นายกรธวัช ยุงรัมย์ เจ้าหน้าที่งานในพระองค์สวนจิตรลดา ในฐานะผู้ประสานงานและติดตามความก้าวหน้าโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกำพี้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา และทรงทราบว่าราษฎรกว่า 124 ครัวเรือน ยังต้องการแหล่งน้ำเพื่อประกอบอาชีพ รวมทั้งใช้ในการอุปโภคบริโภค และหลังจากที่ได้สำรวจพื้นที่พบว่า บริเวณนั้นมีแหล่งน้ำเดิมคือ หนองโคกสะแบง ที่มีความเหมาะสมเพื่อเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนในโครงการฟาร์มตัวอย่าง เพื่อให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งได้บริโภคอาหารปลอดภัยจากสารพิษ
นับว่าโครงการฟาร์มตัวอย่างแห่งนี้ เป็นหนึ่งในหลายแห่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นแบบอย่างในการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่สำคัญสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง
พ.ท.ไชยนคร กิจคณะ ผู้บังคับกองพันพัฒนาที่ 2 กล่าวว่า การทำอาชีพเสริมของชาวบ้านบ้านกำพี้ จะมีวิทยากรมาสอนให้ความรู้ เพื่อให้ชิ้นงานมีความทันสมัยขึ้น รวมทั้งการจัดลำดับความคิดในการทำงานด้วย ปัญหาของชาวบ้านจะเป็นเรื่องช่องทางการตลาด ซึ่งจะต้องหาทางระบายสินค้า ซึ่งต้องทำร่วมกับการพัฒนาฝีมือไปพร้อมกัน จากการสำรวจรายได้ครอบครัวของชาวบ้านบ้านกำพี้พบว่า ปัจจุบันมีรายได้ 22,000 บาทต่อครอบครัว ต่างจากปี พ.ศ. 2516 ที่มีรายได้ต่อครอบครัวเพียง 8,500 บาทเท่านั้น
นางซัน เทียบแสน อายุ 89 ปี ชาวบ้านบ้านกำพี้ เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อตอนอายุ 83 ปี ทรงห่วงใยถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตรัสว่า ชีวิตเป็นอยู่อย่างไร ให้ทอผ้าไหมเยอะๆ แล้วส่งไปที่สวนจิตรลดา ตอนนั้นที่บ้านยากจนมาก และรู้สึกปลื้มใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ ด้วยความปีติถึงขนาดเมื่อเดินกลับบ้านยังลืมไปว่าบ้านตนเองอยู่ที่ไหน และมาถึงตรงนี้เหมือนเป็นบุญที่ได้ทำงานให้พระองค์ท่าน เงินที่ได้มาก็ทำให้มีความสุขด้วย อยากให้พระองค์ท่านเสด็จฯ มาเยี่ยมชาวบ้านที่นี่อีก
ส่วนนางกุหลาบ เทียบแสน อายุ 39 ปี เลขานุการกลุ่มทอผ้า กล่าวว่า จากที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้ชีวิตของชาวบ้านที่นี่ดีขึ้นมาก ทุกบ้านมีรายได้เสริม ได้ใช้จ่ายอีกทั้งยังมีเงินเก็บ ซึ่งนอกจากจะมีโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกำพี้ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระยะหลังยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ ด้วยการพระราชทานไหมหลวง ปีละ 400 กิโลกรัม เพื่อนำมาทอผ้าไหมอีกด้วย
นายคำ ทองโคตร อายุ 56 ปี พ่อบ้านจักสาน กล่าวถึงการทำอาชีพจักสานซึ่งเป็นอาชีพเสริม หลังจากเสร็จสิ้นฤดูทำนาว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ได้เป็นสมาชิกในกลุ่มจักสาน โดยมีอาจารย์จากศิลปาชีพเข้ามาสอนทำลายและรูปแบบใหม่ๆ ทำให้มีความหลากหลายของชิ้นงานมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายได้อีกด้วย แม้ระยะแรกจะรู้สึกว่าเป็นงานที่ยาก เพราะต้องใช้สายตามาก รวมทั้งความอดทนสูง เมื่อนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเมตตาก็ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจมากกว่า ยิ่งเมื่อผลงานสำเร็จออกมาก็สามารถจำหน่ายได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวด้วย