โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี๊ยง
จังหวัดน่าน

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 
แนวพระราชดำริ :

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณบ้านสะจุก - สะเกี้ยง ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ทอดพระเนตรสภาพพื้นที่เตรียมการจัดตั้งโครงการตามพระราชดำริ เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรชาวไทยพื้นเมืองและชาวไทยภูเขาเผ่าลั๊วะ 97 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่บริเวณ ดอยขุนน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยภูผาแดง ให้มีที่อยู่ที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ตลอดจนช่วย อนุรักษ์ป่าต้นน้ำและลำห้วยงัด ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำน่าน ให้สามารถยังประโยชน์ด้านการเกษตรสืบไป นอกจากนี้ยังจะสามารถช่วยลดปัญหาการแผ้วถางทำลายป่า ด้วยการปลูกจิตสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด และเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานภาครัฐ ในการสกัดกั้นเส้นทางการลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดนด้วย จากการสำรวจพบว่าลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็น ภูเขาสูง อากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี เนื่องจากมีกระแสลมพัดผ่านค่อนข้างแรง พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกบุกรุกถางทำลายเพื่อ ใช้เป็นที่ทำกิน และพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ไร่เก่าที่ถูกทิ้งร้าง แต่บริเวณตอนล่างของพื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยการปลูกข้าวและพืชผักบางชนิด บางส่วนทำสวนผลไม้และรับจ้างทั่วไป ด้านการคมนาคมระหว่างหมู่บ้านเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเป็นทางลูกรังและเป็นถนนดินบางช่วง นอกจากนี้ยัง อยู่ห่างจากแนวชายแดนเพียง 2 กิโลเมตร

 
 
ที่ตั้งของโครงการ : บ้านสะจุก หมู่ที่ 7 ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน 
   
วัตถุประสงค์โครงการ :

1. เพื่อสนับสนุนโดยการประสานงานและการคุ้มครองป้องกันชุมชน ให้หน่วยงานร่วมโครงการ ตลอดจนราษฎรใน โครงการ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางพระราชดำริ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ ซึ่งได้แก่
1.1 จัดตั้งสถานีทดลองเกษตรในที่สูง เพื่อใช้พื้นที่ที่ถูกแผ้วถางแล้วมาทำประโยชน์ให้เกิดผลผลิตสูงสุด เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการฯ
1.2 ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม ให้กลับคืนสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม
1.3 อนุรักษ์สภาพป่าไม้ และพันธุ์สัตว์ป่า ที่ยังมีเหลืออยู่ในพื้นที่ป่า โดยให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในลักษณะ ของการฝึกราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า
1.4 ฝึกอบรมเกษตรแบบครบวงจร   เพื่อให้ราษฎรเรียนรู้การใช้ที่ดินที่มีจำกัดให้เกิดผลผลิตที่เพียงพอ ต่อการเลี้ยงตนเองได้ รวมทั้งให้เรียนรู้การบริหารจัดการในการทำโครงการเกษตรปลอดสารเคมี และยาฆ่าแมลง เรียนรู้ด้านการ ตลาดด้วยการรวมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ การแปรรูปผลผลิตการเกษตรให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น
1.5 ช่วยให้ราษฎรมีงานทำและมีรายได้   เพื่อสนับสนุนรัฐบาล   ในการแก้ไขปัญหาการว่างงาน การกระจายราย ได้ไปสู่ราษฎรในชนบทที่ยังอยู่ใต้เส้นระดับยากจน และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2. เพื่อลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ ด้วยการเคลื่อนไหวในพื้นที่ การปฏิบัติการจิตวิทยา การประชาสัมพันธ์ และการปลูกจิตสำนึกการมีส่วนร่วม และสร้างความเข้มแข็งให้เกิดแก่ชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะ งานการป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของยาเสพติด จากภายนอกประเทศ

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : จังหวัดทหารบกน่าน , สำนักงานเกษตรจังหวัด
 

ลักษณะโครงการ :
- ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรแก่เกษตรกรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และบริบทของชุมชน
- สนับสนุนปัจจัยการผลิตและวัสดุการเกษตรแก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการตามความต้องการของเกษตรกรภายใต้การวางแผนการผลิตของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม
- ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่สามารถอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน

