ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

ความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้

ปีที่เริ่มวิจัย
2555
ศูนย์การศึกษาพัฒนาฯ
ห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
สาขางานวิจัย
การพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

พระราชดำริ

1) พระราชดำริเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525

เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรีอธิบดีกรมชลประธานและเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรมราชองครักษ์สวนจิตรลดา ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างโครงการจัดหาน้ำสนับสนุนศูนย์ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยเร่งด่วนดังนี้

“...ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทางบริเวณต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้เหนืออ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทได้ก่อสร้างไว้แล้วเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ต่อไป…”

“...ควรพิจารณาต่อท่อผันน้ำจากฝายทดน้ำแม่ลายไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 เพื่อเสริมปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ในช่วงที่ขาดฝนและในระยะปลายฤดูฝนด้วย โดยการต่อท่อจากปลายท่อผันน้ำของฝายทดน้ำแม่ลายของกรมชลประทานที่ผันน้ำไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยแม่คูหาของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทในเขตหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพงที่ได้ก่อสร้างไว้เดิมแล้ว…”

“...ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ตอนล่างบริเวณบ้านกาดขี้เหล็ก อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดหาน้ำให้กับราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในเขตตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งและมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ดังกล่าวตลอดปีด้วย…”

2) พระราชดำริ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางในการวางแผนการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ดังนี้ “...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริจะทำการศึกษาการพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก ให้เป็นต้นทางปลายทางเป็นการศึกษาการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรอย่างแท้จริง ผสมกับการศึกษาด้านสหกรณ์ด้านเกษตรกรรมด้านปศุสัตว์ (รวมโคนม) และด้านเกษตรอุตสาหกรรมรวมทั้งด้านตลาดอีกด้วยเพื่อให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้แห่งนี้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป...”

แนวทางในการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนา

1) การจัดหาแหล่งน้ำ

อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 5 ความจุ 2.0 ล้านลูกบาศก์เมตร สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทได้ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2522 อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ความจุ 0.25 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทาน ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ระบบท่อผันน้ำจากแม่ลายไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ปริมาณน้ำประมาณวันละ 5,000 ลูกบาศก์เมตรกรมชลประทานก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527

ควรพิจารณาดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ในปี พ.ศ. 2527 เพื่อส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทานประมาณ 600 ไร่ ควรก่อสร้างอาคารบังคับน้ำจากแนวท่อไว้ที่บริเวณห้วยธรรมชาติที่ท่อส่งน้ำตัดผ่านเพื่อระบายน้ำลงสู่ลำห้วยให้กับฝายเก็บกักน้ำต่างๆ และสร้างอาคารบังคับน้ำไว้ตามลูกเนินแล้วขุดคูส่งน้ำระบบก้างปลาไว้ โดยให้คูส่งน้ำลัดเลาะไปตามลูกเนินมีส่วนลาดชันเพียงเล็กน้อย และสร้างฝายปิดกั้นน้ำในคูไว้เป็นช่วงๆ ให้น้ำขังอยู่ในคูได้เป็นระยะเวลานาน เพื่อให้น้ำดูดซึมลงไปในดินเพิ่มความชุ่มชื้นในดินสำหรับสนับสนุนการปลูกป่าให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ต่อไป

ควรพิจารณาดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 2 พร้อมระบบส่งน้ำบางส่วนในปี พ.ศ. 2527 เพื่อส่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ ของศูนย์ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2527 นี้เช่นหมู่บ้านเกษตรกรรมแบบประณีต การปลูกทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงโคนมการปศุสัตว์และการเกษตรกรรมอื่นๆ

ควรพิจารณาสร้างฝายเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาของห้วยฮ่องไคร้ โดยสร้างเป็นฝายแบบง่าย เช่น ฝายหินตั้งและฝายแบบชาวบ้านโดยดำเนินการก่อสร้างเป็นช่วงๆ ทั้งในเขตพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทานและพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำฝน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาป่าไม้ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ต่อไปควรเร่งดำเนินการในปี พ.ศ. 2527 บางส่วนและดำเนินการในปีต่อๆ ไปตามความเหมาะสม

