ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ได้ทำการก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มรอบตำบลเกาะสะท้อน โดยเริ่มจากบริเวณคลองปูยูเชื่อมต่อกับแม่น้ำโก-ลก บริเวณบ้านศรีพงันกับบ้านปะลุกา อำเภอตากใบ ไปตามริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก แม่น้ำบางนราและคลองปูยู
นอกจากสร้างคันกั้นน้ำเค็มรอบตำบลเกาะสะท้อนแล้ว ยังมีคันกั้นน้ำทั้งสองฝั่งคลองโต๊ะแดงเชื่อมต่อกับคันกั้นน้ำเค็มทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโก-ลก เพื่อป้องกันน้ำเค็มไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกบริเวณบ้านโคกมือบา บ้านโคกโต๊ะจุ๊บ บ้านปะลูกา และบ้านปะดาดอ อีกส่วนหนึ่งด้วย
3)  คันป้องกันน้ำท่วม
นอกจากคันกั้นน้ำเค็ม ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วนั้น โครงการยังได้สร้างคันป้องกันน้ำท่วม  โดยสร้างเป็นคันกั้นน้ำด้านฝั่งตรงกันข้ามกับเกาะสะท้อน คันกั้นน้ำสองฝั่งคลองระบายมูโนะ (เลาะไปตามริมฝั่งคลองปูยู คลองโคกยาง และคลองระบายน้ำมูโนะ) และคันกั้นน้ำสองฝั่งคลองระบายน้ำโต๊ะแดง เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากการอัดน้ำที่ประตูระบายน้ำปลายคลองมูโนะ และประตูระบายน้ำปลายคลองโต๊ะแดง ทำให้มีระดับน้ำสูงขึ้นเพื่อส่งเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก สำหรับการป้องกันน้ำในแม่น้ำโก-ลก  ในฤดูน้ำหลากก็ได้ก่อสร้างคันกั้นน้ำฝั่งซ้ายแม่น้ำโก-ลก  โดยเริ่มต้นตั้งแต่บ้านมูโนะ  ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก - ลก ถึงประตูระบายน้ำปลายคลองโต๊ะแดง และคันกั้นน้ำเลียบริมฝั่ง แม่น้ำโก-ลก ตำบลนานาค อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นคันดินสูง 2.00-3.00 เมตร กว้าง 6.00 เมตร  ยาวประมาณ 25.722 กิโลเมตร
4)  งานระบบส่งน้ำ
การส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก  มี 2 วิธี คือ ส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วง และส่งน้ำโดยระบบสูบน้ำ                                                                                             
4.1 ระบบการส่งด้วยแรงโน้มถ่วง พื้นที่ที่สามารถส่งน้ำโดยวิธีนี้ได้ คือ พื้นที่ในเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งระบบส่งน้ำประกอบด้วยคลองส่งน้ำ 4 สาย ความยาวประมาณ 15.730 กิโลเมตร   พร้อมอาคารประกอบ และคูส่งน้ำ จำนวน 46 สาย ความยาว 35.700 กิโลเมตร ระบบระบายน้ำประกอบด้วยคลองระบายน้ำ 5 สาย ความยาว 19.551 กิโลเมตร นอกจากนี้การส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วงของโครงการยังรวมถึงการใช้คลองระบายน้ำสายต่าง ๆ ในเขตโครงการทำหน้าที่คลองส่งน้ำอีกทางหนึ่งด้วย           
4.2 ระบบสูบน้ำ พื้นที่ซึ่งใช้ระบบนี้ คือ พื้นที่โครงการเกษตรแบบผสมผสานมูโนะ โดยมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด  ? 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยคูส่งน้ำดาดคอนกรีต จำนวน 10 สาย ความยาว 8.917 กิโลเมตร  

          อนึ่ง พื้นที่โครงการโคกกูแว การส่งน้ำจะใช้ทั้ง 2 ระบบร่วมกัน คือ ระบบแรงโน้มถ่วง และระบบสูบน้ำ  ระบบส่งน้ำ ประกอบด้วย คลองส่งน้ำสายต่าง ๆ จำนวน 11 สาย ความยาว 24.040 กิโลเมตร การจะเลือกใช้ระบบใดในแต่ละช่วงเวลาขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำต้นทุนในคลองระบายน้ำมูโนะ