ผู้ได้รับประโยชน์ :
ราษฎรในหมู่บ้านสะจุก - สะเกี้ยง และหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :
- เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และบริบทของชุมชน สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติในไร่นาได้ดี
- มีการปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง เช่น ชาอัสสัม กาแฟ ไม้ผลเมืองหนาว และปลูกพืชผักเพื่อบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนจำหน่ายในพื้นที่ รวมทั้งผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
- มีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุในพื้นที่การเกษตรเพื่อให้เหมาะสมกับชนิดพืช
- มีการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เพื่อรับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปผลผลิตเกษตร การถนอมอาหารเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนยามขาดแคลน และจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้
- มีอาหารที่เพียงพอเพื่อบริโภคในครัวเรือนส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ครอบครัว โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสมีสุขภาพที่ดีขึ้น
- เกิดวิสาหกิจชุมชนที่ก่อกำเนิดจากความต้องการของชุมชน เพื่อชุมชน
- มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่า อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า
 

ความสำเร็จของโครงการ :

“คนอยู่คู่กับป่าอย่างเกื้อกูลกัน”
“เร่งฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำบริเวณยอดดอยขุนน่าน ให้มีความสมบูรณ์ดังเดิม”
“จ้างราษฎรในพื้นที่มาฝึกปฏิบัติงานในสถานีฯ แล้วนำไปขยายผลทำในพื้นที่ของตนเอง”
นี่คือแนวพระราชดำริที่องค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานให้เป็นแนวทางในการจัดทำ “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง” ซึ่ง ตั้งอยู่ที่ บ้านสะจุกหมู่ที่ 7 และบ้านสะเกี้ยง หมู่ที่ 8 ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน มีพื้นที่จำนวน 500 ไร่ และโครงการคลอบคลุมพื้นที่ 37,939ไร่
เมื่ออดีตหมู่บ้านสะจุก-สะเกี้ยง มีสภาพของแหล่งทำมาหากินที่เสื่อมโทรม มีการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะ และมีคนพื้นเมืองอาศัยอยู่บางส่วน ส่วนใหญ่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวไร่แบบหมุนเวียน และรับจ้าง นับถือผี และชาวบ้านมากกว่าครึ่งไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ เรียกได้ว่าสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านไม่ดีนัก มีรายต่ำ แต่เมื่อมีโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริฯ เข้ามาช่วยเหลือ และส่งเสริมการทำเกษตร การทำปศุสัตว์ ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีผลผลิตที่ดี ส่งผลให้มีรายได้สูงขึ้น สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้สบาย

จากการบุกลุกทำลายป่า สู่การพัฒนาพื้นที่การเกษตร
ชิดชนก สุขมงคล หัวหน้าโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ได้บอกเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของ “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก - สะเกี้ยง” ว่า เกิดขึ้นมาจากการที่เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านสะจุก หมู่ที่ 7 และบ้านสะเกี้ยง หมู่ที่ 8 ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา-ผาแดง และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน ทรงพบว่ามีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้เป็นจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ขึ้นเป็นโครงการพระราชดำริแห่งที่ 3 ที่ทรงพระราชทานให้แก่จังหวัดน่าน

ทุ่งนาขั้นบันได
”เมื่อก่อนชาวบ้านเผ่าลัวะ มีการทำนากันมาอยู่แล้ว แต่เป็นการทำนาข้าวแบบกระทุ้งหยอดแบบเดิม ผลผลิตของข้าวที่ได้ต่ำ ปลูกแล้วไม่พอกินเอง ต้องไปซื้อข้าวจากที่อื่น และการทำนาแบบนี้ก็ไม่สร้างรายได้มากนัก จนกระทั่งเมื่อโครงการฯ ได้เข้ามา ก็ทำการช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำนาแบบขั้นบันไดแทน ซึ่งเหมาะกับสภาพของพื้นที่ที่เป็นภูเขา ซึ่งการทำนาแบบขั้นบันได คือการสกัดไหล่เขาให้เป็นชั้นๆลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได เพื่อช่วยเพิ่มเนื้อที่ในการเพาะปลูก เป็นการรักษาหน้าดินไม่ให้ถูกชะล้างไป และช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำ” ชิดชนก กล่าว

