ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

การฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (นบร.) รุ่นที่ 6 และใบสมัครเข้ารับการฝึกอบรม

๑. หลักการและเหตุผล

          ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชดำริเพื่อเป็นแนวทางและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศไว้อย่างมากมาย ครอบคลุมในทุกสาขาการพัฒนา และวิถีชีวิตของพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า เฉพาะพระราชดำริที่ได้ดำเนินการเป็นโครงการ
 อันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น บัดนี้นับได้ ๔,๐๐๐ โครงการ แนวพระราชดำริทั้งหลายนี้ เป็นการตกผลึก
 แห่งพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงผสมผสานระหว่างหลักคิด หลักวิชา การศึกษาทดลอง ประสบการณ์ และบริบทแวดล้อม เกิดเป็นหลักการทรงงาน ปรัชญาการพัฒนา ทฤษฎีและแนวคิดการพัฒนาด้านต่างๆ ที่วางรากฐานอยู่บนหลักทั้ง “ภูมิศาสตร์” และ “ภูมิสังคม” ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีพื้นฐานทรัพยากรด้านการเกษตรเป็นหลัก

          ผลของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ทรงมุ่งมั่น บากบั่น กระทำเพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยทั้งมวลได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์เป็นที่ยอมรับสรรเสริญและน้อมนำไปปฏิบัติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังจะเห็นจากรางวัลที่องค์การพัฒนาและสถาบันระดับสากลต่างๆ ได้ทูลเกล้าถวายตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา รวมกว่า ๒๐ รางวัล และสิทธิบัตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้อีกราว ๔๐ ชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award)” ซึ่งองค์การสหประชาชาติ
 ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ณ วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในการประชุมขององค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ ๗๑ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา บรรดาผู้นำและผู้แทนกลุ่มประเทศต่างๆ ได้กล่าวราชสดุดีแด่พระองค์อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดในแง่มุมต่างๆ ทำให้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก และเป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ

          คุณค่าและผลสัมฤทธิ์แห่งการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ตลอดจนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ได้แปรมาเป็นเจตจำนงของรัฐ ดังที่ปรากฏในนโยบายของรัฐบาล ๑ ใน ๑๑ ด้านของ คสช. ที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ ๙ 
 (พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๙) เป็นต้นมา ซึ่งพระราชดำริทั้งหลายนี้ได้รับการน้อมนำเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากเจตจำนงของรัฐบาลทุกคณะ รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันที่นอกจากจะน้อมนำแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดินแล้วยังกำหนดยุทธศาสตร์บูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๖๐) เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในทุกภาคส่วนอีกด้วย 

          สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการประสานและดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี มีความเห็นว่าการขับเคลื่อนให้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริและการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สุขแก่ประชาชนนั้น เป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกกระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐและเอกชนทั้งหลายอยู่แล้ว แต่ยังเป็นไปในลักษณะของการพัฒนาแบบแยกส่วนที่เน้นภารกิจขององค์กรของตนหรือความถนัดของตนเป็นหลัก  

          ดังนั้น หากมีช่องทางให้ผู้บริหารในหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เหล่านี้ได้ร่วมรับรู้หลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ หลักการทรงงาน ตลอดจนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการนำไปประยุกต์ใช้ในภาพรวมอย่างครบถ้วน รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการบริหาร
 การพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการอยู่ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสองประการ ได้แก่ ประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และประโยชน์ต่อการสร้างสมองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการประยุกต์ใช้ ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายคือประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติ
 สมดังพระราชดำริที่ทรงพระราชทานในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ในการศึกษา วิจัยและพัฒนาที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างมีบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่ประชาชน  ความว่า 

          “...กรมกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้าน ได้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรองดองกัน ประสานกัน...  ก็หมายถึงว่าที่สำคัญปลายทางคือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์และต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะให้ประโยชน์...”

