โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดสระแก้ว

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

 

   
พระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรีถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมาโดยครั้งสุดท้ายทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการดำเนินการในโครงการต่างๆ ที่สำคัญ เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2544 ความตอนหนึ่งว่า “...โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี และสระแก้ว ตามพระราชดำริ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก และอ่างเก็บน้ำอื่นๆ เป็นโครงการที่ดีมากทำให้มีปริมาณน้ำใช้เพิ่มมากขึ้น และผลที่ได้รับเพิ่มเติม ก็คือ ทำให้ดินมีการพัฒนาตามมาด้วย ...”
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการวางโครงการพัฒนาต้นน้ำปราจีนบุรี โดยมีพระราชดำริเกี่ยวกับการวางโครงการพัฒนาต้นน้ำปราจีนบุรีโดยพระราชดำริเกี่ยวกับอ่างเก็บน้ำพระปรง ดังนี้ “ควรพิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำห้วยพระปรงโดยเร่งด่วนที่สุด ทั้งนี้ควรพิจารณาเก็บกักน้ำอย่างเต็มที่เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสองฝั่งห้วยพระปรง ในเขตอำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี (จังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน)  สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคตลอดปี" ปี 2524 ได้รับงบประมาณสำหรับการเตรียมงานเบื้องต้นในการก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวและระบบสาธารณูปโภค พร้อมทั้งดำเนินการสำรวจข้อมูลและรายละเอียด เพื่อดำเนินการออกแบบ วันที่ 19 กันยายน 2532 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการและอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษา  สำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างโครงการพระปรง โดยกรมชลประทานได้วางแผนการก่อสร้างระหว่างปีงบประมาณ 2534 - 2542

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

หมู่ที่ 6 บ้านระเบาะหูกวาง ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว พื้นที่รับประโยชน์ 11,319 ไร่

   
วัตถุประสงค์โครงการ :

เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสองฝั่งห้วยพระปรงในเขตอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้วสามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคตลอดปี

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

โครงการชลประทานสระแก้ว กรมชลประทาน

 

ลักษณะโครงการ :

กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพระปรง ขนาดทำนบดิน กว้าง 8.00 เมตร ยาว 443.00 เมตร สูง 26.00 เมตร ความจุอ่างเก็บน้ำ 97.00 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่บ้านระเบาะหูกวาง หมู่ที่ 6 ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว  เมื่อ พ.ศ. 2534 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2544  เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎรในเขตตำบลช่องกุ่ม หนองหมากฝ้าย หนองน้ำใส และซับนกแก้ว


ผู้ได้รับประโยชน์ :
ราษฎรในเขตตำบลช่องกุ่ม หนองหมากฝ้าย หนองน้ำใส และซับนกแก้วและราษฎรที่อยู่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการ ซึ่งมีพื้นที่รับประโยชน์ 11,319 ไร่

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

กลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำพระปรง เป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำพระปรง โครงการชลประทานสระแก้ว เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานหลายฯ กลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มพื้นฐานที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544  และขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานไว้กับกรมชลประทาน  โดยมีผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 9  เป็นนายทะเบียน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2544  ซึ่งบริหารจัดการใน  7  เขตส่งน้ำ ครอบคลุมกลุ่มพื้นฐาน 82 กลุ่ม  ในเขตพื้นที่ 3 ตำบล 1 อำเภอ ประกอบด้วยตำบลช่องกุ่ม ตำบลหนองน้ำใส  ตำบลหนองหมากฝ้าย อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว  โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นตัวแทนของสมาชิกในการวางแผนใช้ที่ดินและน้ำชลประทานให้เหมาะสมกับสภาพดินและปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละฤดูกาลเพาะปลูก และเพื่อร่วมกับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานสระแก้ว  ในการตัดสินใจและจัดการน้ำชลประทาน  รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารด้านต่างๆ อันจะเกิดประโยชน์แก่สมาชิก นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประสานงานระหว่างสมาชิกกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  ควบคุมดูแลการใช้น้ำของสมาชิกเกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด  แก้ปัญหาขัดแย้งในการใช้น้ำระหว่างสมาชิกด้วยกันเองหรือสมาชิกกับบุคคลภายนอกและดำเนินงานอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิก 548 คน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยการทำนาข้าวเป็นหลัก  และรองลงมาเป็นการปลูกพืชไร่จำพวกอ้อยและมันสำปะหลัง ในเขตพื้นที่ชลประทาน 11,319 ไร่ ของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานสระแก้ว โดยใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำพระปรง


ความคิดริเริ่ม
เนื่องจากคณะกรรมการกลุ่มฯ มีความพร้อมเพียงในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ  มีความเสียสละและตั้งใจในการที่จะพัฒนากลุ่มฯ ให้ก้าวหน้าและยั่งยืน  โดยมีการอุทิศที่ดินเพื่อขยายความยาวคูส่งน้ำและสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ของสมาชิกได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรการบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีการกำหนดรูปแบบการให้สมาชิกกู้ยืมเงินกองทุนของกลุ่มฯ เพื่อนำไปซื้อปัจจัยการผลิตและมีการวางอนาคตให้เกษตรกรรุ่นหลังได้สืบทอด มียุวเกษตรกรในหลายๆ เรื่อง


ความสามารถในการบริหารและจัดการสถาบัน
การบริหารกลุ่มๆ ดำเนินงานโดยคณะกรรมการจำนวน 17 ตำแหน่ง  เลือกตั้งโดยสมาชิก  อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี  มี นายประหยัด  ถาวรยิ่ง ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มๆ คนปัจจุบัน  มีการประชุมคณะกรรมการปีละครั้ง และประชุมใหญ่ปีละ 2 ครั้ง  โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ชลประทาน เป็นที่ปรึกษา
คณะกรรมการกลุ่มฯ จะจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปี เช่น การปลูกพืช  การส่งน้ำ  การบำรุงรักษา  การเลือกตั้งหัวหน้ากลุ่มพื้นฐาน การส่งน้ำ การบำรุงรักษา  การเลือกตั้งหัวหน้ากลุ่มพื้นฐานตามวาระ  การศึกษาดูงาน  การประชุม  เป็นต้น  เพื่อให้สามารถบริหารองค์กรและส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกได้โดยสะดวก
กลุ่มฯ มีระบบการประชุม  โดยมีการบันทึกการประชุมและสรุปผลการประชุมทุกครั้ง  พร้อมแจ้งให้สมาชิกทราบทางสื่อต่างๆ เช่น  ติดประกาศตามสถานที่ชุมชน  ประกาศผ่านหอกระจายข่าวของหมู่บ้านและประชาสัมพันธ์ผ่านทางวัดในงานบุญต่างๆ นอกจากนี้  คณะกรรมการกลุ่มฯ มีการประสานงานและการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในระดับจังหวัด  เช่น  ชลประทาน  เกษตร  ศูนย์วิจัยข้าว  ประมง  พัฒนาที่ดิน  ตลอดทั้งองค์กรการบริหารส่วนตำบลได้เป็นอย่างดี
ด้านการบริหารจัดการน้ำชลประทานนั้น  ก่อนฤดูกาลเพาะปลูก หัวหน้าคูจะทำการสำรวจความต้องการปลูกพืชจากสมาชิก  โดยรวบรวมพื้นที่  ชนิดของพืชที่ปลูก  แจ้งให้หัวหน้าเขตส่งน้ำเพื่อแจ้งต่อประธานกลุ่มฯ ทราบ  และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ชลประทานก่อนมีการประชุมสมาชิก เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนส่งน้ำ  ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มฯ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำพระปรงโดยกลุ่มฯ จะปฏิบัติตามมติที่ประชุมทุกครั้งอย่างเคร่งครัด  ทั้งนี้ กลุ่มฯ มีการกำหนดรอบเวรการส่งน้ำในแต่ละเขตส่งน้ำอีกครั้ง  ให้สอดคล้องกับมติที่ประชุม เพื่อส่งน้ำตามคูน้ำสายต่างๆ ให้แก่สมาชิกอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม


บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน
สมาชิกให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่ได้ตกลงไว้อย่างเคร่งครัด  โดยสมาชิกร่วมกันขุดลอกตะกอนดินในคลองส่งน้ำ และทำความสะอาดคูส่งน้ำก่อนฤดูกาลส่งน้ำ ปีละ 2 ครั้ง รวมทั้งตัดหญ้าและกำจัดวัชพืชริมคลองตลอดทั้งปี นอกจากนี้ สมาชิกกลุ่มฯ ยังร่วมกันรับผิดชอบทั้งทรัพย์สินและแรงงาน ในกรณีที่คูส่งน้ำชำรุดเสียหาย โดยการแบ่งการรับผิดชอบออกเป็น 7 เขตส่งน้ำ ในส่วนของการเก็บเงินเข้ากองทุนกลุ่มฯ นั้น  สมาชิกทุกคนยินยอมและสมัครใจจ่ายค่าบำรุงรักษาตามจำนวนพื้นที่ในอัตราไร่ละ 10 บาทต่อปี  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจกรรมของกลุ่มฯ


ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน
- กลุ่มฯ ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจกรรมของกลุ่มฯ โดยสมาชิกผู้ใช้น้ำจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตราไร่ละ  10  บาทต่อปี  ซึ่งปัจจุบันมีเงินสดสะสมประมาณ  124,805.15  บาท  และมียอดเงินที่ให้สมาชิกกู้ยืมประมาณ  630,000  บาท  โดยเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาวัฒนานคร
- กลุ่มฯ มีการวางระเบียบการจัดเก็บเงิน โดยให้สมาชิกผู้ใช้น้ำจ่ายเงินผ่านทางหัวหน้าคูส่งน้ำในแต่ละสายของเขตส่งน้ำต่างๆ ทั้งหมด 7 เขตส่งน้ำ เพื่อรวบรวมส่งเหรัญญิกของกลุ่มฯ ส่วนการใช้จ่ายเงินกองทุนนั้นคณะกรรมการกลุ่มฯ มีอำนาจอนุมัติเงินได้เพียง 5,000 บาทต่อครั้ง  หากเกินกว่านั้นจะต้องมาประชุมเพื่อขอความเห็นชอบจากสมาชิก และถือมติที่ประชุมในการอนุมัติ โดยการเบิกจ่ายแต่ละครั้งจะต้องมีกรรมการของกลุ่มฯ 3 คน  ประกอบด้วย  ประธานกลุ่มฯ เหรัญญิก และหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2  โครงการชลประทานสระแก้ว  ลงลายมือชื่อในการเบิกแต่ละครั้ง
- กลุ่มฯ มีแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ คือ โรงเรียนชาวนาเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้แก่สมาชิกที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้สมาชิกของกลุ่มฯ มีการผลิตปุ๋ยหมัก และปุ๋ยน้ำหมักอินทรีย์ใช้เองรวมทั้งสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งทำให้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตมีรายได้เหลือมากขึ้น


การทำกิจกรรมด้านสาธารณะประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มฯ มีการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประเพณีของชุมชนในหมู่บ้าน ได้แก่ งานบุญทอดผ้าป่า และประเพณีปลูกข้าวลงแขก นอกจากนี้ กลุ่มฯ มีการรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดมลภาวะโดยการรณรงค์ไม่เผาซังข้าว แต่ใช้วิธีไถกลบแทน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน ตลอดจนผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพ และปุ๋ยหมักใช้เอง นอกจากนี้ กลุ่มฯ มีกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและสมาชิก โดยการช่วยกันบำรุงรักษาวัด โรงเรียน และถนน  อีกทั้งร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล ทำความสะอาดต้นน้ำอ่างเก็บน้ำพระปรง และร่วมปลูกป่าบริเวณต้นน้ำ


กลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำพระปรง จังหวัดสระแก้ว  ได้รับคัดเลือกให้เป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ  ประเภทสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ประจำปี 2552
ผู้แทนกลุ่มบริหารการใช้น้ำ อ่างเก็บน้ำพระปรง (นายประหยัด ถาวรยิ่ง  ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำพระปรง) เข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณ จาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามงกุฎราชกุมารฯ  ในพระราชพิธีจรลพระนังคัลแรกนาขวัญ  เมื่อวันที่ 11  พฤษภาคม 2552

 

ความสำเร็จของโครงการ :

  1.  ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่โครงการฯ 11,319 ไร่
  2.  ช่วยให้มีน้ำอุปโภค-บริโภค แก่ราษฎรในเขตโครงการอย่างสม่ำเสมอ
  3.  ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำบางประกง
  4.  เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของกรมประมง
  5.  เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
  6.  เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ในคลองธรรมชาติ ช่วยพื้นที่เกษตรกรได้ 25,000 ไร่
          อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้พื้นที่ชลประทานด้านท้ายอ่างเก็บน้ำพระปรงจำนวน 11,319 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับจัดทำโครงการเกษตรบูรณาการ โดยการนำหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดสระแก้ว เข้ามาร่วมกันพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร

 
   


ที่มาของข้อมูล : เอกสารข้อมูลจากสำนักงาน กปร. โครงการ “สื่อศิลปิน รวมใจ ถวายในหลวง” ครั้งที่ 3/2554 พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว
ผู้ที่เกี่ยวข้อง : นายวรศักดิ์ สิริภาพ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระแก้ว
ประชาชนผู้ใช้น้ำ : นายประหยัด ถาวรยิ่ง ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำพระปรง
เบอร์ติดต่อ : 081-3159981
ที่อยู่ : -
ผู้ติดต่อ : -

 

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.