ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

สำนักงาน กปร. ประชุมหารือแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน (ด้านหญ้าแฝก) ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

"บูรณาการการพัฒนาพื้นที่โครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"

สำนักงาน กปร. ประชุมหารือแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน (ด้านหญ้าแฝก) ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2567 นายวิกรม คัยนันทน์ รองเลขาธิการ กปร. นางสาวสุมิตรา วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายพงษ์ศักดิ์ ด้วงโยธา ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายพิทยากร ลิ่มทอง อนุกรรมการด้านวิชาการฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ของเกษตรกรในสถานี สหัส บุญญาวิวัฒน์ 1 (บ้านห้วยน้ำเย็น) หมู่ 1 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก จำนวน 2 แปลง และพื้นที่เกษตรกรของสถานี สหัส บุญญาวิวัฒน์ 2 (บ้านทีนามู) หมู่ 11 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก จำนวน 2 แปลง โอกาสนี้ ได้ร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการดำเนินโครงการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน (ด้านหญ้าแฝก) ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

การประชุมฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดรูปแบบและแนวทางในการดำเนินการจัดทำแปลงตัวอย่างในพื้นที่เกษตรกรที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดียว เปลี่ยนแปลงปลูกพืชผสมผสานโดยมี หญ้าแฝกเป็นพืชในการปรับปรุงบำรุงดินและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ในบริเวณพื้นที่ 4 สถานี โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. รูปแบบที่เหมาะสมสำหรับลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เน้นการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีหญ้าแฝกเป็นพืชนำร่องหลักเพื่อช่วยลดปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ร่วมกับพืชเบิกนำ อาทิ กล้วย ซึ่งจะเป็นเสมือนพืชพี่เลี้ยงให้แก่กล้าไม้ผลที่จะนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ให้สามารถอยู่รอดได้จนลำต้นแข็งแรง โดยคำนึงถึงรายได้ของเกษตรกรระหว่างการรอผลผลิตจากพืชหลัก ด้วยการสนับสนุน ให้ความรู้และทางเลือกในการปลูกพืชที่สร้างรายได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้เกษตรกรสามารถอยู่รอดและเกิดความยอมรับโครงการฯ อย่างยั่งยืน

2. ปัจจัยหลักในการดำเนินโครงการฯ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำในแปลงปลูก และการพัฒนาแหล่งน้ำถาวรให้แก่ระบบนิเวศน์อย่างครบวงจร อาทิ การสร้างฝายชะลอน้ำทั้งในระบบลุ่มน้ำย่อย และบริเวณใกล้พื้นที่เพาะปลูก รวมถึงบ่อดักตะกอนดินลักษณะต่างๆ ในพื้นที่เกษตรกร เป็นต้น

3. การสร้างโอกาสพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกร เริ่มจาก "การคัดเลือกพื้นที่แปลงเกษตรกรที่อยู่และการบริเวณรวมกลุ่ม เพื่อการบริหารจัดการ การให้ความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ "ควรมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรทั้งในด้านการผลิต การจัดการผลผลิต ตลอดจนการตลาด ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และชุมชนได้อย่างยั่งยืน

4.การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันอย่างบูรณาการของทุกหน่วยงานในภาพรวมเป็นลำดับต่อไป