2) การพัฒนาป่าไม้

เนื่องจากการปลูกป่าในสภาพปัจจุบัน ปลูกกล้าไม้ไป 100 ต้น จะเหลือเพียง 30 ต้น โดยตายไปเสีย 70 ต้น เนื่องจากการขาดแคลนน้ำ นอกจากนั้นในระยะฤดูแล้ง ต้นไม้ต่างๆ จะแห้งมากทำให้เกิดไฟไหม้ป่าเสียหายเป็นจำนวนมากเป็นประจำทุกปี ดังนั้นในการพัฒนาป่าไม้ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้นี้ จึงได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำลำธารขึ้น เพื่อเป็นการศึกษาและทดลองการปลูกป่า โดยให้น้ำชลประทาน ซึ่งเชื่อแน่ว่าป่าไม้ที่ปลูกโดยได้รับน้ำชลประทานนี้จะต้องเจริญเติบโตเร็ว นอกจากนั้นพื้นดินจะชุ่มชื้นตลอดเวลาและต้นไม้จะเขียวสดอยู่ตลอดปี ทำให้เกิดไฟป่าได้ยากและเปอร์เซ็นต์การตายหลังจากปลูกกล้าไม้แล้วจะต้องลดลงมากด้วย อาจจะเหลือเปอร์เซ็นต์การตายเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะตายประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เช่น ในสภาพปัจจุบัน

(1) การพัฒนาป่าไม้ในเขตชลประทาน

พื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทานจากอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ 1 ประมาณ 600 ไร่ นั้นพื้นที่ตามลูกเนินจะได้รับน้ำซึมจากคูน้ำระบบก้างปลาและพื้นที่ตามริมน้ำลำห้วยธรรมชาติต่างๆ สำหรับในช่วงที่ขาดฝนและตลอดในระยะฤดูแล้งจะทำให้ป่าไม้ในพื้นที่นี้ได้รับน้ำตลอดปี ซึ่งต้นไม้จะเขียวชอุ่มตลอดปีและนอกจากนั้นพื้นที่ดินยังชุ่มชื้นตลอดทั้งปีอีกด้วย ลักษณะของพื้นที่ป่าไม้ทั้ง 60 ไร่ บริเวณนี้จะเป็นแนวป้องกันไฟ (ป่าเปียก) ทั้งผืน

(2) การพัฒนาป่าไม้นอกเขตชลประทาน

พื้นที่พัฒนาป่านอกเขตชลประทานภายในศูนย์แห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่สำหรับพื้นที่ตามร่องห้วยธรรมชาติต่างๆ จะได้รับน้ำซึมจากฝายเก็บน้ำต่างๆ และฝายเก็บน้ำเหล่านี้ควรต่อท่อชักน้ำทั้งสองฝั่ง (อาจจะใช้ท่อไม้ไผ่) เพื่อชักน้ำจากเหนือฝายกระจายน้ำออกไปตามสันเนิน เพื่อให้น้ำซึมลงไปในดินเพิ่มความชุ่มชื้นในดินสำหรับสนับสนุนการปลูกป่าไม้ตามร่องห้วยธรรมชาติและชายเนินต่อไปซึ่งต้นไม้ตามร่องห้วย และชายเนินนี้จะเติบโตเร็วคลุมร่องห้วยไว้ทำให้พื้นดินชุ่มชื้นตลอดเวลาลักษณะเป็นแนวป้องกันไฟ (ป่าเปียก) เป็นแนวๆ ไปตามร่องห้วยต่างๆ ดังกล่าวแล้วการปลูกควรพิจารณาดำเนินการปลูกในพื้นที่ป่าที่ถูกลอบทำลายไว้แล้วก่อนและการปลูกป่าตามแนวถนน ในเขตโครงการที่ก่อสร้างไว้แล้วหรือที่จะก่อสร้างต่อไป ซึ่งต้นไม้บางส่วนถูกทำลายไปเนื่องจากการก่อสร้างถนนดังกล่าว ควรพิจารณาดำเนินการปลูกต้นไม้ชนิดที่ใช้ประกอบในการทำอาหารได้ เช่น ต้นแคต้นขี้เหล็ก ต้นมะรุม ต้นสะเดาต้นมะม่วงเป็นต้น โดยปลูกให้เป็นหย่อมๆ เพื่อความสวยงามและใช้ประโยชน์ได้ด้วยส่วนพื้นที่ป่าโดยทั่วไป ควรพิจารณาปลูกไม้ 3 อย่าง ไม้ใช้สอย (รวมไม้ไผ่) ไม้ผลและไม้ฟืนตามความเหมาะสมควรพิจารณาก่อสร้างถนนสันเขาและก่อสร้างรั้วตามแนวถนนรอบเขตโครงการเพื่อการตรวจสอบสภาพป่าไม้อย่างทั่วถึง ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าและจะจัดทำเป็นสวนสัตว์เปิดในระยะต่อไปด้วย

