โครงการพืชสมุนไพรหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดเชียงใหม่

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 
แนวพระราชดำริ :

ด้วยพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างสภาพความเป็นอยู่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของอาณาประชาราษฎร์โดยทั่วหน้า แม้ในถิ่นทุรกันดารก็ได้เสด็จและทรงใช้ความรู้วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ไขขจัดปัญหาความทุกข์ยากของพสกนิกรเสมอมา ในด้านการป้องกันและบำบัดการป่วยไข้ จึงได้ทรงพระราชดำริถึงสมุนไพรไทยซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์มาเป็นเวลาช้านานแล้ว ควรส่งเสริมให้มีการใช้และการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาพัฒนาและอนุรักษ์สมุนไพร รวมทั้งโครงการที่เกี่ยวข้องโดยทางอ้อมเป็นจำนวนหลายโครงการ ตัวอย่างได้แก่ โครงการป่าสวนสมุนไพรของศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อน โครงการภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง โครงการสวนแม่พันธุ์ต้นซิงโคนา โครงการสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นต้น

โครงการพืชสมุนไพรหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้จัดตั้งขึ้นในพื้นที่โครงการจัดการหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของมณฑลทหารบกที่ 33 เพื่อจัดที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ตลอดจนการพัฒนาอาชีพการเกษตรให้กับราษฎรในพื้นที่ของโครงการฯ โดยได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงเกษตร และเป็นองค์กรการท่องเที่ยวใหม่ที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้โครงการจัดหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเยี่ยมศูนย์เกษตรกรรมทหารจังหวัดทหารบกเชียงใหม่ เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2523 และได้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการเกษตร จึงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาได้ทรงทราบว่าในบริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำ มีราษฎรบุกรุกพื้นที่เข้ามาอาศัยและทำกิน ซึ่งเป็นพื้นที่ของทางราชการทหาร จึงได้มีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรที่บุกรุกพื้นที่ดังกล่าว มาจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง โดยให้กองทัพภาคที่ 3 เป็นหน่วยควบคุมดูแล และใช้ประโยชน์จาก อ่างเก็บน้ำนี้ กองทัพภาคที่ 3 จึงได้จัดตั้ง “โครงการจัดหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เมื่อ 8 มีนาคม 2530 และให้มณฑลทหารบกที่ 33 เป็นหน่วยดำเนินการ ต่อมากองทัพบก ได้มีนโยบายให้จัดการท่องเที่ยวในหน่วยทหารขึ้น มณฑลทหารบก ที่ 33 จึงได้พัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งทางด้านเกษตรกรรม และทางด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการพักผ่อนหย่อนใจ อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า จึงเป็นทะเลน้ำจืด เพราะมีลักษณะที่เป็นอ่างเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีความร่มรื่น และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หลบร้อนเล่นน้ำของใครหลายคน ในเชียงใหม่ และผู้ท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

โครงการพืชสมุนไพรหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

   
วัตถุประสงค์

1. เพื่อจัดที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ตลอดจนการพัฒนาอาชีพการเกษตรให้กับราษฎรในพื้นที่ของโครงการฯ
2. เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
3. เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป
4.เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นตามแนวชายแดนโดยใช้กำลังประชาชนให้มีส่วนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จากการบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่
5. เพื่อจัดระเบียบประชากร พัฒนาระบบทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ จนสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

1. ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
2. มณฑลทหารบกที่ 33
3. จังหวัดเชียงใหม่
4. สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า
5. กองทัพภาคที่ 3       

 

ลักษณะโครงการ :

คณะทำงานโครงการจัดหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดระเบียบราษฎรที่บุกรุกพื้นที่ของทางราชการ ด้วยการจัดแบ่งมอบพื้นที่ทางด้านทิศใต้ของอ่างเก็บน้ำ ให้เป็นที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 1 แปลงๆ ละ 2 งาน ที่นาครอบครัวละ 1 แปลงๆ ละ 1 - 2 ไร่ และที่สวนครอบครัวละ 1 แปลงๆ ละ 1 ไร่ โดยให้ทำสัญญาอาศัยกับมณฑลทหารบกที่ 33 คราวละ 3 ปี จัดให้มีนักวิชาการประจำโครงการฯโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม

ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าเกิดขึ้นจากโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการจัดหมู่บ้านตัวอย่างห้วยตึงเฒ่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า มณฑลทหารบกที่ 33 และกำกับดูแลทางฝ่ายอำนวยการโดยกองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบก 33

อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า ก่อสร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จทรงเยี่ยมศูนย์เกษตรกรรมทหาร จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2523 และได้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งที่ใช้ในศูนย์เกษตรกรรมทหารฯ และราษฎรบริเวณใกล้เคียงจึงทรงมีพระราชดำริให้ทำการสำรวจแหล่งน้ำเพื่อจัดสร้างแหล่งน้ำไว้แก้ปัญหา ต่อมาจึงมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น ณ พื้นที่ห้วยตึงเฒ่าแห่งนี้ โดยทรงกำหนดแนวสันเขื่อนด้วยพระองค์เอง และกำหนดชื่อว่า อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า มีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 4 งาน ความจุ 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตร


ผู้ได้รับประโยชน์ :

ราษฎรหมู่ที่ 3 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และราษฎรในพื้นที่รอบๆ โครงการ


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

ในปีงบประมาณ 2551 เจ้าหน้าที่โครงการฯ ได้ขอรับการสนับสนุนในเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่  เพื่อนำไปสู่การเลี้ยงไหมครบวงจร และเข้าสู่ขบวนการผลิตแปรรูปชาใบหม่อน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ จึงได้ส่งมอบพันธุ์หม่อนบุรีรัมย์ 60 ให้แก่เกษตรกร จำนวน 2 ราย รายละ 3,000 ถุง สำหรับเลี้ยงไหมและแปรรูปชาใบหม่อน และส่งเกษตรกร จำนวน 1 ราย เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบเน้นหนัก จำนวน 10 วัน ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับจัดทำโรงเรือนเลี้ยงไหมบางส่วน

ต่อมา ในปีงบประมาณ 2552 เจ้าหน้าที่ของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลแปลงหม่อนของเกษตรกร พร้อมกับสนับสนุนปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพื่อบำรุงแปลงหม่อน เนื่องจากเห็นว่าหม่อนที่ปลูกไม่ได้รับการบำรุงรักษา และแนะนำให้ซ่อมแซมโรงเรือนให้เกษตรกร เตรียมการเลี้ยงไหมในเดือน กุมภาพันธ์ 2552 อย่างไรก็ตามเกษตรกรก็ไม่สามารถดำเนินการเลี้ยงไหมได้ เนื่องจากไม่ได้ทำการเตรียมแปลงหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ แต่ได้ทำการผลิตชาใบหม่อนจำหน่ายได้ส่วนหนึ่ง ช่วงเดือนมีนาคม และในเดือนเมษายน 2552 ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ สนับสนุนโดโลไมท์ จำนวน 200 กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก จำนวน 30 กระสอบ เพื่อบำรุงแปลงหม่อน สำหรับการเตรียมการเลี้ยงไหมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการบำรุงดินในแปลงหม่อน

เดือนสิงหาคม 2552 เจ้าหน้าที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ได้เข้าไปประเมินผลการปฏิบัติงานของเกษตรกรในโครงการ พบว่า เกษตรกรไม่สามารถเลี้ยงไหมและผลิตชาใบหม่อนได้ตามเป้าหมายของโครงการฯ เนื่องจากเกษตรกรสร้างโรงเรือนไม่แล้วเสร็จ และมีภารกิจอื่นนอกเหนือจากการดูแปลงหม่อน สำหรับเกษตรกรอีกหนึ่งรายที่มีเป้าหมายจะผลิตชาใบหม่อน และนำชาใบหม่อนผสมกับชาใบเชี่ยวกู่หลาน สำหรับเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ก็ยังไม่สามารถผลิตได้เนื่องจาก หม่อนที่ปลูกมีอายุน้อยไม่สามารถนำมาผลิตชาใบหม่อน ในขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างความพร้อมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรชนิดอื่น ดังนั้นศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ จึงยังไม่ได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และวัสดุสำหรับจัดทำโรงงานแปรรูป และคาดว่าจะยุติการดำเนินงานโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมสำหรับการเลี้ยงไหมและการแปรรูปชาใบหม่อน อย่างไรก็ตามในปี 2553 ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ จะยังติดตามผลการปฏิบัติงานของเกษตรกรและให้คำปรึกษาแนะนำแก่เกษตรกรต่อไป

 

ความสำเร็จของโครงการ :
อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า จึงกลายเป็นสถานที่ที่ชาวเชียงใหม่ และจากทั่วสารทิศ ผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมชมเพื่อพักผ่อนให้คลายร้อนในช่วงหน้าร้อน แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่พักผ่อนสำหรับทุกฤดูกาลไปแล้ว เพราะนอกจากสามารถเล่นน้ำได้แล้ว ยังมีกิจกรรมทางน้ำให้เลือกเล่นหลายอย่าง เช่น บริการห่วงยาง เรือพาย เรือถีบ ให้เช่าราคาก็ไม่แพง
 
   


ที่มาของข้อมูล :
1. ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
2. สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า
3. กองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่

กลุ่มผู้ใช้น้ำ : -



เบอร์ติดต่อ :
1. ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-114096-8 โทรสาร 053-114097
2. สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า โทร. 0-5312-1119
3. กองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 33 โทร. 0-5324-9345
ที่อยู่ : ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ 399 หมู่ 12 ต. หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 50230

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.