โครงการหลวงห้วยลึก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จ.เชียงใหม่

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

พระราชดำริ :

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

แนวพระราชดำริ :

ครงการหลวงห้วยลึก เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2521 ชาวเขาเผ่าแม้วได้อพยพจากบ้านบ่อเหล็ก อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากสภาพพื้นที่เดิมไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก และในปีต่อมาได้ยื่นฎีกาถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินทำกิน
พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เข้าช่วยเหลือชาวเขา เสริมสร้างความเข้าใจในการดำรงชีวิตร่วมกับป่า โดยร่วมกับกรมป่าไม้พิจารณาที่ดินทำกิน ในที่สุดจึงเลือกพื้นที่ ณ บ้านห้วยลึก ซึ่งขณะนั้นเป็นป่าเสื่อมโทรมที่ต้องการการบูรณะอยู่แล้ว มอบให้ชาวเขาที่อาศัยอยู่เป็นผู้อนุรักษ์ โดยปลูกป่าทดแทนและดูแลผืนป่า จนกระทั่งปี 2523 จึงเริ่มต้นจัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก เพื่อส่งเสริมงานด้านเกษตรรมแก่ชาวเขา
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยลึก ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 14.35 ตารางกิโลเมตรรับผิดชอบ 2 หมู่บ้าน ประกอบด้วย เผ่าม้ง กะเหรี่ยง และคนเมือง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มสลับเนินเขา รายล้อมด้วยภูเขาสูงชัน มีฝนตกชุกช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกันยายน ส่วนเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส
โครงการนี้ดำเนินการจัดพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยง และคนเมืองในบริเวณพื้นที่ โดยทำการส่งเสริม วิจัย และเพาะพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ผลิตผล ได้แก่ ผักจำพวกผักสลัด แคนตาลูป ฯลฯ ไม้ดอก เช่น เบญจมาศ พีค็อก ฯลฯ ไม้ผล เช่น ทับทิม ฝรั่งคั้นน้ำ เป็นต้น ฤดูท่องเที่ยวของที่นี่จะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เนื่องจากมีผลิตผลให้ชมและซื้อหาได

 

 

ที่ตั้งของโครงการ :

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก บ้านห้วยลึก ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่โครงการ
2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของน้ำจากอ่างเก็บน้ำ
3. เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เหมาะสมให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามสภาพเศรษฐกิจ และสังคมต่อไป
4. เพื่อให้เกษตรกรสามารถลำเลียงผลผลิตทางการเกษตรออกจากพื้นที่ได้สะดวก รวดเร็ว ทุกฤดูกาล

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

- กรมป่าไม้      
                     

 

ลักษณะโครงการ :

จัดสรรที่และส่งเสริมอาชีพ หลังจากพัฒนาระบบพื้นที่แล้วได้แบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยแบ่งเขตพื้นที่ที่สามารถรับน้ำจากการชลประทานให้กับราษฎร ชาวเมือง และชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินครอบครัวละ 2 ไร่ ส่วนชาวม้งนั้นได้รับการจัดสรรพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย 2 งาน และพื้นที่เกษตรกรรมที่รับน้ำฝนอีกครอบครัวละ 5 ไร่ ทั้งนี้เพราะม้งมีชีวิตในการทำการเกษตรด้วยการปลูกข้าวไร่ในพื้นที่สูงที่ต้องอาศัยน้ำฝนเท่านั้น จึงเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการปลูกพืช พื้นที่ที่ทำกิน จึงได้มากกว่าราษฎรที่สามารถใช้น้ำจากการชลประทานที่สามารถปลูกพืชผักได้ตลอดทั้งปี
ปัจจุบันราษฎรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ละครอบครัวก็จะจัดสรรแบ่งปันพื้นที่เดิมที่ได้รับให้สมาชิกในครอบครัว ที่นี่จึงเน้นส่งเสริมการปลูกพืชผักและไม้ดอกเป็นหลัก
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกได้พัฒนาและปรับปรุงคลองชลประทานจากอ่างเก็บน้ำห้วยลึก จัดสร้างบ่อพักน้ำ ประตูปิดเปิดน้ำเพื่อให้สามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำเข้าไปยังพื้นที่เกษตรได้มากที่สุด และตามเวลาที่ต้องการ


ผู้ได้รับประโยชน์ :