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อศึกษาสมบัติทางเคมีของดินในพื้นที่ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้

2. เพื่อเปรียบเทียบความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ลุ่ม น้ำห้วยฮ่องไคร้

 

วิธีดำเนินการ

การศึกษาวิจัยความเป็นกรดเป็นด่างของดินเป็นการศึกษาสมบัติทางเคมีของดินโดยทำการศึกษาในพื้นที่ป่าไม้ 6 พื้นที่ ได้แก่ 1) ป่าเต็งรังพื้นที่หินฮอนเฟลส์ 2) ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินฮอนเฟลส์ 3) ป่าเต็งรังพื้นที่หินดินดาน 4) ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินดินดาน 5) พื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่หินทราย และ 6) พื้นที่ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินทรายและในพื้นที่เกษตรที่ปลูกพืช 5 รูปแบบ ได้แก่ 1) แปลงปลูกพืชไร่และมีการปลูกหญ้าแฝก 2) แปลงปลูกพืชไร่ 3) แปลงปลูกพืชผักแบบหมุนเวียนตลอดปี 4) แปลงปลูกขนุนแซมไม้สัก และ 5) แปลงปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทำการวางแปลงเก็บตัวอย่างดินและเก็บรวบรวมข้อมูล ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การวางแปลงและเก็บตัวอย่างดิน

การศึกษาความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ดำเนินการโดยการวางแปลงสุ่มตัวอย่างขนาด 40X40 เมตร (ภาพที่ 3.19) จำนวน 23 แปลง วางแปลงในพื้นที่ป่าไม้ที่ปกคลุมพื้นที่ที่มีหินต้นกำเนิดดิน 3 ชนิด ได้แก่ 1) ป่าเต็งรังพื้นที่หินฮอนเฟลส์ 2) ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินฮอนเฟลส์ 3) ป่าเต็งรังพื้นที่หินดินดาน 4) ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินดินดาน 5) พื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่หินทราย และ 6) พื้นที่ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินทราย พื้นที่ละ 3 แปลง รวม 18 แปลง ในพื้นที่เกษตรที่ทำการปลูกพืช 5 รูปแบบ ได้แก่ 1) แปลงปลูกพืชไร่และมีการปลูกหญ้าแฝก 2) แปลงปลูกพืชไร่ 3) แปลงปลูกพืชผักแบบหมุนเวียนตลอดปี 4) แปลงปลูกขนุนแซมไม้สัก และ 5) แปลงปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทำการวางแปลงสุ่มตัวอย่างแห่งละ 1 แปลง โดยทำการสุ่มเก็บตัวอย่างดิน 5 จุด (ภาพที่ 3.20) ทำการเก็บตัวอย่างดินที่ระดับชั้นความลึก 2 ระดับ คือ ดินชั้นบนที่ความลึกระหว่าง 0-15 เซนติเมตร และดินชั้นล่างที่ความลึก 15-30 เซนติเมตร วัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างโดยใช้เครื่อง pH meter ในตัวอย่างดินที่ละลายในน้ำกลั่นในอัตราส่วนดินต่อน้ำกลั่นเท่ากับ 1 ต่อ 1

 

การวัดหาค่า pH

ทำการเก็บตัวอย่างดินแบบรบกวนโครงสร้างที่แปลงสุ่มตัวอย่างโดยทำการขุดดินจนถึงที่ระดับความลึก 30 เซนติเมตร จากนั้นแบ่งความลึกเป็น 2 ระดับ คือ ความลึก 0-15 เซนติเมตร และความลึก 15-30 เซนติเมตร เก็บตัวอย่างดินที่แต่ละระดับจำนวน 1 กิโลกรัม เก็บตัวอย่างดินเดือนละ 1 ครั้ง นำตัวอย่างดินที่ได้มาตากให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง (air dry) นำดินที่แห้งแล้วมาบดและนำมาร่อนผ่านตะแกรงขนาด 2x2 มิลลิเมตร นำตัวอย่างดินที่ได้จากการร่อนจำนวน 50 กรัม นำไปละลายในน้ำกลั่นจำนวน 50 มิลลิลิตร หรืออัตราดินกับน้ำ 1 ต่อ 1 ตามวิธีของ peech 1965 จากนั้นคนดินกับน้ำกลั่นให้เข้ากันโดยใช้แท่งแก้ว ทิ้งไว้ 30 นาที ทำการวัดหาค่า pH โดยใช้เครื่องมือ pH-Meter

