ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ หนองพลับ-กลัดหลวง เพื่อเป็นประธานเปิดโครงการ “สร้างป่า รักษ์น้ำ รักษ์ดิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565”

      วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ หนองพลับ-กลัดหลวง เพื่อเป็นประธานเปิดโครงการ “สร้างป่า รักษ์น้ำ รักษ์ดิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565” ซึ่งเกิดจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันจัดทำโครงการด้านการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญกับป่าไม้และพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมของประเทศ ทั้งนี้เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์ต้นไม้ รักษ์น้ำ รักษ์ดิน ให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

       โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะฯ เยี่ยมชมพื้นที่ปลูกป่าพื้นที่ 360 ไร่ ภายในบริเวณศูนย์ปฏิบัติการโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ หนองพลับ-กลัดหลวง ซึ่งโครงการมีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะทรงช่วยเหลือราษฎรที่ขาดที่ดินทำกิน และการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการประกอบอาชีพ พื้นที่โครงการแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ส่วน ได้แก่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ดินดีเหมาะแก่การเพาะปลูก จัดสรรให้ราษฎรอยู่อาศัยและทำกิน โดยแบ่งเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ จำนวน 11 หมู่บ้าน และพื้นที่อุดมสมบูรณ์น้อยกว่าให้จัดเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น แหล่งน้ำ มีการปรับปรุงพื้นที่พร้อมจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้ส่งเสริมอาชีพและรายให้แก่สมาชิกโดยนำเครื่องมือเข็มทิศสร้างสุขเพื่อนำทางการพัฒนา และใช้ Smart A4 เป็นเครื่องมือในการวางแผนพัฒนาศักยภาพของสมาชิก มีสหกรณ์การเกษตรหนองพลับรุ่งเรือง จำกัด สนับสนุนการปรับปรุงบำรุงดิน พัฒนาเกษตรกรต้นแบบ วางแผนรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ ฯลฯ และสหกรณ์กลัดหลวง จำกัด สนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ และรวมกลุ่มของสมาชิกเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่นการจัดตั้งกลุ่มพืชผักอินทรีย์ กลุ่มผู้ผลิตหญ้าอาหารสัตว์ เป็นต้น

       จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เดินไปทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานด้านแหล่งน้ำ สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพบปะพูดคุยกับราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2549 กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาความหมาะสมในการปรับปรุงประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ได้ก่อสร้างไว้เมื่อปี 2526 ให้มีศักยภาพในการเก็บกักน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มความจุเก็บกักจากเดิม 1.92 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 10.46 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการสำรวจศึกษาและวางโครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอู (ป่าเลาเดิม) และศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่สหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ โดยมีแผนการดำเนินงานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูฯ ออกเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 แผนงานปีงบประมาณ 2560 – 2567 ก่อสร้างอาคารหัวงาน ประกอบด้วย งานทำนบดินปิดช่องเข้าต่ำ งานทำนบดินหลัก งานอาคารระบายน้ำล้น และงานก่อสร้างส่วนประกอบอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน ถนน ระบบสาธารณูปโภค คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2567 โดย กปร. ได้อนุมัติงบประมาณแก่กรมชลประทาน เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงาน ถนน ระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และระยะที่ 2 แผนงานปีงบประมาณ 2567 - 2570 ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ประกอบด้วย ระบบท่อส่งน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู ความยาวรวม 34.931 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบแนวท่อกับคลองส่งน้ำเดิม

       ในช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง- ป่าละอู ได้รับการจดทะเบียนเป็นประเภทสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2534 ต่อมาได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์คห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539 ปัจจุบันมีสมาชิก 628 ราย ดำเนินธุรกิจหลัก คือ รวบรวมน้ำนมดิบ จำนวน 7,486,963.00 กิโลกรัมต่อปี (7,486.96 ตัน) จากสมาชิกเลี้ยงโคนม 111 ราย มีโคนม จำนวนประมาณ 3,396 ตัว โดยมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม แยกเป็น แปรรูปนมผงชนิดเต็มมันเนย และแปรรูปนมพาสเจอร์ไรส์ (นมโรงเรียน) นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้ดำเนินธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย โดยมีซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ยาสัตว์ บริการแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป

        จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังแปลงเกษตรอินทรีย์สมาชิกสหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด นายสมประสงค์ นาคดี หมู่ที่ 2 บ้านฟ้าประทาน ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่การเกษตร 10 ไร่ นายสมประสงค์ฯ เคยเป็นเยาวชนดีเด่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปี 2536 โดยได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาดูงานด้านเกษตรอินทรีย์ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เดิมเป็นเกษตรกรทำการเกษตรแบบใช้สารเคมี ต่อมาประสบปัญหามีหนี้สิน ประกอบกับสภาพร่างกายทรุดโทรม จึงได้มาทำงานพัฒนาเยาวชน และผันตัวเองมาทำงานพัฒนาผู้ใหญ่ จากนั้นได้เข้ามาทำงานในโครงการชุมชนเป็นสุข โดยได้พูดคุยกับชาวบ้านแล้วพบว่า ชาวบ้านอยากให้แก้ไขปัญหาอาชีพการเกษตรในพื้นที่ป่าละอู จึงได้เน้นการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งโครงการชุมชนเป็นสุขได้พาไปดูงานในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีการรวมกลุ่มการทำงานเพื่อบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรและด้านการตลาด นอกจากนั้น ยังเป็นหมอดินประจำตำบล และมีโอกาสไปอบรมเรื่องการทำการเกษตรอินทรีย์ และพบช่องทางการตลาดเพิ่มเติม เช่น การส่งขายให้แก่โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซต์ และตลาดที่อยู่ใกล้ๆ ตามนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ เช่น โรงพยาบาล หรือโรงเรียน ใช้ผลผลิตที่ปราศจากเคมี สำหรับการทำการเกษตรเนื่องจากมีพื้นฐานการทำเกษตรอินทรีย์มาแล้วโดยเริ่มต้นวางแผนจัดแบ่งที่ดิน เช่น พื้นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่แปลงเกษตร ไม้ผล สำหรับแปลงเกษตรมีการปลูกพืชผัก จำนวน 63 ชนิด ผลผลิตหลักที่ปลูกทั้งปี ได้แก่ แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเทศราชินี พืชตระกูลกล้วย มะเขือ พริก พริกหยวก พริกมัน มะนาว เลม่อน หน่อไม้กิมซุง หน่อไม้ไผ่ตง ผักกูด ผักชะอม รวมทั้งมีการวางแผนการปลูกพืชผักที่เหมาะสมกับฤดูกาล เช่น ช่วงฤดูหนาวจะปลูก กะหล่ำปลี บลอกโคลี กะหล่ำดอก คะน้า นอกจากนี้ ในอนาคตจะดำเนินการปลูกผักในโรงเรือนสำหรับผลิตพืชผักนอกฤดูกาล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อ

         ต่อจากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังสหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ป่าเด็ง-ป่าละอู ได้รับการจดทะเบียน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2523 ดำเนินธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (น้ำมันเชื้อเพลิง) ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ ธุรกิจรวบรวมผลิตผล โดยรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกส่งเสริมให้สมาชิกรวมกลุ่มอาชีพตามความถนัด เช่น การเลี้ยงโค การเลี้ยงสุกร การปลูกข้าวโพด และปลูกมันสำปะหลัง สหกรณ์ให้การส่งเสริมทางด้านข้อมูลวิชาการ และให้มีการจัดทำบัญชีฟาร์ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตามผลประเมินผลสำเร็จ และใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์สายพันธ์ อัตราการเจริญเติบโต ค่าใช้จ่ายและใช้ข้อมูลแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อจัดทำองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่สมาชิก ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 1,350 คน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


Cr : นายช่างภาพ สำนักงาน กปร.