โครงการศูนย์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดอุบลราชธานี

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
   
แนวพระราชดำริ :

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่บ้านค้อ ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ช่วยเหลือเรื่องอาชีพแก่ราษฎร เพื่อให้มีรายได้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โดยไม่ต้องอพยพไปประกอบอาชีพต่างถิ่น
         
เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศกัมพูชาประชาธิปไตยมีความยาว 380 กิโลเมตร พื้นที่ด้านที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองในส่วนติดต่อกันทางพื้นดิน ลักษณะภูมิประเทศบริเวณชายแดนเป็นพื้นที่ภูเขาที่มีความสลับซับซ้อน ยากแก่การเข้าถึง ลักษณะภูเขาเป็นดินปนหิน มีความลาดเอียงเข้ามาภายในประเทศ ลักษณะดินมีคุณภาพต่ำเป็นทรายค่อนข้างจัด บริเวณพื้นที่ราบเชิงเขามีการชะล้างพังทลายอยู่ในเกณฑ์สูง เป็นผลทำให้การเพาะปลูกของราษฎรได้ผลน้อย การลงทุนค่อนข้างสูง เป็นสาเหตุให้ประชาชนประกอบอาชีพไม่พอกิน คุณภาพชีวิตต่ำ จึงเกิดการ หักล้างถางป่าบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำลำธารเสาะแสวงหาพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น

ภายหลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ช่วยเหลือเรื่องอาชีพแก่ราษฎร สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จึงได้จัดสรรพื้นที่ให้แก่ราษฎรทั้งหมด 173 ครัวเรือน จึงจัดทำโครงการพระราชดำริขึ้นโดยได้จัดสรรพื้นที่ สปก. เป็นแปลงของเกษตรกร 173 แปลงและจัดสรรพื้นที่ให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปทำกิจกรรมเป็นลักษณะศูนย์สาธิตกิจกรรมให้เหมาะสม และเสนอของบประมาณไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ส่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ/แผนงาน/งบประมาณ ในส่วนของกรมปศุสัตว์ได้รับการจัดสรรพื้นที่ 10 ไร่เศษ ทำการสาธิตการเลี้ยงสัตว์ขยายพันธุ์เผยแพร่สู่เกษตรกร

 
   
ที่ตั้งของโครงการ :

บ้านค้อ หมู่ที่ 7 ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

   
วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้เกษตรกรเป้าหมายหลักที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก สปก. 173 ครัวเรือน และเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพ
2. เป็นแหล่งสาธิตรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม แหล่งกระจายสัตว์พันธุ์ดี และถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการแก่เกษตรกรที่สนใจประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ทั้งเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม
3. เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนผลิตอาหารโปรตีนบริโภค
4.เพื่อสร้างรายได้เสริมและลดค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรจากการประกอบอาชีพด้านปศุสัตว์

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กรมปศุสัตว์ , สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ยโสธร , สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี รับผิดชอบงานสาธิตการเลี้ยงสัตว์และผลิตสัตว์ , สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์อุบลราชธานี , กองกำลังสุรนารีและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 2 (กกล.สุรนารี)

 

ลักษณะโครงการ :

การพัฒนาช่วยเหลือประชาชนในด้านอื่นๆ ส่วนราชการทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้ทำการช่วยเหลือราษฎรเมื่อครั้งประสบภัย โดยการวางโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จผสมผสานสมบูรณ์แบบ เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานช่วยเหลือประชาชนตามโครงการหมู่บ้านป้องกัน ตนเองชายแดน ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา เช่น ทำการจัดตั้งหมู่บ้านรวบรวมราษฎรที่กระจัดกระจายให้เข้ามาอยู่อาศัยรวมกัน เป็นกลุ่มก้อน จำนวน 52 หมู่บ้าน 4,734 ครอบครัว จัดที่ทำกินให้ราษฎรถือครองโดยถูกต้องตามกฎหมาย 8,767 ครอบครัว จัดหาน้ำให้บริโภคใช้สอยโดยการ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 41 โครงการ อบรมการประกอบอาชีพ จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ใช้สอย เช่น ปรับปรุงการคมนาคม การศึกษา ให้มีสถานบริการทางด้านการแพทย์ อนามัย พัฒนาจิตใจ พัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

จากการพัฒนาพื้นที่ในขั้นต้นที่ได้สร้างปัจจัยพื้นที่ฐานช่วยเหลือราษฎรดังกล่าวแล้ว เนื่องจากความเดือดร้อนในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามด้านความมั่นคงต่อเนื่องหลาย ปี ราษฎรบางส่วนในพื้นที่อำเภอน้ำยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรบ้านโนนสูงและบ้านแปดอุ้ม ในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะยืนอยู่บนหลักการพึ่งตนเองได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจากการขาดแคลนที่ทำกิน การขาดความรู้ทางวิชาการแนวใหม่ ความจำกัดของดินที่มีคุณภาพต่ำ เป็นต้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือราษฎรที่เคยประสบภัยและยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้จนถึง ปัจจุบัน เพื่อเป็นการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ราษฎรสามารถใช้น้ำทำการเพาะปลูกผลิตอาหารบริโภคได้เองโดยสมบูรณ์ จึงได้พิจารณาจัดทำแผนงานโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะ กรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาดำเนินการเพื่อยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยเหลือราษฎรพื้นที่บริเวณแนวชายแดนให้ทัดเทียมกับหมู่บ้านอื่นๆ

 

ผู้ได้รับประโยชน์ : ราษฎรพื้นที่บริเวณแนวชายแดน บ้านค้อ หมู่ที่ 7 ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง
 

