โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านโคกก่อง
จังหวัดมหาสารคาม

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ : สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 
แนวพระราชดำริ :

เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 นั้น และเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนบ้านโคกก่อง ในการเสด็จครั้งนั้น ส่วนราชการได้คัดเลือกราษฎรที่ยากจนจากบ้านโคกก่อง และบ้านใกล้เคียง เพื่อขอพระราชทานเข้าเฝ้า ทรงทราบถึงความเดือดร้อน เพราะพื้นที่บ้านโคกก่องประสบปัญหาความแห้งแล้ง ฝนไม่ตก การเพาะปลูกไม่ได้ผล ราษฎรมีรายได้น้อย ทำให้เกิดปัญหาความยากจน พระองค์ทรงมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของราษฎร จึงพระราชทานความช่วยเหลือโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ประกอบอาชีพ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว และมีพระราชเสาวนีย์ ให้นำไปเป็นทุนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหม และทรงรับราษฎรเข้าเป็นสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระองค์ต่อไป

เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 1 ได้มีคำสั่งให้ จังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด ติดตามผลการดำเนินการของราษฎรตามพระราชเสาวนีย์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นต้นมา และได้มีราษฎรแจ้งความประสงค์ขอบริจาคที่ดินให้เป็นที่สร้างโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านโคกก่อง คือ นายถิน เสนหาร ราษฎรบ้านโคกก่อง ขอบริจาคที่ดินจำนวน 7 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา และนายดำ คนรู้ บริจาคที่ดินจำนวน 3 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา รวมที่ดินจำนวน 11 ไร่ 90 ตารางวา และต่อมากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ได้ออกคำสั่ง กอ.รมน.ภาค 2 ที่ 029/2537 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 ให้กองพลพัฒนาที่ 2 รับผิดชอบ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2538 กองพลพัฒนาที่ 2 ได้จัดชุดปฏิบัติการรับผิดชอบโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านโคกก่อง เป็นต้นมา

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

บ้านโคกก่อง หมู่ที่ 7 ตำบลหนองแดง อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม พิกัด 48 P TC 797567

   
วัตถุประสงค์

1. ติดตามผลการดำเนินงานของราษฎรตามพระราชเสาวนีย์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
2. อนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้า จากภูมิปัญญาท้องถิ่น การทอผ้าไหมพื้นบ้านมิให้สูญหาย
3. เพื่อเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชน ให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการทำนา ทำไร่ ซึ่งเป็นอาชีพหลัก

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กองพลพัฒนาที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2   
 

ลักษณะโครงการ :

เป็นโครงการส่งเสริมศิลปาชีพอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงพระราชทานให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร ในด้านการทอผ้า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การมัดหมี่ การปักผ้า และเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของราษฎรยากจน ที่ทรงรับเป็นสมาชิกมูลนิธิศิลปาชีพ 540 คน ผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ 17 คน และนักเรียนทุนในพระบรมราชานุเคราะห์ 2 คน โดยเป็นส่วนประสานงานและเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ของสมาชิกส่งจำหน่ายยังกองศิลปาชีพ สวนจิตรลดา
สำหรับโครงการส่งเสริมศิลปาชีพอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ดำเนินการ ได้แก่
1. อำเภอนาเชือก         จังหวัดมหาสารคาม
2. อำเภอบรบือ           จังหวัดมหาสารคาม
3. อำเภอเปือยน้อย       จังหวัดขอนแก่น
4. อำเภอหนองสองห้อง  จังหวัดขอนแก่น
5. อำเภอนาโพธิ์                    จังหวัดบุรีรัมย์
(5 อำเภอ 13 ตำบล 63 หมู่บ้าน)

การดำเนินการตามพระราชเสาวนีย์
กลุ่มทอผ้าไหม
- มีสมาชิก 529 คน
- ส่งผ้าไหมจำหน่าย กรส. สวนจิตรลดา จำนวน 722 ชิ้น
- ความยาว 7,844.80 เมตร คิดเป็นเงิน 2,353,440 บาท
- จำหน่ายในพื้นที่ จำนวน 4,519 ชิ้น คิดเป็นเงิน 4,115,800 บาท
กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 
- มีสมาชิก 55 คน
- สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมด้วย เส้นไหมที่เหลือจากการทอผ้าไหม ส่งจำหน่าย กรส. สวนจิตรลดา จำนวน 15.45 กก. คิดเป็นเงิน 18,540 บาท
กลุ่มแกะสลักไม้  
- มีสมาชิก 5 คน ไม่มีผลิตภัณฑ์จำหน่าย
กลุ่มเขียนลาย 
- มีสมาชิก 2 คน ไม่มีผลิตภัณฑ์จำหน่าย
กลุ่มจักสาน
- มีสมาชิก 1 คน
- ส่งผลิตภัณฑ์ จำหน่าย กรส. สวนจิตรลดา จำนวน 18 ชิ้น คิดเป็นเงิน 2,160 บาท


ผู้ได้รับประโยชน์ :

บ้านโคกก่อง หมู่ที่ 7 ตำบลหนองแดง อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม และราษฎรที่อยู่บริเวณรอบๆ โครงการ


