โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนาศิริ อำเภอเชียงดาว
จังหวัดมุกดาหาร

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 
แนวพระราชดำริ :

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2546 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ดอยดำ ตามพระราชดำริ บ้านนามน หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองแหง อำเภอ เวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้ พันเอกชัยพฤกษ์ อัยยะภาคย์ ผู้บังคับการหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานและความรับผิดชอบของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 ในโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านนาศิริ หมู่ที่ 2 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเชียงดาว และสภาพป่าได้ถูกบุกรุกทำลายเป็นอย่างมาก หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยนำเอาแนวทางพระราชดำริมาใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ด้วยเกรงว่าจะไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงได้ขอเข้าอยู่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ต่อมา ท่านผู้หญิง มนัสนิตย์ วณิกกุล ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้มีหนังสือ ที่ รล 0010.1/2103 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ความว่า “...และทรงมีรับสั่งว่าเมื่อเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ในปี 2547 จะเสด็จฯ ไปเยี่ยมโครงการฯ ด้วย...” ปัจจุบันโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านนาศิริ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนาศิริ
 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

1. บ้านนาศิริ หมู่ที่ 2 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พิกัด MB 837752
2. สนามเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พิกัด MB 837751
3. พลับพลาที่ประทับ พิกัด MB 846750

   
วัตถุประสงค์

1. อนุรักษ์สภาพป่าและระบบนิเวศของป่าต้นน้ำลำธารและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยชุมชนเพื่อชุมชน
2. ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมให้คืนสภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม โดยมีทั้งป่าไม้ธรรมชาติ ป่าไม้เศรษฐกิจ ป่าไม้ใช้สอย และให้ราษฎรร่วมดูแลใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างเหมาะสม
3. แก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ได้แก่ การใช้สารเคมีปราบวัชพืชสารเคมีฆ่าโรคและแมลงศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี
4. ให้ป่าเป็นแหล่งรวบรวมและผลิตอาหารให้แก่ชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องทำลายป่า แต่ช่วยบำรุงรักษาป่า
5. พัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้ดีขึ้น มีอาชีพและที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง สามารถอยู่อาศัยกับทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างสมดุล
6. จัดระเบียบและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในหมู่บ้านชายแดน ซึ่งเป็นการสนับสนุนป้องกันประเทศ และเป็นการต่อต้านขบวนการค้ายาเสพติด
7. ใช้เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการขยายผลสู่หมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร และพื้นที่อื่นๆ

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : 1. กองพลทหารราบที่ 4 โดย กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 7
2. หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 สำนักงานพัฒนาภาค 3
3. สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่
4. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่
5. ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่
6. สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่
7. สำนักชลประทานเชียงใหม่
8. กรมการศึกษานอกโรงเรียน
9. สาธารณสุขอำเภอเชียงดาว
 

ลักษณะโครงการ :

โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านนาศิริอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมนำแนวทางพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2544 ถึง ปี 2549 และผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 โดย พ.อ.ชัยพฤกษ์ อัยยะภาคย์ ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานผลการดำเนินงานโครงการ และขอนำโครงการเข้าอยู่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ต่อมาท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีหนังสือ ที่ รล 0010 ./ 2103 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ความว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านนาศิริ ไว้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธุ์ 2548 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร และทอดพระเนตรการดำเนินงานของโครงการฯ”


ผู้ได้รับประโยชน์ :

ราษฎรในหมู่บ้านนาศิริ และราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียง


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

1. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และราษฎร ลาดตระเวนเฝ้าตรวจบริเวณเส้นทางและรอบๆ พื้นที่โครงการฯ ในเวลากลางวันและกลางคืน, ปรับปรุงป้อมยาม, ฝึกทบทวนชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เป็นผลให้ราษฎรและ เจ้าหน้าที่ร่วมโครงการฯ มีความรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน
2. ลาดตระเวนและประสานงานด้านการข่าวกับหน่วยงานป้องกันชายแดนและความมั่นคงในพื้นที่ รวมทั้งจัดการฝึกอบรมราษฎรในเรื่องการข่าวเบื้องต้น และพบปะแหล่งข่าว เป็นผลให้ได้รับข่าวสารความเคลื่อนไหวของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ในประเทศเพื่อนบ้าน, การทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า, การผ่าน เข้า-ออกของบุคคลภายนอก ตลอดจนเส้นทางลำเลียงยาเสพติดและไฟป่า
3. นำราษฎรในโครงการฯ แสดงความจงรักภักดี ต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ ในโอกาสต่างๆ เป็นผลให้ราษฎรมีจิตสำนึกในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสำนึกในความเป็นไทย รักและหวงแหนแผ่นดินไทย
4. ร่วมกับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 เข้าดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านนาศิริ โดยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยขั้นบันได, การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก
5. สร้างฝายต้นน้ำชะลอความชื้น โดยก่อสร้างตามแนวร่องเขาทั่วทั้งพื้นที่หุบเขาบ้านนาศิริ ในพื้นที่ทำกินและในเขตป่าอนุรักษ์ จำนวน 80 แห่ง
6. จัดการฝึกอบรมอาชีพตามความพร้อมและความต้องการของชุมชน เพื่อให้ราษฎรได้รับความรู้และเกิดทักษะในอาชีพสามารนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและสร้างรายได้ให้ครัวเรือน
7. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จัดการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 1 รุ่น และอบรมราษฎรอาสาสมัครป้องกันไฟป่า จำนวน 1 รุ่น
8. จัดตั้งกลุ่มเพาะเลี้ยงหมูป่า จำนวน 1 กลุ่ม ราษฎรเข้าร่วมโครงการจำนวน 9 ครัวเรือน

 

ความสำเร็จของโครงการ :

ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ราษฎรและชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ป่า สามารถอยู่อาศัยกับป่าอย่างมีความสุข มีความรู้ความเข้าใจในคุณประโยชน์ของป่า ตลอดจนสามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ อันนำมาซึ่งความเข้มแข็ง เป็นระเบียบของชุมชน สามารถเป็น แนวต้านทานภัยคุกคามความมั่นคงและภัยยาเสพติดได้

 
   


ที่มาของข้อมูล : ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่, ส่วนโครงการพระราชดำริและความมั่นคง (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช )

ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………

ที่อยู่
…………………………………………………………………………

 

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.