ผู้ได้รับประโยชน์ :
ราษฎรในตำบลมูโนะ ตำบลปูโย๊ะ ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก และตำบลโฆษิต ตำบลนานาค ตำบลพร่อน ตำบลบางขุนทอง ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

1. คุณภาพน้ำในเขตโครงการ
          เนื่องจากพื้นที่โครงการด้านทิศตะวันตกอยู่ติดกับพรุโต๊ะแดงซึ่งเป็นป่าพรุขนาดใหญ่มีน้ำท่วมขังตลอดเวลา คุณภาพน้ำมีความเป็นกรดสูง โดยปกติน้ำจากพรุโต๊ะแดงจะไหลลงทะเลได้ 2 ทาง คือ
          1) ผ่านทางคลองระบายน้ำแบ่ง คลองบางเตย คลองสุไหงปาดี และแม่น้ำบางนราตอนล่างในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำบางนรา
          2) ผ่านทางคลองระบายน้ำโคกไผ่ โคกอิฐ โคกกระท่อม คลองลาน คลองโต๊ะแดง คลองระบายน้ำสายที่ 6 คลองระบายน้ำสายที่ 16 คลองระบายปลักปลา โคกกระท่อม และคลองระบายน้ำสายที่ 11 – 14 ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก จากการ ตรวจวัดค่า PH ในช่วงปี 2541 – 2544 สรุปได้ดังนี้
          • แม่น้ำโก-ลก บริเวณปากคลองระบายน้ำมูโนะ วัดค่า pH ได้ 6.0-8.0
          • คลองมูโนะ กม.13+000 บริเวณปากคลองส่งน้ำโคกกูแววัดค่า pH ได้ 5.5–7.0
          • ประตูระบายน้ำปลายคลองมูโนะ ช่วงปกติวัดค่า pH  ได้ 6-6.5  ช่วงอุทกภัย (มีน้ำเสียจากพรุโต๊ะแดงไหลมารวม) วัดค่า pH ได้ 5.5-6.9
          • ประตูระบายน้ำปลายคลองโต๊ะแดง ช่วงปกติวัดค่าpH ได้ 6.0-7.0ในช่วงอุทกภัย (มีน้ำเสียจากพรุโต๊ะแดงไหลมารวม) วัดค่า pH ได้ 3.8-6.8
          • น้ำเสียจากพรุโต๊ะแดงที่ระบายผ่านคลองโคกอิฐ โคกกระท่อม  คลองปลักปลา คลองโคกไผ่ และคลองลาน วัดค่า pH ได้ 3.5-5.0
2. การบริหารงานส่งน้ำ 
          2.1 การส่งน้ำโดยระบบ (gravity) พื้นที่เพาะปลูกที่สามารถส่งน้ำโดยระบบ gravity ได้คือ พื้นที่ในเขตตำบล เกาะสะท้อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 9,000 ไร่ การส่งน้ำในพื้นที่บริเวณนี้ จะปิดประตูระบายน้ำปลายคลอง มูโนะ (ปูยู) เพื่อยกระดับน้ำในสูงขึ้น โดยจะควบคุมระดับน้ำที่ +1.200 ถึง +1.500 เมตร (รทก.) น้ำจะไหลเข้าท่อระบายน้ำปากคลองสายใหญ่แล้วกระจายสู่พื้นที่เพาะปลูก โดยผ่านคลองซอยและคูส่งน้ำสายต่างๆ  ระยะเวลาการส่งน้ำแต่ละครั้งจะพิจารณาจากปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในแปลงนา ประกอบกันโดยเน้นไม่ให้เกิดการขาดน้ำในช่วงข้าวตั้งท้องเพราะจะทำให้ผลผลิตลดลงมาก
          2.2 การส่งน้ำโดยระบบ Pumping พื้นที่เพาะปลูกที่ส่งน้ำโดยระบบ Pumping ประกอบด้วย พื้นที่โครงการโคกกูแว ประมาณ 5,650 ไร่ ในเขตตำบลพร่อน ตำบลบางขุนทอง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  และพื้นที่โครงการเกษตรแบบผสมผสานมูโนะ ประมาณ 1,000 ไร่ ในเขตตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก  จังหวัดนราธิวาส การส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก รายละอียดดังนี้
          • พื้นที่โครงการโคกกูแว วิธีการส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกกระทำได้ 2 วิธี คือ ใช้วิธีปิดประตูระบายน้ำปลายคลองมูโนะ เพื่อยกระดับน้ำในคลองมูโนะให้สูงขึ้น จนไหลเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่และสายซอย แล้วกระจายสู่พื้นที่เพาะปลูก แต่ในกรณีที่น้ำในคลองลุ่มน้ำโก-ลกมีปริมาณน้อย การอัดน้ำที่ประตูระบายน้ำปลายคลองมูโนะ ไม่สามารถยกระดับน้ำให้ไหลเข้าคลองส่งน้ำได้จะใช้ระบบสูบน้ำเข้าช่วยเพื่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก
          • พื้นที่โครงการเกษตรแบบผสมผสานมูโนะ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีระดับสูงกว่าระดับน้ำสูงสุดในคลองระบายน้ำมูโนะ การส่งน้ำโดยระบบแรงโน้มถ่วงไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้น การส่งน้ำตลอดฤดูกาลเพาะปลูก จะใช้ระบบสูบน้ำแล้วกระจายสู่พื้นที่เพาะปลูก โดยคูส่งน้ำดาดคอนกรีตสายต่าง ๆ  ซึ่งสามารถส่งให้ได้ตามความต้องการตลอดเวลา