          สำนักงาน กปร. จึงได้ร่วมมือกับสำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดหลักสูตรฝึกอบรมนักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ  สำหรับผู้บริหาร สังกัดสำนักงาน กปร. และภาคส่วนอื่นๆ ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและการขยายผลปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระองค์ ตลอดจนรักษาและพัฒนามรดกทางภูมิปัญญาของไทยเพื่อเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยต่อไป


๒. วัตถุประสงค์ 

          ๑) เพื่อเทิดทูน และพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์

          ๒) เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ตลอดจนสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับผู้นำองค์กรในการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          ๓) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับลึกซึ้งและปฏิบัติจริง

          ๔) เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายนักบริหารในการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

๓. กลุ่มเป้าหมาย  จำนวนรุ่นละ ๕๐ คน ดังนี้

          ๓.๑) คุณสมบัติ กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าศึกษาอบรม ดังนี้ 

                   (๑) ข้าราชการพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารต้น อำนวยการสูง เชี่ยวชาญ อำนวยการต้น หรือชำนาญการพิเศษ (กรณีเป็นชำนาญการพิเศษต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี และต้องปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะงานอำนวยการหรือหัวหน้ากลุ่มงาน) หรือข้าราชการประเภทอื่นซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า

                   (๒) ข้าราชการทหารหรือตำรวจที่มีชั้นยศและรับอัตราเงินเดือนตั้งแต่ขั้นพันเอก(พิเศษ) นาวาเอก(พิเศษ) นาวาอากาศเอก(พิเศษ) และพันตำรวจเอก(พิเศษ) ขึ้นไป จนถึงไม่เกินชั้นยศ พลตรี พลเรือตรี 
 พลอากาศตรี  และพลตำรวจตรี

                   (๓) พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของหน่วยงานรัฐต้องดำรงตำแหน่งเทียบได้กับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนตามข้อ (๑)

                   (๔) ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ หรือองค์กรไม่แสวงกำไร ผู้นำชุมชน หรือสื่อมวลชน  ซึ่งสำนักงาน กปร. เชิญให้เข้าร่วม  

๓.๒) บุคคลตามข้อ ๓.๑ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

                   (๑) จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าวุฒิปริญญาตรี

                   (๒) ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานต้นสังกัดให้เข้ารับการอบรมได้ตลอดหลักสูตร

                   (๓) มีหน้าที่ความรับผิดชอบหรือประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริหรือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

                   (๔) อายุไม่เกิน ๕๗ ปี นับถึงวันที่เปิดการฝึกอบรม   

                   (๕) มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้ตลอดหลักสูตร

         ๓.๓) จำนวนผู้เข้ารับการอบรม ๕๐ คน จากสำนักงาน กปร. ส่วนราชการอื่น หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  บริษัทและองค์กรภาคเอกชน ที่มีบทบาทเกี่ยวกับข้องกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการน้อมนำหลักการทรงงาน การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ หรือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ

          ๓.๔) การคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม สำนักงาน กปร.ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมเพื่อให้ได้ผู้มีคุณสมบัติ มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ ตามจำนวนที่กำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของการฝึกอบรมและความเป็นเครือข่ายความร่วมมือ สำนักงาน กปร. อาจพิจารณายกเว้นให้ผู้ที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากที่กำหนดเข้ารับการอบรมได้


๔.  วิธีการ สถานที่และระยะเวลาฝึกอบรม

            ๔.๑)  วิธีการฝึกอบรม  ประกอบด้วย การบรรยาย การอภิปราย การสัมมนา การศึกษาดูงานในประเทศและต่างประเทศ

           ๔.๒)  สถานที่ฝึกอบรม และการศึกษาดูงาน 

           - การจัดฝึกอบรมโดยการบรรยาย ใช้ห้องประชุม ๑๐๑ ชั้น ๑ อาคารสำนักงานโครงการ
 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

           - การจัดฝึกอบรมโดยการศึกษาดูงานในประเทศจำนวน ๓ ครั้ง และการศึกษาดูงานต่างประเทศ จำนวน ๑ ครั้ง  