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

การพัฒนาฝีมือ กลุ่มผ้าไหมบ้านหัวนาไทยได้รับการฝึกอบรมจากศูนย์หัตถกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม บวกกับภูมิปัญญาของสมาชิกสามารถทอผ้าไหมได้มากกว่า 20 ลาย กระทั่งได้รับพระมหากรุณาจากองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงรับไว้เป็นสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพบ้านโคกก่อง ตำบลหนองแดง อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ทำให้กลุ่มมีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าไหม ดังวิสัยทัศน์ของกลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านหัวนาไทย คือ “ผลิตภัณฑ์หลากหลาย สร้างลายมัดหมี่ สวยเนื้อแน่นชั้นดี มีมาตรฐาน เป็นศูนย์บริการฝึกอาชีพ” ขึ้น ด้านบนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวนาไทย มีลวดลายการถักทอตามจินตนาการจากของใช้และจากรูปสัตว์ที่พบเห็นในชุมชน และลายที่ประยุกต์ เช่น ลายสร้อยดอกหมาก ลายขอพระเทพ ลายขอทบ ลายดอกมะลิ (ลายกงน้อย) ลายแมงมุม ลายแมงสีเสียด ลายแมงป่อง ลายเต่าน้อย ลายขอกนก ลายหัวใจว่าง ลายพรม 5 ลายพรม 7 ลายนกยูง ลายกุญแจ ลายนั่งเทียน ลายปลาหมึก ลายสามลำ ลายไก่ ลายผีเสื้อ ลายนาคน้อย ลายพื้นน้ำ ลายข้าวสาร ลายเพลงผ้า ลายกระจับร่าย และลายเพลงผ้า โดยมีลายที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านหัวนาไทย คือ ลายกงน้อย และมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของกลุ่มอื่น คือ ใช้วัตถุดิบเส้นไหมแท้ทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง สีสวยสม่ำเสมอ สีไม่ตก เนื้อแน่น หนาขึ้นด้านบนสืบสานภูมิปัญญาสู่รุ่นลูกหลาน ทำให้คนในชุมชนมีการรวมกลุ่มกันเพื่อรับความรู้ สร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน เกิดความผูกพัน โดยได้ร่วมกันจัดผ้าป่าเพื่อสมทบทุนกลุ่มเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท

 

ความสำเร็จของโครงการ :

เมื่อปี 2535 ก่อนเข้าเป็นสมาชิกโครงการฯ ราษฎรในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยจำนวน 9,000 บาท/ครอบครัว/ปี จากการที่พระองค์ทรงรับราษฎรเข้าเป็นสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ได้ส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ ทำให้ปัจจุบันมีรายได้ เฉลี่ย 24,687 บาท/ครอบครัว/ปี ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม จำนวน 15,687 บาท/ครอบครัว/ปี
กิจกรรมที่กองทัพบก ได้ให้หน่วยงานดำเนินการ
- โครงการปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ
- ปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวน 137,600 ต้น
- ปลูกเพื่อสาธิตและขยายพันธุ์ จำนวน 4,200 ต้น 
- รวมทั้งสิ้น  จำนวน  141,800 ต้น
- โครงการปลูกต้นราชพฤกษ์ เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมมายุครบ 80 พระชันษา ในปี 2550 ได้ดำเนินการปลูกต้นราชพฤกษ์ภายในโครงการฯ และในพื้นที่ของสมาชิก จำนวน 99 ต้น
- การปลูกต้นไม้เทิดพระเกียรติตามโครงการ “พลิกฟื้นผืนป่า ด้วยพระบารมี” มีนโยบายให้ดำเนินการปลูกเป็นประจำทุกเดือน เบื้องต้นได้ดำเนินการสร้างเรือนเพาะชำ เพื่อทำการเพาะกล้าพันธุ์ไม้สำหรับปลูกตามโครงการ และขอรับการสนับสนุนจากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ สำหรับพักกล้าไม้ จำนวน 1,000 ต้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการปลูกไปแล้วภายในพื้นที่สาธารณประโยชน์ โรงเรียน วัด และแนวฝาย จำนวน 9 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 1,440 ต้น
กองพลพัฒนาที่ 2 ได้ริเริ่มนโยบายเพิ่มเติมให้หน่วยขึ้นตรงที่รับผิดชอบโครงการฯ ทุกโครงการ ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริขึ้น เพื่อทำการอบรมให้ความรู้และเป็นแหล่งความรู้ให้กับสมาชิกโครงการและประชาชนในพื้นที่นำไปปฏิบัติ กิจกรรมที่ดำเนินการประกอบด้วย
1. การปลูกพืชผักสวนครัว
2. การปลูกพืชไม้เลื่อยทำโดมปลูกบวบ
3. การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก
4. การใช้จุลินทรีย์ชีวภาพเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
5. การเลี้ยงเป็ดเทศและไก่พันธุ์พื้นเมือง

 
   


ที่มาของข้อมูล :
1. กองพลพัฒนาที่ 2
2. จังหวัดมหาสารคาม



ที่อยู่ กองพลพัฒนาที่ 2 อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โทร 0-4435-7902-4

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.