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

1. สมาชิกโครงการ ฯ จำนวน 173 ครอบครัว ประกอบด้วย
        1) บ้านค้อ จำนวน 67 ครอบครัว
        2) บ้านแปดอุ้ม จำนวน 101 ครอบครัว
        3) บ้านโนนสูง จำนวน 5 ครอบครัว

2. กลุ่มอาชีพของราษฎร จำนวน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย
        1) กลุ่มเกษตรกรรม
             1.1) ทำนา จำนวน 156 ราย
             1.2) ทำไร่ จำนวน 17 ราย

3. กลุ่มอาชีพเสริม
        1) เลี้ยงเป็ด-ไก่ จำนวน 120 ราย
        2) เลี้ยงโค จำนวน 19 ราย
        3) เลี้ยงปลา จำนวน 156 ราย
        4) ทอผ้าไหม จำนวน 19 ราย
        5) ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 26 ราย
        6) เพาะเห็ด จำนวน 6 ราย
        7) ปลูกหญ้ารูซี จำนวน 40 ราย
        8) ปลูกพืชผักสวนครัว จำนวน 40 ราย

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีบริเวณชายแดนด้านที่ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวและประเทศกัมพูชาประชาธิปไตยในเขตอำเภอน้ำยืน เป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีความสมบูรณ์ พื้นที่ส่วนนี้มีความสำคัญในทางทหารเป็นอย่างยิ่ง หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถมีอิทธิพลเข้าควบคุมไว้ได้แล้ว จะได้เปรียบในยุทธศาสตร์เชิงรุกที่มีความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงตลอดเวลา

จากความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์ที่ประเทศไทยถูกแทรกซึมบ่อนทำลายจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในอดีต พื้นที่ส่วนนี้กลายเป็นฐานที่มั่นกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อาศัยการสนับสนุนอุปถัมภ์และมีหลังอิงจากประเทศเพื่อนบ้าน ประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนได้รับผลกระทบ ถูกรบกวน จับกุมกวาดต้อนลงไปอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เหตุการณ์จับกุมกวาดต้อนราษฎรบ้านแปดอุ้ม ตำบลโดมประดิษฐ์ รวมทั้งเผาบ้านเรือนของราษฎรทั้งหมู่บ้านประมาณ 80 ครอบครัว เมื่อปลายปี 2520 เป็นต้น

ถึงแม้สถานการณ์การคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จะคลี่คลาย ภายหลังปี 2524 แล้ว พื้นที่บริเวณนี้ยังคงถูกคุกคามเข้ายึดครองจากกองกำลังต่างชาติในเวลาต่อมาอีก จะเห็นได้ว่าได้มีการสู้รบกับกองกำลังต่างชาติที่ล้วงล้ำเข้ามายึดครองดินแดนไทยอย่างรุนแรงในห้วงปี 2527 - 2531 ผลการสู้รบดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ สูญเสียทรัพย์สินของราษฎรไทย พื้นที่มีความระส่ำระสาย ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพห่างไกลหมู่บ้านได้เป็นเวลาหลายปี จึงส่งผลกระทบซ้ำเติมทำให้เกิดปัญหาความอดอยากยากจน เป็นผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ผลกระทบจาการสู้รบดังกล่าว ทำให้ทรงทราบถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือ ที่บ้านโนนสูง อ่างเก็บน้ำห้วยจันลา ที่บ้านจันลา ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน เพื่อจัดหาน้ำช่วยการเพาะปลูกของราษฎร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2532 พื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งสามารถเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการชลประทานรวมทั้งสิ้น 65 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อมากรมชลประทานได้ทำการก่อสร้างระบบส่งน้ำคลองสายหลัก คลองสายซอย สามารถกระจายน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกของราษฎรตามลุ่มน้ำได้ผลแล้วระดับหนึ่ง
 

ความสำเร็จของโครงการ :

การจัดตั้งศูนย์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ให้มีที่ทำกินเป็นของตนเอง โดยระบบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน ในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพของเกษตรกรและยกระดับรายได้ของสมาชิก หาแหล่งน้ำเข้าไปในแปลงเกษตรกรรม อบรมส่งเสริมการใช้ที่ดินและน้ำให้ได้อย่างสมบูรณ์ จัดระบบส่งในลักษณะการใช้อย่างจำกัด ปรับปรุงพื้นที่การเกษตร การเพาะปลูกพืชหมุนเวียนให้เกิดรายได้ตลอดปี จัดแปลงเกษตรสาธิตทฤษฎีใหม่ และดำเนินงานตามโครงการเศรษฐกิจ แบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริเป็นโครงการที่จัดตั้งไว้ในลักษณะคล้าย ศูนย์ศึกษาพัฒนาตามแนวพระราชดำริต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นศูนย์รวมในการสาธิต และศึกษาค้นคว้า ทดลอง ตลอดจนแนวทางการพัฒนา ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในด้านต่างๆ ของราษฎร ให้สามารถแก้ไขปัญหา และนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นการพัฒนาแบบผสมผสานของทุกหน่วยงานที่เข้ารวมกันพัฒนาในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด

 
   


ที่มาของข้อมูล : สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ , ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี , กองพลทหารราบที่ 6 , กองทัพภาคที่ 2



ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………



เบอร์ติดต่อ
สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์ โทร. 0 2653 4444 ต่อ 3313 – 5 , ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี , กองพลทหารราบที่ 6 บ้านโสกเชือก ตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด โทรศัพท์ : 043-563050-1 ต่อ 25515 เว็บไซต์ : http://www.6thinfdiv.org/ , กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เว็บไซต์ : http://www.army2.mi.th/

 

 

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.