โครงการแก้มลิงลุ่มน้ำจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดจันทบุรี

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

       จังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่ที่ฝนตกรวมตลอดปี สูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำมาก และประสบปัญหาเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและสาธารณภัยเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุทกภัย ดินถล่ม ภัยแล้ง วาตภัย ภัยหนาว อัคคีภัย โรคระบาดสัตว์ ตลอดจนปัญหาภัยจากคมนาคมและขนส่ง ซึ่งภัยพิบัติดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนและเสียหายแก่ราษฎรหลายพื้นที่ ซึ่งสาธารณภัยที่มีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อจังหวัดที่รุนแรงมาก ได้แก่ ภัยแล้ง วาตภัย และอุทกภัย สืบเนื่องจากเมื่อปี
พ.ศ. 2542 เกิดน้ำท่วมหนักในตัวเมืองจันทบุรี เนื่องจากเกิดสภาวะฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 300 มม./วัน และติดต่อกันหลายวัน ทำให้สร้างความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของราษฎรและทางราชการเป็นจำนวนมาก โดยราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ 85,000 คน จำนวน 20,000 ครัวเรือน มูลค่าความเสียหายประมาณ 2,118.67 ล้านบาท
       ในฤดูแล้ง ปี 2549 จังหวัดจันทบุรีประสบปัญหาภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง ทั้งน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร แต่พอย่างเข้าสู่ฤดูฝน ก็ได้ประสบปัญหากับภาวะฝนตกหนัก และปริมาณน้ำมาก จนต้องประกาศภาวะภัยพิบัติจากอุทกภัย ถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 จนกระทั่งสถานการณ์รุนแรงสูงสุด จากอิทธิพลของพายุช้างสาร และหย่อมความกดอากาศในช่วงเดือนตุลาคม 2549 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นมาในจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่น้ำท่วมถึง 6 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ (จากทั้งหมด 9 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ) ราษฎรเสียชีวิต และได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก
       เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการบริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปบางส่วนได้ดังนี้
       จากภาพน้ำท่วมบ่าข้ามถนนสาย 42 หาดใหญ่-ปัตตานี นั้น ทรงรับสั่งว่า “ให้กรมชลประทานกับกรมทางหลวงมาร่วมทำงานแก้ไข” และทรงรับสั่งถึงน้ำท่วมบ่าถนนในพื้นที่อำเภอ แกลง จังหวัดระยอง และทุ่งสระบาป จังหวัดจันทบุรีด้วย “พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และชลบุรี ว่าพื้นที่เป็นเขาอยู่ใกล้ชายหาด ฝนก็พอ แต่การจัดเก็บทำได้ยาก เนื่องจากพื้นที่จากเขาที่ลาดลงมาถึงชายฝั่งนั้น ทำให้น้ำไหลเร็ว เก็บไว้ลำบากน้ำมานองท่วมตามแนวถนน หากช่วงฤดูฝนระบายน้ำทิ้งทะเลแก้ปัญหาน้ำท่วมก็จะขาดน้ำในฤดูแล้ง” ทรงรับสั่ง “ให้ศึกษาหาแนวทางแก้ไขจัดการน้ำให้พอดี” และทรงย้ำเรื่อง“การประสานความร่วมมือกัน”
       ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) และจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยมีการสำรวจสภาพลุ่มน้ำ และตรวจสอบฝายและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำจันทบุรี และลุ่มแม่น้ำเวฬุ ในเดือนมีนาคม 2552  สรุปได้ดังนี้
       1. ลุ่มน้ำจันทบุรี  มีต้นกำเนิดจากเขาสอยดาวใต้ เขาสามง่าม เขาชะอม ไหลผ่านอำเภอเมือง ออกสู่ทะเลอ่าวไทยในเขตอำเภอแหลมสิงห์ มีพื้นที่ 1,722 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 2,185.96 ล้านลูกบาศก์เมตร มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ดำเนินการแล้ว ดังนี้
                 -  อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 3 แห่ง  รวมความจุ  166 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้าง เขื่อนทุ่งเพล ความจุ 0.534 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วเสร็จปี 2553
                 -  อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 7 แห่ง รวมความจุ 1.783 ล้านลูกบาศก์เมตร
                 -  พื้นที่ “แก้มลิง” จำนวน 20 แห่ง รวมความจุ 3.066 ล้านลูกบาศก์เมตร
                 -  ฝายชะลอความชุ่มชื้น 356 แห่ง และฝายในแม่น้ำจันทบุรี 22 แห่ง
       อนึ่งฝายทั้ง 22 แห่งในแม่น้ำจันทบุรี ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดย กรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) , กรมชลประทาน (ชป.) , กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) , และฝายของ อบต. (ฝายประชาอาสา) , ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าทั้งหมดอยู่ในสภาพใช้การได้ พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เอกชนมีกรรมสิทธิ์ใช้ทำการเกษตรปลูกผลไม้ 
       2. ลุ่มน้ำเวฬุ มีต้นกำเนิดจากเขาชะอม เขามะกอก เขาสระบาป ไหลผ่านอำเภอขลุง ออกสู่ทะเลที่เกาะจิก อำเภอขลุง มีพื้นที่ประมาณ 950.80 ตารางกิโลเมตร (อยู่ในจังหวัดจันทบุรี 668.96 ตารางกิโลเมตร) ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 1,025.99 ล้านลูกบาศก์เมตร มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ดำเนินการแล้ว ดังนี้
                 -  เขื่อนคีรีธาร ขนาดความจุ 76 ล้านลูกบาศก์เมตร        
                 -  ฝายชะลอความชุ่มชื้น 187 แห่ง และประตูระบายน้ำในคลองเวฬุ 12 แห่ง
      อนึ่งฝายและประตูระบายน้ำ  ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดย กรมทรัพยากรน้ำ(ทน.) , กรมชลประทาน (ชป.) และฝายของ อบต. (ฝายประชาอาสา) ทั้งสิ้น 12 แห่ง มีฝาย 2 แห่งชำรุด และกำลังก่อสร้างอีก 1 แห่ง พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เอกชนมีกรรมสิทธิ์ ใช้ทำการเกษตรปลูกผลไม้ และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2552 นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการขุดลอกคลองข่าและวางท่อระบายน้ำลอดถนนสาย 3150 และสาย 3154 บริเวณพื้นที่ทุ่งสระบาปพร้อมกับนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ กปร. , นายจริย์ ตุลานนท์ ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. , นายกิจจา ผลภาษี ที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. และผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน

 
 
ที่ตั้งของโครงการ : 138 ถ.เทศบาลสาย 7 ตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 22120
   
วัตถุประสงค์โครงการ :

1. เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน
2. มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตรรวมทั้งการประมง
3. ลดความเสียหายจากอุทกภัย
4. เป็นแหล่งท่องเที่ยว

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) , สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) , สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดจันทบุรี , โครงการชลประทานจันทบุรี สำนักชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน , จังหวัดจันทบุรี

 

ลักษณะโครงการ :

สำหรับการดำเนินงานระยะเร่งด่วน แบ่งเป็น
1.1 งานสำรวจ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี โครงการชลประทานจันทบุรี และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการสำรวจฝาย แก้มลิง และพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดทำแก้มลิง แล้วเสร็จตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552
1.2 งานขุดลอกคลองและฝาย รวมทั้งปรับปรุงทางระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำจันทบุรีและลุ่มน้ำเวฬุ เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ ตามสภาพความพร้อมและความเหมาะสม
1.3 งานพัฒนาพื้นที่แก้มลิง พัฒนาหนองและบึงขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
       1.3.1 แก้มลิงบึงบ้านขอม ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ความจุ 1,065,000 ลูกบาศก์เมตร
       1.3.2 แก้มลิงหนองกะเพลิง ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ความจุ 3,085,000 ลูกบาศก์เมตร
       1.3.3 แก้มลิงหนองตะพอง ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ความจุ 4,100,000 ลูกบาศก์เมตร
       นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บึงและหนองขนาดเล็กอีก 26 แห่ง
ส่วนการดำเนินงานระยะยาวได้ดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ปี 2542 ได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่ 7 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 100,000 ราย จำนวนประมาณ 23,000 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท ดังนั้นในปี 2543 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติมอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว


ผู้ได้รับประโยชน์ :

ประชาชนทั่วไป และประชาชนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

       เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมาการดำเนินงานโครงการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมจังหวัดจันทบุรี ได้แยกออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี ระยะที่ 2 การขุดคลองบายพาสเลี่ยงเมือง และโครงการผันน้ำจากคลองวังโตนด รวมทั้งมีการวางระบบการบริหารจัดการและติดตั้งระบบโทรมาตรในพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อใช้ในการพยากรณ์และเตือนภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำจันทบุรี ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียงได้ นอกจากนี้ได้มีการขุดคลองผันน้ำสายใหม่ เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำจันทบุรี บริเวณเหนือฝายยาง ผ่านทุ่งสระบาป และขยายคลองเชื่อมไปลงคลองอ่าง เพื่อระบายออกสู่ทะเล พร้อมก่อสร้างอาคารรับน้ำเข้าคลองผันน้ำ 25 แห่ง ก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และปรับปรุงสะพานอีก 10 แห่ง
       นายโกวิทย์  เพ่งวาณิชย์ รองเลขาธิการ กปร. กล่าวว่า แผนระยะที่ 2 การผันน้ำจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง สามารถรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน จากคลองวังโตนดผันผ่านท่อที่วางขนานไปตามทางหลวงชนบท ผ่านชุมชนต่างๆ ไปจนถึงอ่างเก็บน้ำประแสร์ รวมความยาวทั้งสิ้น 45.697 กิโลเมตร ผันน้ำประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีสถานีสูบน้ำที่บ้านวังประดู่ ซึ่งหากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำจันทบุรี ลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี และลุ่มน้ำทับมา จังหวัดระยอง จะได้รับการแก้ไข อย่างยั่งยืนตลอดไป

