โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดเชียงใหม่

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

 

 

   
พระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีราษฎรจาก ต.ออนใต้ เดินทางมาเฝ้ารับเสด็จและถวายแผนผัง เพื่อขอพระราชทานสร้างอ่างเก็บน้ำในบริเวณลำน้ำแม่ผาแหน เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่เกษตร ต.ออนใต้ ให้สามารถใช้เสริมการเพาะปลูกพืชผลของราษฎรตลอดจนการอุปโภค บริโภค
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่ดังกล่าวด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแก่ นายเขียน ใจติขะ อดีตกำนัน ต.ออนใต้ ผู้ขอพระราชทาน พร้อมคณะราษฎรผู้ขอพระราชทานรวม 3 ประการ สรุปได้ความว่า
“เงินมีน้อย เมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้แล้ว คูคลองส่งน้ำให้ช่วยกันทำเอง เมื่อสร้างให้แล้ว อย่าแย่งกันใช้น้ำ ที่ดินข้างเคียง อย่าแย่งกันถือครอง”
        สำนักงาน รพช. ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ พบว่าสภาพภูมิประเทศเป็นผาหินสูงชัน เป็นหินปูนและมีฐานรากเป็นหินทราย อันเป็นอุปสรรคที่สำคัญจึงได้มีการศึกษาเพิ่มเติมจนมีความมั่นใจว่าสามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ได้
        ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเยี่ยมโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง และหมู่บ้านใกล้เคียง ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับการจัดหาน้ำให้กับโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพงและหมู่บ้านใกล้เคียง โดยให้สำนักงาน รพช. พิจารณาดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนตามที่กราบบังคมทูลเสนอผลการสำรวจ เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรบ้านแม่ผาแหนและหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ที่ระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำชลประทานแม่เลาส่งไม่ถึง

 
 
ที่ตั้งของโครงการ : อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่หมู่บ้านแม่ผาแหน หมู่ที่ 6 ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ลักษณะพื้นที่ที่รับประโยชน์เป็นที่ราบและที่ลาดเชิงเขา
วัตถุประสงค์ของโครงการ : 1. เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคของราษฎรในพื้นที่โครงการและบริเวณ
ใกล้เคียงได้ตลอดปี
2. เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งของราษฎร
3. เพื่อให้ราษฎรที่อาศัยในเขตโครงการและบริเวณใกล้เคียงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

-กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : Department of Water Resources 180/3 ถนนพระรามที่ 6 ซอย 34 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400
-สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.)
- จังหวัดเชียงใหม่

 

ลักษณะโครงการ :

อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร สูง 25 เมตร ยาว 335 เมตร ความจุ 3,120,000 ลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำเฉลี่ย ทั้งปีไหลลงสู่อ่าง 7.15 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อมาได้ก่อสร้างระบบท่อและคลองส่งน้ำระบบเปิดรวม 2 ฝั่ง คือ ฝั่งซ้ายเป็นท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 เมตร ยาว 2,000 เมตร และเป็นคลองส่งน้ำยาว 325 เมตร ส่วนฝั่งขวาเป็นท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 0.30 เมตร ยาว 2,600 เมตร เป็นคลองส่งน้ำยาว 100 เมตร ในปีงบประมาณ 2530 ได้ก่อสร้างระบบส่งน้ำเพิ่มเติมแยกจากท่อฝั่งซ้าย เป็นท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.20 เมตร ยาว 1,375 เมตร และเป็นคลองส่งน้ำปูคอนกรีตตัวไอ 643 เมตร และมีการระบบท่อน้ำ ตลอดจนคลองส่งน้ำเพิ่มเติมจนมีความยาวรวม 8,240 เมตร เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกที่มีอาณาเขตกว้างขวาง
        สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป มีลักษณะอากาศแบบมรสุมเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้ระหว่างเดือนพฤษภาคม–กันยายน จะมีฝนตกชุก และในระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ จะมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง
        เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณวัดป่าตึงและทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่  พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สำนักงาน รพช.พิจารณาสำรวจและก่อสร้างฝายหรืออ่างเล็กๆ เพื่อดักตะกอนของลำห้วยผาตั้ง ห้วยเลาและห้วยหลวง โดยเฉพาะลำห้วยหลวงซึ่งมีตะกอนทรายมาก เพื่อดักตะกอนไม่ให้ลงมาในอ่างเก็บน้ำผาแหน เช่นเดียวกับที่ทำไว้ที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากราษฎรได้กราบบังคมทูลว่าปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีน้อย เพราะมีตะกอนทรายไหลลงมาในอ่างมาก และเมื่อตะกอนเต็ม ก็ให้ราษฎรช่วยกันขุดลอกนำตะกอนที่อุดมด้วยอินทรีย์สารนำไปใช้ในการเพาะปลูกได้  สำนักงาน รพช.  จึงได้ก่อสร้างอ่างและฝายเพื่อทำการดักตะกอนบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 3 แห่ง  คือ 

1. อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง 
2. ฝายห้วยผาตั้ง 
3. ฝายห้วยเลา   


ผู้ได้รับประโยชน์ :
ราษฎรกว่า 10 หมู่บ้านที่ ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหมีและพื้นที่ใกล้เคียงโครงการ

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกร ทำให้ราษฎรกว่า 10 หมู่บ้านที่ ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้มีน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค สามารถดำรงชีวิตได้อย่างผาสุก ดังพระราชดำรัสของพระองค์ที่ตรัสไว้ถึงความสำคัญของน้ำ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐานว่า “น้ำคือชีวิต” ดังนี้
        “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...”
        ภายหลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วเสร็จ ราษฎรในพื้นที่ ต.แม่ออน ซึ่งประกอบด้วยบ้านแม่ผาแหน บ้านแพะ บ้านโฮ่ง บ้านริมออนเหนือ และบ้านป่าตึงรวมทั้งสิ้นกว่า 400 ครัวเรือน จำนวนกว่า 1,500 คน ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อประโยชน์ทั้งการปลูกข้าว ยาสูบ ถั่วลิสง อ้อย และลำไย  นอกจากนี้ยังใช้น้ำเพื่อการเลี้ยงสัตว์ทั้งโค กระบือ สุกร เป็ด และไก่ ตลอดจนใช้ในการทำประมงรวมทั้งการส่งเสริมอาชีพธุรกิจอื่น ๆ อาทิ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเลี้ยงโคพันธุ์ดีกระทั่งการส่งเสริมเลี้ยงโคนมที่บ้านป่าตึงโดย ธกส. ให้สินเชื่อเป็นเงินทุนดำเนินงานครอบครัวละ 130,000 บาท โดยให้ส่งเงินทุนคืนภายใน 10 ปีด้วย

 

ความสำเร็จของโครงการ :

อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ วันนี้หลังจากที่สำนักงาน รพช. เริ่มก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในเดือนเมษายน 2524 จนแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 2525 สามารถกักเก็บน้ำได้กว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งได้ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำความยาว 8,230 เมตร เพื่อส่งน้ำแก่พื้นที่เกษตรซึ่งมีกว่า 6,000 ไร่ สร้างความพึงพอใจและดีใจแก่ชาวบ้านจำนวนมาก
        ภายหลังการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถสร้างประโยชน์แก่ราษฎรในพื้นที่ทั้งด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภคมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี ซึ่งภายหลังการปฏิรูประบบราชการเมื่อเดือนตุลาคม 2545 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาอยู่ในความดูแลและรับผิดชอบ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า 8 ปีนั้น สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 ลำปาง กรมทรัพยากรน้ำ ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลและบำรุงรักษา
        ในปีงบประมาณ 2554 นี้ กรมทรัพยากรน้ำได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 19,600,000 บาทในการก่อสร้างระบบส่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้ราษฎรได้ใช้น้ำในพื้นที่มากขึ้น ช่วยให้มีน้ำเพื่อใช้ในภาคเกษตรกรรมได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราษฎรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตรัสไว้ในตอนหนึ่งว่า
        “...น้ำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในงานเกษตร แม้ดินจะไม่ดีบ้างหรือมีอุปสรรคทางด้านอื่นๆ ถ้าแก้ปัญหาในเรื่องแหล่งน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็พลอยดีขึ้นติดตามมา...”
        นายบุญมี อินตาคง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 บ้านแพะ ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสดีในชีวิต คือ การมีโอกาสได้รับเสด็จ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อย่างใกล้ชิด ซึ่งวันนั้นได้มาร่วมงาน “แห่ปลาช่อน สืบชะตารักษาแหล่งน้ำ” ซึ่งได้เล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตว่า
        “วันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งกับตนว่า “ผู้ใหญ่ ถ้าจะส่งน้ำไปหมู่ที่ 10 บ้านแพะ จะมีปัญหาไหม” ก็ทูลตอบพระองค์ว่า “ไม่มีปัญหาครับ ชาวบ้านยินดีและพร้อมจะรับน้ำที่ส่งไป เพราะน้ำมีไม่เพียงพอใช้ในการทำนา” ทำให้ ณ วันนี้ภายหลังเวลาผ่านมากว่า 29 ปี อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน อันเนื่องมาจากพระราชดำริยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาวบ้านมีน้ำทำนาอย่างมีสุขทุกปี และเกิดพิธี “แห่ปลาช่อน สืบชะตารักษาแหล่งน้ำ” สืบต่อไป ทำให้ราษฎรทั้งหลายต่างร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “น้ำจากในหลวง” ดั่งพระราชดำรัส “น้ำคือชีวิต” ที่คงมิอาจมีใครปฏิเสธแน่นอน”
        นายเดชไชย บุญนาค หนึ่งในกรรมการบริหารผู้ใช้น้ำวัย 55 ปีเล่าว่าก่อนพระราชทานพระราชดำริให้สร้างเก็บน้ำแม่ผาแหนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จฯ มา หลังโครงการเสร็จแล้วก็เสด็จฯมา ประชาชนดีใจกันมากเลย ทุกคนรู้สึกอย่างเดียวกันว่าเสด็จฯไปที่ใดที่นั่นเจริญ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน ตำบลแล้วก็ที่อื่นๆไม่มีพลาดที่ไปรอรับเสด็จแน่นพื้นที่เลย
        “ประโยชน์ที่ราษฎรได้รับซึ่งมีจำนวนหมู่บ้านกว่า 10 หมู่บ้าน เมื่อเราเห็นเป็นเพียงลำห้วย น้ำจะเอาไปทำนาก็ไม่ได้ น้ำไม่ได้มากอย่างนี้ ทำนาต้องรอน้ำฝน ทำเกษตรอื่นๆ ก็ต้องรอฝน น้ำที่พอเหลืออยู่ในห้วยดึงไปแปลงนาแปลงพืชผักอื่นก็ไม่ได้อีก แต่วันนี้มีอ่างน้ำแม่ผาแหนพระราชทานน้ำมีมากมาย แล้วมีระบบท่อส่งน้ำผ่านไปยังแปลงเกษตรของชาวบ้าน จึงมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรสะดวกทั้งปี ทำนาปีละครั้งไม่ต้องพูดถึงผลผลิตแน่นอนอยู่แล้ว ยังสามารถทำพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ทั้งปี แต่นั่นหมายถึงแต่ละบ้านต้องยึดหลักการที่ในหลวงทรงสอนไว้คือเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องมีความขยันหมั่นเพียร อดทน อดออม มีความสามัคคีกันพึ่งพากันแบ่งปันกัน ไม่ข้องแวะอบายมุข ครอบครัวที่เดินตามพระราชดำริพอเพียงวันนี้มีรายได้ปีละประมาณ 450,000 บาท พืชผักที่เคยปลูกไม่ได้ เพราะมีน้ำไม่พอ แต่เมื่อสำนักงาน รพช. โดยศูนย์ปฏิบัติการ รพช.ลำปาง ได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนอันเนื่องมาจากพระราชดำริและก่อสร้างระบบส่งน้ำแล้ว ปรากฏว่าราษฎรกว่า 400 ครัวเรือนสามารถได้รับประโยชน์พื้นที่ทำนาก็ 6,000 ไร่ปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยวก็มี ยาสูบ ข้าวโพด ไม้ผลและไม้ประดับ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยประมาณ 19,600,000 บาทต่อปี นั่นเป็นรายได้เมื่อกว่า 12 ปีที่แล้วแต่วันนี้ขยายเพิ่มขึ้น กรมทรัพยากรน้ำมาส่งเสริมขยายท่อส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคนทั่วไปอาจไม่คิดแต่เป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วคือธรรมชาติป่าน้ำความชุ่มชื้น ชุ่มฉ่ำ ชาวบ้านพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น ประเทศชาติได้ทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามดีงามกลับคืนมา”


 
   


ที่มาของข้อมูล : 1) กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : Department of Water Resources 180/3 ถนนพระรามที่ 6 ซอย 34 สามเสนใน พญาไท กรุงเทพฯ 10400
2) หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ผู้ที่เกี่ยวข้อง : 1) นายบุญมี อินตาคง 2) นายเดชไชย บุญนาค
เบอร์ติดต่อ โทรศัพท์ 0 2271 6000 Green Call 1310
ที่อยู่ -

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.