โครงการจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันพืช และผลิตไบโอดีเซลครบวงจร
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

โรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร ในพื้นที่โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องการศึกษาการนำปาล์มน้ำมันไปใช้แปรรูปเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งทรงให้ความสนพระทัยมาตั้งแต่ปี 2518 จากการที่ได้ทอดพระเนตรสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรที่นิคมสร้างตนเองควนกาหลง จังหวัดสตูล จากนั้นพระราชทานพระราชกระแสให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สร้างโรงงานสาธิตสกัดน้ำมันปาล์มที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาประสานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อจัดทำโครงการเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันและพืชพลังงานทดแทน ประกอบด้วยโครงการจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซล โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านไบโอดีเซลเพื่อการแข่งขัน โครงการวิจัยการทดสอบใช้น้ำมันปาล์มดิบและไบโอดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซล และโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

พื้นที่โครงการปลูกป่า ชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

   
วัตถุประสงค์

-

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

1. มูลนิธิชัยพัฒนา
2. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
3. กรมการทหารช่าง

 

ลักษณะโครงการ :

หลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เสด็จฯ ไปยังโรงงานฯ และทรงกดปุ่มเริ่มการทำงานเครื่องจักร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2549 โรงงานสกัดน้ำมันพืช และผลิตไบโอดีเซลครบวงจร ได้เริ่มผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ชนิด บี 100 โดยได้จำหน่ายให้กับโครงการปลูกป่าชัยพัฒนา - แม่ฟ้าหลวง เพื่อการทดสอบใช้กับยานพาหนะ และเครื่องจักรการเกษตร รวมทั้งนำมาใช้กับรถยนต์ในโครงการ และใช้ในเตาความร้อน
         
ในส่วนของการสกัดน้ำมันปาล์มในขั้นตอนของการทอดผลปาล์มที่สามารถทอดผลปาล์มได้เพียง 800 กิโลกรัม/วัน (1,140 กิโลกรัมปาล์มทะลาย/วัน) จากที่ประมาณการในขั้นตอนการออกแบบว่าจะสามารถทอดผลปาล์มร่วงได้ถึง 1,600 กิโลกรัม/วัน ในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อผลผลิตปาล์มที่ปลูกในโครงการ 240 ไร่ ถ้าให้ผลผลิต 2,000 - 5,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี แล้ว หากคิดเป็นผลผลิตต่อวันจะให้ผลผลิตประมาณ 1,300 - 3,200 กิโลกรัม/วัน ซึ่งการทอดด้วยกะทะเดิม 6 ใบคงไม่เพียงพอ การขยายต่อเติมอุปกรณ์การทอดจึงมีความจำเป็น เพื่อให้การแปรรูปผลปาล์มสอดคล้องกับผลผลิตที่จะป้อนเข้าสู่โรงงาน
         
ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่สกัดได้ทั้งหมดมีจำนวน 14,568 กิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วนน้ำมันเท่ากับร้อยละ 14 ของผลปาล์มรวมเข้า สาเหตุที่สัดส่วนน้ำมันที่ได้ต่ำ เนื่องจากผลปาล์มที่รับซื้อจากเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผลปาล์มจากต้นปาล์มที่มีอายุประมาณ 3 ปี น้ำหนักต่อทะลายประมาณ 2 - 5 กิโลกรัม/ทะลาย เท่านั้น
         
ในส่วนการผลิตเป็นไบโอดีเซล เนื่องจากปัญหาน้ำมันพืชใช้แล้วราคาสูงขึ้นและขาดตลาด จึงส่งผลให้เมื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลแล้วราคาใกล้เคียงราคาน้ำมันดีเซลในท้องตลาด และถึงแม้ว่าน้ำมันปาล์มดิบในแปลงปลูกของโครงการเองและของเกษตรกรในพื้นที่จะมีผลปาล์มที่มากพอที่จะสามารถป้อนเข้าสู่โรงงานได้ แต่ราคาที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ ส่งผลให้การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มอย่างเดียวจึงยังไม่คุ้มทุน นอกจากนี้ ขั้นตอนการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มดิบจะมีการสูญเสียน้ำมันมากในขั้นตอนของการลดกรด โครงการฯ จึงได้พยายามปรับปรุงขั้นตอนการผลิตเพื่อลดการสูญเสียดังกล่าว โดยขณะนี้อยู่ในช่วงการจัดหาผู้ประกอบที่รับสร้างถังผลิตไบโอดีเซลแบบใหม่ให้

นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2551 มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมโครงการ รวมทั้งสิ้น 1,880 คน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร และบริษัทเอกชนขนาดเล็ก ซึ่งต้องการนำเทคโนโลยีการผลิตไปใช้ เพื่อลดต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องจักรการเกษตร และต้นทุนการขนส่งสินค้า


ผู้ได้รับประโยชน์ :

ราษฎรในพื้นที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงผู้ที่สนใจ


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ โรงงานแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับใช้ในการศึกษาทดลองการผลิตน้ำมันที่จะใช้เป็นพลังงานทดแทนจากพืชและผลิตน้ำมันไบโอดีเซลแบบครบวงจรจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วและน้ำมันพืชพลังงานชนิดต่างๆ และเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนในโอกาสต่อไป และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช-กุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตน้ำมันไบโอดีเซลครบวงจร เพื่อทรงกดปุ่มเดินเครื่องจักรของโรงงานปาล์มน้ำมันผลิตไบโอดีเซล และเสด็จพระดำเนินไปยังสถานีจ่ายน้ำมัน ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้การสนับสนุน เพื่อทรงเติมน้ำมันไบโอดีเซลแก่รถยนต์ของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา

 

ความสำเร็จของโครงการ :

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงค้นพบมากว่า 30 ปีแล้วว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชน้ำมันที่ให้ปริมาณน้ำมันสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดใดๆ ในโลก และทรงมีพระราชดำริที่แน่วแน่ให้ทำการวิจัยและพัฒนาโรงงานแปรรูปปาล์มน้ำมันครบวงจรขนาดเล็กรวมไปถึงการผลิตไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนของประเทศไทยในอนาคตเมื่อน้ำมันปิโตรเลียมจะหมดไปจากโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำเนินการสนองพระราชดำริมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องจนมีผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นหลายชิ้นและล่าสุดได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ร่วมจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซล ที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปี 2549 และปัจจุบันได้จัดตั้งสถานวิจัยด้านปาล์มน้ำมัน ไบโอดีเซล และการแปรรูปน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์พลอยได้รวม 3 สถานวิจัยแล้ว คณะผู้บริหารและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทุกคนต่างมีความมุ่งมั่นและขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะทุ่มเทสติปัญญาความรู้ความสามารถทั้งหมดดำเนินการสนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่องตลอดไป

ปัจจุบัน มีผู้เดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตน้ำมันไบโอดีเซลครบวงจร เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อศึกษาและนำไปเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนขนาดเล็กได้ใช้เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะสามารถใช้ผลปาล์มดิบมาผลิตเป็นน้ำมันปาล์ม และยังสามารถใช้น้ำมันที่ใช้แล้ว และน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ มาผลิตเป็นไบโอดีเซลได้ต่อไป

 
   


ที่มาของข้อมูล : 1. มูลนิธิชัยพัฒนา
2. ศูนย์วิทบริการวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

ที่อยู่.............................

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.