 

 

ผลการศึกษาทดลองวิจัย

การศึกษาค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ในพื้นที่ป่าเต็งรังและเบญจพรรณที่ปกคลุมพื้นที่ที่เป็นหินต้นกำเนิดดินที่แตกต่างกันและพื้นที่ที่ทำการเกษตรในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในระหว่างปี พ.ศ. 2542 ถึง พ.ศ. 2556 โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างดินที่ระดับความลึก 0-15 เซนติเมตร (ดินชั้นบน) และระดับความลึก 15-30 เซนติเมตร (ดินชั้นล่าง) มาทำการตรวจวัดค่าในห้องปฏิบัติการโดยใช้เครื่อง pH meter ในการวัดค่า pH ในตัวอย่างดินที่ละลายในน้ำกลั่นในอัตราส่วนดินต่อน้ำกลั่นเท่ากับ 1 ต่อ 1 ผลการศึกษามีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ป่าไม้

ระบบนิเวศป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ที่ได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ มาจวบจนถึงปัจจุบัน มีสภาพสมบูรณ์ขึ้นเป็นลำดับ พื้นที่แห่งนี้ไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานเกือบสามทศวรรษ การร่วงหล่นของเศษซากพืชที่ทับถมและย่อยสลายต่อเนื่องกันมานี้มีบทบาทต่อสมบัติดินโดยตรง กล่าวคือ สมบัติทางเคมีของธาตุอาหารที่มาจากเศษซากพืชที่ทับถมแล้วย่อยสลายจะมีผลต่อสมบัติทางเคมีของดินโดยตรง จากการศึกษา พบว่า ระดับค่าปฏิกิริยาดินในพื้นที่ศึกษาโดยรวมมีค่าต่ำกว่า 6.60–7.30 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงค่าปฏิกิริยาดินที่จัดอยู่ในระดับกลาง (neutral) ผลการวิเคราะห์ค่าปฏิกิริยาดินของดินชั้นบนและดินชั้นล่างจากแปลงตัวอย่างในพื้นที่ป่าไม้แสดงในตารางที่ 4.1 และตารางที่ 4.2 ตามลำดับ โดยมีรายละเอียดค่าปฏิกิริยาดินในพื้นที่ศึกษา ได้แก่ ในพื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่หินฮอนเฟลส์มีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 4.91-6.24 จัดอยู่ในระดับกรดจัดมาก (very strongly acid) ถึงกรดเล็กน้อย (slightly acid) ในพื้นที่ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินฮอนเฟลส์มีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 5.00-6.38 จัดอยู่ในระดับกรดจัดมากถึงกรดเล็กน้อย ในพื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่หินดินดานมีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 3.56-5.48 จัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมาก (extremely acid) ถึงกรดจัด (strongly acid) ในพื้นที่ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินดินดานมีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 3.63-5.49 จัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดจัด ในพื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่หินทรายมีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 4.22-5.79 จัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดเล็กน้อย และในพื้นที่ป่าป่าเบญจพรรณพื้นที่หินทรายมีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 4.20-6.04 จัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดเล็กน้อย จากผลการศึกษาสรุปได้ว่ามีค่าปฏิกิริยาดินจัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดเล็กน้อย

  1. ความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่เกษตร

จากการตรวจวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ในพื้นที่ทำการเกษตรในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ในระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึงปี พ.ศ. 2554 โดยการเก็บตัวอย่างดินที่ระดับความลึกของชั้นดิน 0-15 เซนติเมตร และ 15-30 เซนติเมตร ในพื้นที่ที่ปลูกพืชชนิดต่างๆ พบว่า ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินแปลงปลูกพืชไร่และมีการปลูกหญ้าแฝก (พดฮ 1 มีแฝก) มีค่าอยู่ระหว่าง 4.70-6.90 จัดอยู่ในระดับกรดจัดมาก (very strongly acid) ถึงกลาง (neutral) แปลงปลูกพืชไร่และไม่มีการปลูกหญ้าแฝก (พดฮ 2 ไม่มีแฝก) มีค่าอยู่ระหว่าง 4.70-7.20 จัดอยู่ในระดับกรดจัดมากถึงกลาง แปลงปลูกขนุนแซมไม้สัก (กษฮ 1) มีค่าอยู่ระหว่าง 5.40-7.20 จัดอยู่ในระดับกรดจัด (strongly acid) ถึงกลาง แปลงปลูกขนุนแซมไม้สัก (กษฮ 2) มีค่าอยู่ระหว่าง 5.50-7.40 จัดอยู่ในระดับกรดจัดถึงด่างเล็กน้อย (slightly alkaline) และแปลงปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ (ปศฮ) มีค่าอยู่ระหว่าง 6.00-7.10 จัดอยู่ในระดับกรดปานกลาง (moderately acid) ถึงกลาง ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ทำการเกษตรที่ระดับความลึกของชั้นดินทั้ง 2 ระดับ