3. การส่งน้ำโดยใช้คลองระบายน้ำ
          วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างโครงการฯ ลุ่มน้ำโก-ลก ในระยะแรกเพื่อต้องการบรรเทาอุทกภัย โดยคลองระบายน้ำมูโนะและคลองระบายน้ำสายต่าง ๆ จะช่วยระบายน้ำที่ท่วมขังลงทะเลได้รวดเร็วขึ้น หลังจากสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ ราษฎรได้เริ่มทำการเกษตร ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเอาระบบระบายน้ำมาทำหน้าที่ส่งน้ำด้วย พื้นที่ซึ่งรับน้ำจากคลองระบาย พื้นที่ซึ่งอยู่นอกเขต การส่งน้ำใน 2 วิธีแรก คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 73,000 ไร่ การส่งน้ำจะใช้วิธีปิดประตูระบายน้ำปลายคลองลุ่มน้ำโก-ลก เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นแล้วไหลเข้าแปลงเพาะปลูกเป็นการส่งน้ำแบบย้อนทิศทางกับ Slope ก้นคลอง
4. การระบายน้ำในช่วงอุทกภัย
          เมื่อเกิดสภาวะฝนตกติดต่อกัน 1-2 วัน มีแนวโน้มจะตกติดต่อกันจนเกิดอุทกภัยวิธีการจัดการน้ำ คือ จะปิดประตูระบายน้ำปลายคลองลุ่มน้ำโก-ลก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำโก-ลก ไหลเข้ามาในเขตโครงการ หลังจากนั้นจะเปิดประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำลุ่มน้ำโก-ลกเพื่อระบายน้ำในพื้นที่ออกให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันจะปิดบานระบายอาคารที่รับน้ำจากพรุโต๊ะแดงทุกแห่งเพื่อขังน้ำไว้ในพรุก่อนเป็นลักษณะใช้พรุโต๊ะแดงเป็นแก้มลิง เมื่อน้ำในพื้นที่ลดลงอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร จะเริ่มเปิดบานระบายอาคารรับน้ำจากพรุโต๊ะแดงเข้ามาในคลองระบายน้ำของโครงการเพื่อระบายน้ำลงทะเลต่อไป
5. การควบคุมระดับน้ำในพรุโต๊ะแดงช่วงฤดูแล้ง
          พรุโต๊ะแดงเป็นป่าพรุขนาดใหญ่ ในฤดูแล้งถ้าระดับน้ำในพรุลดลงมากจนผิวดินแห้ง แร่ธาตุต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ในดินจะทำปฏิกิริยากับอากาศ ทำให้เกิดไฟไหม้ป่า ปรากฏการณ์นี้ จะเกิดได้ยากมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุไฟไหม้พรุโต๊ะแดง เกิดจากราษฎรเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย ซึ่งทำความเสียหายต่อพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ดังนั้น จึงมีความ จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำ ที่อาคารบังคับน้ำรอบขอบพรุไม่ให้มีระดับต่ำเกินไป โดยทั่วไปจะควบคุมระดับน้ำไว้ที่ +1.200 เมตร  (รทก.) ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบระดับน้ำและปิด - เปิดบานระบายอยู่เป็นประจำตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
6. ปัญหาการบริหารงานส่งน้ำและแนวทางแก้ไข
          6.1  การส่งน้ำโดยใช้คลองระบายน้ำ
          พื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการจะส่งน้ำ โดยใช้คลองระบายทำหน้าที่คลองส่งน้ำ ด้วยเป็นการส่งน้ำในลักษณะย้อนทิศทางกับ Slope ก้นคลอง ปัญหาคือไม่สามารถยกระดับน้ำให้มีระดับสูงเพียงพอที่จะส่งให้พื้นที่เพาะปลูกอย่างทั่วถึง ดังนั้น จึงมีพื้นที่อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับน้ำ ประกอบกับการส่งน้ำ โดยวิธีนี้จะทำให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างราษฎรอยู่เป็นประจำ กล่าวคือ ราษฎรซึ่งมีพื้นที่อยู่ใกล้กับตัวอาคารอัดน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มและได้รับน้ำก่อน เมื่อปริมาณน้ำพอเพียงแล้วต้องการให้เปิดบานระบายอาคารอัดน้ำ ในขณะเดียวกันพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้รับน้ำ ต้องการให้ปิดบานระบายเพื่ออัดน้ำต่อไป เกิดเป็นข้อพิพาทอยู่เสมอ การใช้คลองระบายเพื่อวัตถุประสงค์ระบายน้ำ สามารถทำได้ผลดีในระดับที่น่าพอใจ แต่เมื่อนำมาใช้เป็นระบบส่งน้ำ ด้วยจะมีข้อจำกัดมาก การจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ปรับปรุงคุณภาพดินและน้ำให้ดีขึ้น จำเป็นต้องมีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมดังนี้
