เนื่องจากสถานการณ์ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ อันแสดงให้เห็นความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว คณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ในเขตกองทัพภาคที่ 2 จึงได้เสนอแผนการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ใช้วิธีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเข้าดำเนินการพัฒนาพื้นที่ควบคู่กับการใช้เครื่องมือทางทหารจัดทำเป็นแผนพัฒนาผสมผสานเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบ เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายภายใต้แผนงานเดียวกัน แผนงานดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ กองทัพภาคที่ 2 เข้าดำเนินการพัฒนาในพื้นที่รอยต่ออำเภอเสิงสาง และอำเภอครบุรี โดยจัดสรรงบประมาณเป็นโครงการพัฒนาต่อเนื่อง 2 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2526 - 2527 แต่เนื่องจากการดำเนินงานในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนราชการต่างๆ ปฏิบัติงานแล้วไม่เสร็จ ตามเป้าหมายโครงการ
กองทัพภาคที่ 2 จึงขอขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานต่อเนื่องมาจนสิ้นปีงบประมาณ 2529 รวมระยะเวลาดำเนินงานขั้นพื้นฐานเป็นเวลา 4 ปี หลังจากนั้นกองทัพภาคที่ 2 ได้เล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่ปฏิบัติการจึงมอบหมายให้กองกำลังสุรนารีดำเนินการโครงการพัฒนาเสริมความมั่นคงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บริเวณรอยต่ออำเภอเสิงสางและอำเภอครบุรี เพื่อให้สอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์พัฒนาที่เตรียมไว้เผชิญกับภัยคุกคามภายในประเทศ เป็นโครงการต่อเนื่องที่ต้องติดตามขยายผลการปฏิบัติต่อไปในห้วงปีงบประมาณ 2530 - 2534 รวมระยะเวลา 5 ปี
ผลการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระยะเริ่มต้น ระหว่างปี 2526 - 2529 กองทัพภาคที่ 2 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ได้ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ของฝ่ายพลเรือนดำเนินงานพัฒนาช่วยเหลือประชาชนเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนี้.-
1) งานจัดตั้งโครงการหมู่บ้านป่าไม้ 2 โครงการ คือ จัดตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ โดยรวบรวมราษฎรที่กระจัดกระจายให้เข้ามาอยู่อาศัยรวมกัน 10 หมู่บ้าน จัดที่อยู่อาศัยให้ 1,927 ครอบครัวและจัดที่ดินทำกินให้ราษฎร 4,141 ครอบครัวๆ ละ 15 ไร่
2) งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
- ก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ 1 โครงการ คือ โครงการมูลบนประกอบด้วย เขื่อนมูลบน และเขื่อนลำแซะ
- ก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดกลาง 3 โครงการ คือ โครงการลำปลายมาศ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเพลียก และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเตย
- ก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็ก 17 โครงการ
3) งานพัฒนาอาชีพทุกสาขา
- ทำการส่งเสริมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมทั้งอาชีพศิลปหัตถกรรมเสริมรายได้อื่นๆ
4) งานปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาสาธารณประโยชน์ ปรับปรุงการคมนาคม มีถนนเชื่อมต่อหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ก่อสร้างสถานีอนามัยเพิ่มขึ้น 2 แห่ง ขยายเขตไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้านครบถ้วนทุกหมู่บ้าน ก่อสร้างสถานศึกษาระดับประถมศึกษามีโรงเรียนทุกหมู่บ้าน
5) งานพัฒนาร่างกายจิตใจ พัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดระบบรักษาความปลอดภัย
- การจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การจัดหาน้ำสะอาดในหมู่บ้าน การฝึกหลักสูตร อพป. กนช. และการจัดตั้งหอกระจายข่าว จัดสรรน้ำให้ราษฎรใช้สอยทำการเกษตรได้โดยสมบูรณ์ตลอดไป
1. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 66,000 ไร่ ฤดูแล้งประมาณ 25,000 ไร่ และอุปโภค บริโภคได้ตลอดปีในเขตตำบลบ้านราษฎร์ โนนสมบูรณ์ สระตะเคียน และกุดโบสถ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และตำบลโคกมะม่วง หูทำนบหนองบัว ไทยเจริญ ปะคำ อำเภอปะคำ และตำบลทรัพย์พระยา อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
2. ช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ
3. เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด ช่วยเพิ่มอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรในด้านการประมง
4. เกษตรกรใช้ถนนบนคันคลองเป็นเส้นทางลำเลียงผลผลิต
5. เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
กิจกรรมสำคัญคือ จัดหาแหล่งน้ำ ปรับปรุงสภาพดินและทดลองการเกษตรผสมผสาน ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า เลี้ยงโคนม ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ ไร่นาสวนผสม ปลูกไม้โตเร็ว ปลูกพืชหน้าแล้ง และธนาคารโคกระบือตามโครงการพระราชดำริ