 

3.ความเป็นกรดเป็นด่างของดินและธาตุอาหารในดิน

ความสัมพันธ์ระหว่างค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินและธาตุอาหารในดินมีความเกี่ยวข้องกันโดยค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินเป็นตัวกลางควบคุมปฏิกิริยาต่างๆ ในดินที่มีผลต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชและการรักษาสมดุลของธาตุอาหารพืชเพื่อให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชและผลผลิต โดยธาตุอาหารหลักที่มีปริมาณความเกี่ยวข้องกับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ได้แก่ ฟอสฟอรัส ไนโตรเจน (ในรูปอินทรียวัตถุ) แมกนีเซียม แคลเซียมและโพแทสเซียม เป็นต้น ความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารในดินและค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน

 

สรุป อภิปราย และข้อเสนอแนะ

จากผลการศึกษาค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่ปกคลุมพื้นที่หินฮอนเฟลส์ หินดินดานและหินทรายและพื้นที่ที่ใช้ในกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้เห็นได้ว่ามีค่าปฏิกิริยาดินจัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดเล็กน้อย ในขณะที่ ค่าปฏิกิริยาดินในดินชั้นบนและดินชั้นล่างในพื้นที่ทำการเกษตรจัดอยู่ในระดับกรดจัดมากถึงด่างเล็กน้อย จะเห็นได้ว่า ค่าความเป็นกรดจะพบในดินป่าไม้ในขณะที่ค่าความเป็นด่างจะพบได้ในพื้นที่เกษตร ทั้งนี้เนื่องจากระบบนิเวศป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้มีการฟื้นฟูและมีสภาพสมบูรณ์ขึ้น การที่พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ไม่มีไฟป่าเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานเกือบสามทศวรรษ เศษซากพืชที่ร่วงหล่นและทับถมย่อมไม่ถูกเผาผลาญทำลายไป การร่วงหล่นของเศษซากพืชที่ทับถมและย่อยสลายต่อเนื่องกันมานี้มีบทบาทต่อสมบัติดินโดยตรง กล่าวคือ สมบัติทางเคมีของธาตุอาหารที่มาจากเศษซากพืชที่ทับถมแล้วย่อยสลายจะมีผลต่อสมบัติทางเคมีหรือค่าปฏิกิริยาดินโดยตรงซึ่งแตกต่างกับพื้นที่เกษตรที่มีการไถพรวนอยู่ตลอดในช่วงฤดูกาลปลูกพืช มีการกำจัดวัชพืชและสิ่งปกคลุมดิน ทั้งยังมีการใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน ดังนั้น ปฏิกิริยาทางเคมีจากปุ๋ยที่ใส่เพื่อการบำรุงดินจึงส่งผลต่อสมบัติดินโดยตรง

ข้อเสนอแนะ

จากผลการศึกษาค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตรในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นตัวชี้วัดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้เป็นอย่างดี สามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปเผยแผ่แก่ชุมชนโดยทั่วไปให้ได้รับความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านหลัก 2 ประการ ดังนี้

1) พื้นที่ป่าไม้ที่ปราศจากไฟป่าเผาผลาญจะมีการสะสมอินทรีย์สารที่ย่อยสลายจากเศษซากพืชที่ตกทับถมในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อค่าความเป็นกรดของดินทำให้ดินมีสมรรถนะในการอุ้มน้ำเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ ดังนั้น การรณรงค์ป้องกันไฟป่าในชุมชนบนพื้นที่ป่าไม้จึงมีความจำเป็นเพื่อให้ชุมชนเหล่านั้นได้ตระหนักถึงผลกระทบจากไฟป่าอย่างแท้จริง