ราษฎรบ้านห้วยลึก และราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

บ้านห้วยลึกเข้าสู่มูลนิธิโครงการหลวงอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2526 การปฏิบัติงานแม้จะเน้นการส่งเสริมด้านการเกษตรกรรมแก่ราษฎรในพื้นที่ก็ตาม งานวิจัยพืชบางประเภทก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย เนื่องจากสภาพพื้นที่บ้านห้วยลึกไม่ได้หนาวตลอดทั้งปีจึงอาจมีพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่ควรพัฒนา และนำไปส่งเสริมแก่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอื่นๆ ที่มีสภาพพื้นที่ใกล้เคียงกันได้อีกด้วย การปฏิบัติงานแบ่งได้ดังนี้
1. งานวิจัยและส่งเสริมพืชผัก
2. งานวิจัยและส่งเสริมไม้ดอก
3. งานวิจัยอื่นๆ
4. งานส่งเสริมพืชสวน และพืชไร่

งานวิจัยและส่งเสริมพืชผัก
จากผลผลิตพืชผักออกสู่ตลาดโดยผ่านมูลนิธิโครงการหลวง ปีละประมาณ 2,500 ตันนั้น เป็นผลผลิตพืชผักจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก ประมาณร้อยละ 7 จากการศึกษาวิจัยการผลิตพืชผักบนที่สูง และเหมาะสมกับการรองรับของตลาดแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นผักกึ่งหนาวที่ชอบอากาศเย็น สามารถเติบโตได้ดีในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600 เมตรขึ้นไป เป็นส่วนใหญ่ จึงสอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกที่มีความสูงระดับ 600 เมตร และมีน้ำจากการชลประทานตลอดทั้งปี สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักสลับกับการปลูกไม้ดอกในพื้นที่แปลงเดียวกัน จึงเท่ากับเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก
ปัจจุบันผักสลัด หรือผักกาดหอมห่อ เป็นพืชเด่นของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก ในการปลูกผักเจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกจะรับแผนการปลูกจากฝ่ายตลาดของมูลนิธิโครงการหลวง แล้วจึงแบ่งจำนวนในการลงแปลงในปีนั้นๆ จะปลูกผักกี่ประเภท ประเภทละกี่รุ่น มีเกษตรกรรองรับการปลูกพืชผักจำนวนกี่ราย แต่ละรายจะใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้เพื่อวางแผนให้มีการปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่ได้ตลอดทั้งปี และผลผลิตตามปริมาณความต้องการของตลาด

 

ความสำเร็จของโครงการ :

งานวิจัยและส่งเสริมไม้ดอก
นายประจบ แสนโครต คนเมืองซึ่งย้ายมาจากเชียงดาว เข้ามาอยู่ในพื้นที่ห้วยลึก 8 ปีที่แล้ว บอกว่าแต่เดิมเขาปลูกทั้งผักและไม้ดอก ไม้ดอกทำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วได้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาทต่อแปลง
นายเล่ง จินาการ ย้ายมาจากช่อแล ในปี ๒๕๓๔ เริ่มต้นทำสวนปลูกเบญจมาศ โดยซื้อพันธุ์เบญจมาศจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกต้นละ 1 บาท ครั้งแรกที่ตัดดอกขายได้เงิน 12,000 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วได้รับเงินสุทธิ 9,000 บาท
สมาชิกแต่ละรายที่มีความตั้งใจในการทำงานโดยรับการส่งเสริมจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จะได้รับการสนับสนุนด้านการเกษตรมิเพียงแต่เฉพาะพื้นที่และพันธุ์พืชเท่านั้น ยังได้รับคำแนะนำตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องในการพัฒนาผลผลิตก่อให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะนอกจากจะปลูกผักแล้ว ยังสามารถปลูกไม้ดอกเพื่อตัดดอกขาย และเพื่อผลิตพันธุ์ไม้ดอกเบญจมาศจะเป็นไม้เด่นของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกแห่งนี้ ปกติการปลูกเบญจมาศจะเริ่มในเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม เนื่องจากมีปริมาณน้ำตลอดปี ปัจจุบันจึงสามารถปลูกในเดือนพฤศจิกายน กุมภาพันธ์ ได้อีกครั้งซึ่งเป็นการปลูกนอกฤดูกาลทำให้ขายได้ราคาดี แต่ต้องมีการลงทุนสูง เนื่องจากเบญจมาศเป็นพืชวันสั้น จึงต้องลดความยาวของวันลง โดยใช้ผ้าพลาสติกสีดำมาปิดโรงเรือนเบญจมาศให้มืดมิด เพื่อให้เบญจมาศออกดอกในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีวันยาว

 
   


ที่มาของข้อมูล : www.king60.mbu.ac.th สำนักชลประทานที่ 17 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้ที่เกี่ยวข้อง - หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
- นายประจบ แสนโครต นายเล่ง จินาการ
เบอร์ติดต่อ โทร. 0 5345 1116 ต่อศูนย์ห้วยลึก

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.