 

ความสำเร็จของโครงการ :
       หลังจากที่กรมชลประทานได้รับมอบหมายโดยมติคณะรัฐมนตรี ในการดำเนินการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เมืองจันทบุรี กรมชลประทานได้จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาตั้งแต่ปี 2545 แล้วเสร็จในปี 2547 โดยมุ่งเน้นการป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองจันทบุรี โดยมีแผนงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน และระยะที่สอง
     ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการตามแผนงานระยะเร่งด่วนแล้วเสร็จ ประกอบด้วยการขุดลอกขยายคลอง ก่อสร้างประตูระบายน้ำ และวางระบบติดตั้งระบบโทรมาตร ซึ่งสามารถบรรเทาอุทกภัยได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 อนุมัติในหลักการให้ดำเนินงานโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี (แผนระยะที่ 2) โดยให้กรมชลประทานดำเนินการ วงเงินงบประมาณ 3,500 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี   (ปี 2552 -2557) ประกอบด้วย
       1. งานขุดคลองผันน้ำสายใหม่จากแม่น้ำจันทบุรี ความยาวประมาณ 11.67 กิโลเมตร กว้างประมาณ 4 เมตร และงานขุดลอกคลองที่มีอยู่เดิม พร้อมถนนลาดยางสองฝั่ง
       2. งานก่อสร้างอาคารรับน้ำเข้าคลองผันน้ำ ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ 4 แห่ง และอาคารรับน้ำ 25 แห่ง
       3. งานประตูระบายน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง
       4. งานก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองผันน้ำ
       5. งานก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองอ่าง (เพิ่มเติมจากแผนเร่งด่วน)
       6. งานสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ คลองตะเคียน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำอัตราสูบสูงสุด 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
       7. งานก่อสร้าง/ปรับปรุงสะพาน 10 แห่ง
       นายวิชัย สุวรรณธนชัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต. จันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี ได้กล่าวอย่างมั่นใจว่า โครงการนี้มอบประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านในจังหวัดจันทบุรีอย่างมาก และปัจจุบันตนในฐานะประธานศูนย์จัดการภัยพิบัติภาคประชาชน ของตำบลจันทนิมิต และรองประธานศูนย์เรียนรู้ภัยพิบัติภาคประชาชนจังหวัดจันทบุรี และตามที่ได้สำรวจลุ่มแม่น้ำจันทบุรี ได้ข้อมูลว่าทุกวันนึ้ลุ่มน้ำคดเคี้ยวและตื้นเขินมาก ฉะนั้นเวลาที่น้ำไหลบ่าแรงๆ หรือช่วงมีปริมาณน้ำฝนมากๆ ก็จะทำให้เกิดน้ำเอ่อล้น และเกิดน้ำท่วมได้ ทำให้ภาคเศรษฐกิจ หรือภาคส่วนอื่นๆ หรือชาวบ้านเกิดความเสียหาย ซึ่ง ณ วันนี้ตนขอยืนยันว่า โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้เกิดผลอย่างแน่นอน  ถึงจะมีน้ำท่วม ก็เป็นเพียงปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถที่จะทำความเสียหายในส่วนภาคเศรษฐกิจได้
“ชาวบ้านมีความยินดีอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ลืมพสกนิกรของพระองค์ และพระราชทานโครงการพระราชดำริ ทำให้ประชาชนที่เคยความเดือดร้อนจากอุทกภัย วันนี้สามารถบรรเทาทุกข์ ไม่ต้องได้รับความเสียหายอีกต่อไป และความหวังของชาว ต.จันทนิมิต คาดว่าในฤดูฝน ชาวบ้านที่เคยมีความหวาดระแวง นอนผวา ต้องคอยรับสัญญาณเตือนภัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงตอนนี้ชาวบ้านจะอุ่นใจขึ้น มีแต่ประโยชน์สูงสุดเกิดขึ้นกับชาวบ้าน และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์จะสามารถบรรเทาอุทกภัย และสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกทาง ซึ่งชาวบ้านซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น” นายวิชัย สุวรรณธนชัย กล่าว

   


ที่มาของข้อมูล : เอกสารข้อมูลโครงการแก้มลิงล่มน้ำจันทบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการชลประทานจันทบุรี สำนักชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน ตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ : โทรศัพท์ 039-432241-2 โทรสาร 039-432243
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.