ศึกษาดูงานเกี่ยวกับตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ หรือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

           ๔.๓) ระยะเวลาฝึกอบรม  ๒๓ วัน ระหว่างวันที่ ๑๙ มกราคม ถึง ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๐ เป็นการบรรยายในชั้นเรียน ๑๒ วัน และศึกษาดูงานในประเทศ และต่างประเทศรวม ๑๑ วัน (ศึกษาดูงานในประเทศ ๖ วัน ต่างประเทศ ๕ วัน)

           ทั้งนี้ กำหนดการอบรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม 

 

๕.  ขอบเขต และลักษณะของกิจกรรมที่ดำเนินการ  

การจัดการฝึกอบรมและการศึกษาดูงาน ประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

     ๕.๑) การบรรยาย อภิปราย และสัมมนา  ๒๔ รายวิชา รวม ๖๕ ชั่วโมง

     ๕.๒) การศึกษาดูงานในประเทศ ๓ ครั้ง  รวม ๖ วัน  (๓๖ ชั่วโมง)   

     ๕.๓) การศึกษาดูงานต่างประเทศ ๑ ครั้ง  รวม ๕ วัน  (๓๐ ชั่วโมง)  ณ ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน

 

๖.  การวัดผลการเรียนรู้ และการประเมินผลโครงการ 

      โครงการกำหนดเกณฑ์ประเมินความสำเร็จของหลักสูตร ดังนี้

๑)             มีจำนวนผู้เข้ารับการอบรมตามเป้าหมายที่กำหนด (ไม่น้อยกว่า ๕๐ คน)

๒)      ผู้สำเร็จการอบรมเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๕ ของเวลาทั้งหมด

๓)      ผู้สำเร็จการอบรมได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอย่างน้อย ๑ ระดับ เมื่อเทียบกับก่อนการอบรม

๔)      ผู้สำเร็จการอบรมมีความพึงพอใจโดยรวมระดับมากขึ้นไปไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ และระดับปานกลางขึ้นไปไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐

๕)      ผู้เข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ผ่านการทดสอบผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ด้วยคะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ ของคะแนนเต็มการทดสอบ

๖)      การติดตามผลภายหลังการอบรม โดยสอบถามกิจกรรมที่ผู้เข้ารับการอบรมได้นำความรู้ ความเข้าใจ เครือข่ายที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ประโยชน์ ในลักษณะต่างๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของ
 ผู้เข้ารับการอบรม

 

๗.  เงื่อนไขการสำเร็จการอบรม 

       ๑) ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องมีเวลาเข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๕ ของเวลาทั้งหมด (ไม่น้อยกว่า

           ๑๙ วัน) จึงจะถือว่าสำเร็จการศึกษา

      ๒) ส่งรายงานการศึกษาของกลุ่ม ภายในเวลาที่ผู้บริหารหลักสูตรกำหนด

   

๘.  ผลที่คาดว่าจะได้รับ 

      ๑) สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการเทิดทูน พิทักษ์รักษาในฐานะสถาบันหลักที่เป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

      ๒) ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นในการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ สำหรับใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

      ๓) ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ หลักการทรงงาน และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับลึกซึ้งจนพร้อมที่จะนำไปเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องนี้ จนสามารถเป็นตัวแทนของหน่วยงานในการเผยแพร่ความรู้ ประยุกต์ใช้และขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริได้เป็นอย่างดี

      ๔) มีการสร้างและพัฒนาเครือข่ายของผู้บริหารในภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มแข็ง

      ๕) มีผลผลิตที่เกิดจากการพัฒนาองค์ความรู้ในการฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงาน อันเป็นการแสดงถึงศักยภาพในการแปลงผลจากการเข้ารับการอบรมไปสู่ภาคปฏิบัติ เช่น รายงานผลการศึกษาอบรม กรณีตัวอย่างการขับเคลื่อนขยายผลการพัฒนา เป็นต้น