โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก)
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดจันทบุร

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 
แนวพระราชดำริ :

พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ถือเป็นผืนป่าใหญ่ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ 5 จังหวัด ของภาคตะวันออก ทั้งด้านอุปโภค บริโภค และการเพาะปลูก เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาพันธุ์ ถือได้ว่าเป็นป่าดงดิบลุ่มต่ำเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อระหว่างระบบนิเวศภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย และพิเศษไปกว่าป่าอื่นๆ ในภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมายกว่า 600 ชนิด ที่สำคัญคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ แต่ด้วยป่าผืนนี้ถูกบุกรุกทำลาย ทั้งการตัดฟันไม้ การเผาป่า การล่าสัตว์ การบุกรุกยึดครองจากนายทุนผู้มีอิทธิพล ทำให้พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดลดลงอย่างรวดเร็ว สภาพป่าอยู่ในขั้นวิกฤติ สัตว์ป่าถูกล่า จนเกือบสูญพันธุ์ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เกิดความแห้งแล้ง และอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2525 กองทัพภาคที่ 1 เห็นว่าพื้นที่บางส่วนของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด มีการซ่องสุมของกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตลอดจนมีกลุ่มผู้มีอิทธิพล ผู้แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงได้มีประกาศให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของผืนป่า เป็นพื้นที่หวงห้าม ห้ามคนเข้าไปบุกรุกอาศัย แต่สถานการณ์การบุกรุกกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2537 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมป่าไม้ในขณะนั้น ให้ดำเนินการจัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ดำเนินการด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ และสาธารณูปโภค ซึ่งดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นมา 5 แห่ง คือ หมู่บ้านโครงการป่าเขาฉกรรจ์-โนนสาวเอ้ 1,2,3 หมู่บ้าน โครงการแควระบม-สียัด 1,2 ซึ่งรวมเนื้อที่ดำเนินการไปแล้วจำนวนถึง 4 หมื่นกว่าไร่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบถึงความเสื่อมโทรมของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก จึงทรงรับโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออกไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2536 โดยสำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือแจ้งกรมป่าไม้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริจะให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้มีความสมบูรณ์เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและรักษาสภาพแวดล้อมตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในชุมชนที่อพยพจากป่าและชุมชนที่อาศัยอยู่ติดแนวเขตป่าอนุรักษ์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพระองค์เสด็จตรวจเยี่ยมราษฎรเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2537 และดำเนินการต่อมาโดยมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้จัดสรรงบประมาณ ลงดำเนินการในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ถือเป็นผืนป่าใหญ่ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ 5 จังหวัด ของภาคตะวันออก ทั้งด้านอุปโภค บริโภค และการเพาะปลูก เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาพันธุ์ ถือได้ว่าเป็นป่าดงดิบลุ่มต่ำเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อระหว่างระบบนิเวศภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย และพิเศษไปกว่าป่าอื่นๆ ในภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมายกว่า 600 ชนิด ที่สำคัญคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่

 
 
ที่ตั้งของโครงการ : ู่พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด คือการรวมพื้นที่ป่าต่างๆ ในภาคตะวันออก เป็นผืนเดียวกัน มีพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 1,470,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง และชลบุรี โดยรวมพื้นที่ป่า 5 แห่งไว้ด้วยกัน คือ
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เนื้อที่ 643,750 ไร่
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เนื้อที่ 465,340 ไร่
- อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา - เขาวง เนื้อที่ 52,300 ไร่
- อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ เนื้อที่ 36,687 ไร่
- พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และพื้นที่ป่าสงวนอื่น ๆ ที่ยังคงสภาพอยู่โดยรอบ อีกประมาณ 100,000 ไร่
   
วัตถุประสงค์โครงการ :

1. เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์ผืนป่า ให้ดำรงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
2. เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่เสื่อมโทรม และปลูกป่า เพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำลำธารในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
3. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่อพยพมาจากพื้นที่โครงการ รวมทั้งชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินใกล้กับแนวเขตให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมจากทรัพยากรธรรมชาติ และไม่หวนกลับไปบุกรุกทำลายป่าอนุรักษ์อีก
4. เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มากขึ้นอีกอันจะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรในระยะยาว
5. เพื่อลดจำนวน ขบวนการลักลอบทำลายป่าไม้ โดยการใช้หลักกฎหมายหลักเกณฑ์ทางสังคม รวมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าผืนนี้ให้คงอยู่ตลอดไป