ชีวิตที่เปลี่ยนแปลง มีรายได้มากขึ้น
นายสมบูรณ์ บัวเหล็ก อายุ 37 ปี เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะที่ตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ที่บ้านสะจุก-สะเกี้ยงมา นมนาน ได้บอกเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่มีโครงการพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริฯ นี้ขึ้นมาทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเมื่ออดีตเป็นอย่างมาก
“ทุกวันนี้มีชีวิตที่ดีขึ้นมาก เมื่อก่อนทำไร่แบบเลื่อนลอยมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตายาย และทำมาตลอด จนกระทั่งเมือปี 47 ก็ได้หันมาทำนาแบบขั้นบันได เพราะได้ผลผลิตที่ดีขึ้น การทำนาแบบนี้ไม่ยาก ทีแรกก็เตรียมพื้นที่ของเราที่เป็นแบบเนินภูเขา แล้วขุดดินลงไป และก็เอาก้อนหินมาคั่นให้เป็นคันนา พันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกเป็นข้าวไร่ การปลูกข้าวที่นี่เก็บเกี่ยวแค่ปีละครั้งเท่านั้น ตั้งแต่เข้ามาอยู่ในโครงการพระราชดำริฯ ก็ได้ผลลิตที่ดี มีรายได้ดีขึ้นมาก” สมบูรณ์กล่าว และนอกจากการหันมาทำนาแบบขั้นบันไดแล้ว ทางโครงการพระราชดำริฯ ยังได้แนะนำให้สมบูรณ์หันมาปลูกผักขาย และเลี้ยงสัตว์อย่างหมู ไก่ และเป็ด เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งคุณสมบูรณ์ได้พูดถึงความในใจที่มีต่อโครงการพระราชดำริฯ ขององค์สมเด็จพระราชินีที่หยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้ชาวบ้านเผ่าลัวะอย่าง พวกเขาว่า
“รู้สึกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น สามารถเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัวได้ ไม่ต้องไปทำเลื่อนลอยอีกแล้ว” คำพูดอันซาบซึ้งจากใจของสมบูรณ์

พัฒนาในหลายๆ ด้านเพื่อวิถีชีวิตที่ดีของชาวบ้าน
หัวหน้าโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ได้บอกกล่าวอีกว่า นอกจากการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาทำนาแบบขั้นบันได ที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ และได้ผลผลิตของข้าวสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากขึ้นแล้ว ยังได้มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักเมืองหนาว อย่างเช่น สตรอเบอร์รี่ ปลูกต้นหม่อน และปลูกผักปลอดสารพิษ โดยแนะนำให้ปลูกผักหลังการทำนา เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
อีกทั้งยังได้มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำปศุสัตว์อื่นๆ อีกด้วย อย่างเช่น มีการนำเป็ด แกะ และแพะมาเลี้ยงในโครงการฯ ก่อน แล้วก็ทำการส่งเสริมและให้สัตว์เหล่านี้แก่ชาวบ้าน เพื่อนำไปเลี้ยงในพื้นที่ของตัวเอง เป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง
และมีการสนับสนุนให้ทำการประมง โดยมีการสำรวจรวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ เพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์แล้วนำกลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รวมทั้งส่งเสริมพันธุ์ปลากินพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้แก่ชาวบ้านที่ สนใจ เพื่อนำไปเลี้ยง โดยแนะนำให้ขุดบ่อเลี้ยงปลา เป็นบ่อดินขนาด 4 x 6 เมตร เพื่อเลี้ยงปลาไว้กินเอง หรือไว้จำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว
กล่าวได้ว่าเมื่อมี “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง”ขึ้น ทำให้ชาวบ้านเผ่าลัวะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ที่ดีขึ้นมาก และสภาพภูมิประเทศของยอดดอยขุนน่าน ก็กลับฟื้นคืนสภาพจากที่เคยเสื่อมโทรมเพราะการบุกรุกทำลายป่า ก็ฟื้นคืนสภาพมีความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้และต้นน้ำลำธาร ทำให้ทุกวันนี้บ้านสะจุก-สะเกี้ย มีทัศนียภาพที่งดงาม มีนาขั้นบันไดที่สวยงาม เชิญชวนให้มาท่องเที่ยวศึกษา ซึ่งหากใครเป็นผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพเหมือนเช่นกลุ่มสหภาพชุมชนคนถ่ายภาพ ก็สามารถเดินทางมาเก็บภาพความสวยงามของนาขั้นบันไดอันเขียวขจีกันได้ พร้อมกับจะได้เรียนรู้การดำเนินวิถีชีวิตที่พอเพียง แบบอาศัยเกื้อกูลกันระหว่างคนกับป่า อย่างที่ชาวบ้านสะจุก –สะเกี้ยง ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต

   


ที่มาของข้อมูล : กรมชลประทาน สำนักงาน กปร. www.dnp.go.th ,www.nannasi.com , www.manager.co.th


ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.