ปีงบประมาณ 2544 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำกลางคลองมูโนะ (ประตูระบายน้ำกลางคลองมูโนะ)  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณบ้านโคกกูแว หมู่ที่ 5 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส บริเวณท้ายโรงสูบน้ำโคกกูแว เพื่อยกระดับน้ำให้ไหลเข้า คลองระบายน้ำสายที่ 4, 6, 9 และเข้าคลองส่งน้ำโคกกูแว การก่อสร้างอาคารที่จุดนี้จะเกิดผลดีต่อพื้นที่โครงการโคกกูแวและพื้นที่ใกล้เคียงได้ เพราะโดยปกติการส่งน้ำให้พื้นที่บริเวณนี้จะใช้วิธีอัดน้ำที่ประตูระบายน้ำปลายคลองลุ่มน้ำโก-ลก โดยต้องควบคุมระดับน้ำให้มากกว่า + 1.500 เมตร (รทก.) น้ำจึงจะไหลเข้าคลองส่งน้ำโคกกูแวอย่างสะดวก การอัดน้ำในระดับนี้เกินระดับ ที่ออกแบบไว้  อาจเป็นอันตรายต่อตัวอาคาร และมีปัญหาน้ำไหลข้ามอาคารระบายน้ำล้นคันกั้นน้ำปะลุกา-โคกยาง เข้าไปท่วมบ้านเรือนราษฎร ดังนั้นเมื่อก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมที่จุดนี้แล้ว สามารถส่งน้ำโดยระบบแรงโน้มถ่วงได้โดยตรง ทำให้ประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าและสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกบริเวณฝั่งซ้ายคลองโคกไผ่ บริเวณบ้านโคกชุมบก บ้านวัดใหม่ ได้อีกประมาณ 1,400 ไร่ ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะระบายผ่านคลองแขก คลองบางเตยลงแม่น้ำบางนรา ซึ่งจะช่วยเจือจางความเป็นกรดของแม่น้ำบางนราตอนล่างและคลองน้ำแบ่งให้มีค่า pH ดีขึ้น  
          สำหรับปัญหาน้ำต้นทุนของโครงการในช่วงฤดูแล้ง ขณะนี้ได้มีการก่อสร้างโครงการผันน้ำจืดมาเพิ่มเติมให้คลองมูโนะ (โครงการปาเสมัส) ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (ปี 2540 – 2546) เมื่อก่อสร้างเสร็จจะเกิดประโยชน์กับโครงการเป็นอย่างมาก โดยในช่วงฤดูแล้งจะมีน้ำจืดส่งให้ราษฎรได้ใช้เพื่ออุปโภค – บริโภคและการเกษตรได้อย่างเพียงพอ
          6.2  การระบายน้ำในเขตโครงการ
          บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโก-ลก มีการก่อสร้างคันกั้นน้ำตลอดแนว ทำให้สามารถป้องกันอุทกภัยจากแม่น้ำ โก – ลก ได้ในระดับหนึ่ง การระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ระบบระบายน้ำ ในปัจจุบันสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่ยังควบคุมไม่ได้คือ น้ำเสียจากพรุโต๊ะแดง เนื่องจากยังไม่มีคันกั้นน้ำรอบพรุโต๊ะแดงและคันกั้นน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันบางช่วงมีระดับต่ำ ในฤดูฝนน้ำเสียจากพรุโต๊ะแดงจะไหลข้ามคันกั้นน้ำเข้ามาในเขตโครงการ ประกอบกับเมื่อต้องการระบายน้ำจากพรุโต๊ะแดงให้ไหลลงทะเล คลองระบายน้ำสายต่างๆ  ประกอบด้วย คลองโคกอิฐ คลองโคกกระท่อม คลองปลักปลา มีขนาดเล็กทำให้การระบายน้ำในพรุให้กลับคืนสู่สภาพปกติ  ใช้ระยะเวลานาน มีผลกระทบต่อพันธุ์ไม้ธรรมชาติในพรุ จากผลการศึกษา ระยะเวลาที่น้ำท่วมขังในพรุไม่ควรเกิน 15 วัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างคันกั้นน้ำรอบพรุและขุดขยายคลอง ระบายน้ำสายต่างๆ พร้อมอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมน้ำในพรุโต๊ะแดงและโครงการขุดขยายคลองโคกไผ่ – คลองลาน ความยาว 7.095 กิโลเมตร (ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จปี  2540 ) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้มากขึ้น
7. ปัญหาและอุปสรรค
          พื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการส่งน้ำโดยใช้คลองระบาย จึงเป็นการส่งน้ำในทิศย้อนทางกับ Slope คลอง ปัญหา คือ ไม่สามารถยกระดับน้ำให้มีระดับสูงพอที่จะส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกอย่างทั่วถึง ส่วนราษฎรที่มีพื้นที่อยู่ใกล้ตัวอาคารซึ่งได้รับน้ำก่อน และเมื่อได้ในปริมาณที่เพียงพอแล้วก็จะปิดอาคารในขณะที่ราษฎรที่มีพื้นที่อยู่ไกล ๆ ยังไม่ได้รับน้ำ ซึ่งในกรณีที่ใช้เป็นคลองส่งน้ำด้วยต้องมีการสร้างอาคารชลประทานเพิ่มขึ้น