2) การศึกษากระบวนการจัดการลุ่มน้ำแบบมีส่วนร่วม เป็นการหารูปแบบที่เป็นไปได้ในการจัดการลุ่มน้ำที่ให้ความสำคัญกับชุมชน ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดและเข้าใจพื้นที่ อีกทั้งมีประสบการณ์ที่ได้สั่งสมภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ เป็นการนำศักยภาพของชุมชนมาใช้ในการจัดการทรัพยากรตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ภูมิปัญญาและในวัฒนธรรมชุมชนที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร ส่วนใหญ่จะไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่สิ่งที่ยืนยันว่าหลักวิชาการเช่นนี้ถูกต้องและพิสูจน์ได้ คือ ผลที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นวิถีชีวิตและแนวทางปฏิบัติที่คนยุคปัจจุบันสามารถทำตามได้ อย่างไรก็ตาม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลกาภิวัฒน์ จึงต้องมีการเพิ่มเติมข้อมูลความรู้ใหม่ๆ จากผู้ที่มีประสบการณ์ อาศัยรูปแบบและวิธีการของการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนและการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้อำนวยประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Download (1)

บทคัดย่อ

การศึกษาความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ดำเนินการโดยการวางแปลงสุ่มตัวอย่างในพื้นที่ป่าไม้ 6 แปลง ได้แก่ 1) ป่าเต็งรังพื้นที่หินฮอนเฟลส์ 2) ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินฮอนเฟลส์ 3) ป่าเต็งรังพื้นที่หินดินดาน 4) ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินดินดาน 5) พื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่หินทราย และ 6) พื้นที่ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินทรายและในพื้นที่เกษตรที่ปลูกพืช 5 รูปแบบ ได้แก่ 1) แปลงปลูกพืชไร่และมีการปลูกหญ้าแฝก 2) แปลงปลูกพืชไร่ 3) แปลงปลูกพืชผักแบบหมุนเวียนตลอดปี 4) แปลงปลูกขนุนแซมไม้สัก และ 5) แปลงปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทำการศึกษาในระหว่างปี พ.ศ. 2542 ถึง 2556 โดยทำการเก็บตัวอย่างดินที่ระดับชั้นความลึก 2 ระดับ คือ ดินชั้นบนที่ความลึกระหว่าง 0-15 เซนติเมตร และดินชั้นล่างที่ความลึก 15-30 เซนติเมตร วัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างโดยใช้เครื่อง pH meter ในตัวอย่างดินที่ละลายในน้ำกลั่นในอัตราส่วนดินต่อน้ำกลั่นเท่ากับ 1 ต่อ 1 ผลการศึกษา พบว่า ในพื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่หินฮอนเฟลส์มีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 4.91-6.24 จัดอยู่ในระดับกรดจัดมากถึงกรดเล็กน้อย ในพื้นที่ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินฮอนเฟลส์มีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 5.00-6.38 จัดอยู่ในระดับกรดจัดมากถึงกรดเล็กน้อย ในพื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่หินดินดานมีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 3.56-5.48 จัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดจัด ในพื้นที่ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินดินดานมีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 3.63-5.49 จัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดจัด ในพื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่หินทรายมีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 4.22-5.79 จัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดเล็กน้อยและในพื้นที่ป่าเบญจพรรณพื้นที่หินทรายมีค่าปฏิกิริยาดินอยู่ระหว่าง 4.20-6.04 จัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดเล็กน้อย สำหรับในพื้นที่เกษตร พบว่า ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินแปลงปลูกพืชไร่และมีการปลูกหญ้าแฝกมีค่าอยู่ระหว่าง 4.70-6.90 แปลงปลูกพืชไร่มีค่าอยู่ระหว่าง 4.70-7.20 แปลงปลูกขนุนแซมไม้สักมีค่าอยู่ระหว่าง 5.40-7.40 และแปลงปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์มีค่าอยู่ระหว่าง 6.00-7.10 จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าดินในพื้นที่ป่าทั้งสองชนิดมีค่าปฏิกิริยาดินจัดอยู่ในระดับกรดรุนแรงมากถึงกรดเล็กน้อย ในขณะที่ในพื้นที่เกษตรค่าปฏิกิริยาดินจัดอยู่ในระดับกรดเล็กน้อยถึงด่างเล็กน้อย คำสำคัญ : ความเป็นกรด-ด่างของดิน ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ *ติดต่อนักวิจัย : สุภาพ ปารมี (อีเมล์ suparbp@yahoo.com)
ผู้วิจัย / คณะวิจัย สุภาพ ปารมี สุนทร คำยอง รองลาภ สุขมาสรวง นิวัติ อนงค์รักษ์ จุไรพร แก้วทิพย์
ดำเนินการ 2555
ระยะเวลา พ.ศ.2555-2556
งบประมาณ -
พระราชทานพระราชดำหริ วันที่ 11 ธันวาคม 2525