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

กรมป่าไม้ กองทัพภาคที่ 1 ( โดย กรมทหารพรานที่ 13 ) - สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

 

ลักษณะโครงการ :
พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เดิมคือป่าพนมสารคามอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศมีอาณาเขตติดต่อกัน 5 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และสระแก้ว เดิมเป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกับป่าในประเทศกัมพูชา ต่อมาถูกบุกรุกทำลายจนแทบไม่เหลือสภาพป่า ในปี 2510 ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเดิมมีพื้นที่ประมาณ 5 ล้านไร่ ปัจจุบันเมื่อรวมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน,เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว, อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา - เขาวง, อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ มีพื้นที่รวมกันเหลือเพียงประมาณ 1,198,077 ไร่ การทำลายป่าไม้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง เช่น เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี 2526, 2531 และ 2533 ตลอดจนสภาวะน้ำเค็มหนุนขึ้นสูงในแม่น้ำบางปะกง ถึงอำเภอบางคล้า หรือบางทีถึงอำเภอพนมสารคาม ในฤดูแล้ง เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งกองอำนวยการศูนย์พิทักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดขึ้น โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ และกำลังทหารพราน ร่วมกันดำเนินการตรวจลาดตระเวน เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2531 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมป่าไม้ ดำเนินการจัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ในช่วงปี 2532 - 2536 เรื่อยมาตามลำดับ ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 (5) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ.2535 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ที่ 3/2537 ลงนามโดย นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี และคำสั่งที่ 1/2538 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ลงนามโดย ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ประธานบริหารโครงการ ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการครั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธานอนุกรรมการดำเนินงานโครงการ และมีผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด เป็นรองประธานอนุกรรมการดำเนินงานโครงการ คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา,จังหวัดชลบุรี,จังหวัดจันทบุรี,จังหวัดระยอง,จังหวัดสระแก้ว และผู้แทนส่วนราชการต่างๆ เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 1 เป็นเลขานุการ และผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 13 หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ผู้ได้รับประโยชน์ :
เกษตรกรในพื้นที่และประชาชนทั่วไป

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

1. ดำเนินการสำรวจข้อมูล รวมทั้งสิ้น 61 หมู่บ้าน ในเขตป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (เนื้อที่ 643,750 ไร่)
2. การรังวัดแนวเขตรอบป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร
3. การอนุรักษ์พื้นที่ป่าและการปลูกป่าเสริมป่า
4. การพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ของราษฎร
5. การแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพลและนายทุน

 

ความสำเร็จของโครงการ :

1. เป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์ป่าผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก อันเป็นต้นน้ำลำธารของจังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี มิให้ถูกบุกรุกทำลายและดำรงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม  
2. ป่าไม้ในพื้นที่เสื่อมโทรม ได้รับการฟื้นฟูและปลูกเพิ่มเติมเพื่ออนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธาร
3. ชุมชนที่อพยพมาจากพื้นที่ป่า รวมทั้งชุมชนที่อยู่อาศัย และทำกินใกล้ชิดกับแนวเขตป่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมจากทรัพยากรธรรมชาติ และไม่หวนกลับไปบุกรุกทำลายป่าอนุรักษ์อีกต่อไป   
4. ก่อให้เกิดการพัฒนา เพิ่มพูนคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่มากขึ้น อันเป็นประโยชน์แก่ราษฎร ในระยะยาว  
5. สามารถขจัดอิทธิพล ขบวนการลักลอบทำลายโดยใช้หลักกฎหมายและหลักเกณฑ์ทางสังคม รวมทั้งสามารถสร้างจิตสำนึก ให้ประชาชนเกิดความรัก หวงแหน ปกป้อง และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้คงอยู่ตลอดไป

 
   


ที่มาของข้อมูล : เอกสารสำนักงานมูลนิธิรอยต่อ 5 จังหวัด
ผู้ที่เกี่ยวข้อง -
เบอร์ติดต่อ : 038-020510 , 038 - 894378
ที่อยู่ : เลขที่ 872 พหลโยธิน ซอย 8 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพ 10400

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.