ปัญหาด้านการระบายน้ำและแนวทางแก้ไข บริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโก-ลก  มีการสร้างคันกั้นน้ำตลอดแนวทำให้สามารถป้องกันอุทกภัยจากแม่น้ำโก-ลก ได้ในระดับหนึ่ง การระบายน้ำในพื้นที่  ปัจจุบันสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่ยังควบคุมไม่ได้ คือน้ำเสียจากพรุโต๊ะแดง เนื่องจากไม่มีคันกั้นน้ำรอบพรุโต๊ะแดง และคันที่มีอยู่บางช่วงมีระดับต่ำ รวมทั้งคลองระบายน้ำสายต่างๆ มีขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างคันกั้นน้ำรอบขอบพรุและขุดขยายคลองระบายต่าง ๆ พร้อมอาคารประกอบขึ้น
 

ความสำเร็จของโครงการ :

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำตามลำน้ำ และปัญหาน้ำเปรี้ยวจากพรุโต๊ะแดง ซึ่งประชาชนบริเวณรอบ ๆ และใกล้เคียงพื้นที่โครงการได้มีน้ำในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนทำการเกษตร นาปรัง รวมทั้งพื้นที่แปลงเกษตรผสมผสานบ้านปูยู ตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ พื้นที่แปลงเกษตรบ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ สถานีสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร โครงการเกษตรผสมผสานมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก

 



ที่มาของข้อมูล :

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส 96120
สำนักชลประทานที่ 17 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เบอร์ติดต่อ : โทร. 0-7353-8040-2 โทรสาร 0-7353-8042  Email address: oe_kolokbasin@hotmail.com




Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.