หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดเยี่ยมชม ประมวลภาพกิจกรรม ตอบคำถามชิงของรางวัล ติดต่อเรา

 

     

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดจันทบุรี

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่เพาะปลูกทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรและประมงลดต่ำลง จึงมีพระราชดำริที่จะทำการศึกษาพัฒนาพื้นที่ในเขตที่ดินชายทะเล เพื่อแนะนำให้ประชาชนได้มีความรู้และความสำคัญของการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม จึงพระราชทานพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่  28 ธันวาคม 2524  ดังนี้
“ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลจังหวัดจันทบุรี”
ต่อมาเมื่อวันที่  30  ธันวาคม 2524  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ณ พระตำหนักจิตลดารโหฐาน กับนายเล็ก จินดาสงวน และนายสุหะ ถนอมสิงห์ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดจันทบุรี
“ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตพื้นที่ชายทะเล”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินำผู้เข้าร่วมสัมมนาและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทาน พระบรมราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินงานในช่วงต่อไป ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531
“คุ้งกระเบนเป็นการศึกษาเกี่ยวกับชายทะเล ต้นไม้ต่างๆ ชายทะเลและปลา การประมง”
จังหวัดจันทบุรีได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและพิจารณาความเหมาะสมจึงกำหนดพื้นที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ศูนย์ศึกษาดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาสาธิตและการพัฒนาที่ดินชายฝั่งทะเลโดยวิธีการผสมผสานความรู้อันหลากหลายของแต่ละหน่วยงาน เพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสมและยั่งยืนตลอดไป

 
 
ที่ตั้งของโครงการ : หมู่ 4 ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
   
วัตถุประสงค์โครงการ :

ศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน

  • เป็นศูนย์กลางในการอบรมและเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งให้แก่ส่วนราชการและภาคเอกชนทั่วไป
  • ยกระดับฐานะความเป็นอยู่ อาชีพ  ของราษฎรบริเวณรอบอ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่ใกล้เคียงโดยมุ่งเน้นพัฒนาช่วยเหลือราษฎรที่มีฐานะยากจน
  • พัฒนาการด้านประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตของประเทศและเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านการประมง ตลอดจนพัฒนากิจกรรมทางด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
  • อนุรักษ์สภาพแวดล้อมและดุลยภาพทางธรรมชาติให้คงลักษณะพิเศษของพื้นที่เอาไว้
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :
สำนักงาน กปร.
 

ลักษณะโครงการ :
เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา

ผู้ได้รับประโยชน์ :
เกษตรกรรอบศูนย์

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

แผนการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ (งบประมาณ กปร.)
1. แผนศึกษาและพัฒนาการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
                  ศึกษาทดลองวิจัย และพัฒนาการประมงชายฝั่งพื้นบ้านอย่างถูกวิธี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งได้มาตรฐานและอย่างยั่งยืน  เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำของประเทศและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าควบคู่กับการศึกษาวิจัยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประกอบด้วย

    • งานผลิตและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ
    • งานวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ดิน และคลินิกสัตว์น้ำ
    • งานส่งเสริม ฝึกอบรม และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
    • งานจัดการทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งและสิ่งแวดล้อม
    • งานบริหารการส่งเสริมควบคุมระบบชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเล
    • งานส่งเสริมและสนับสนุนฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลและสัตว์น้ำมาตรฐาน
    • งานวิเคราะห์การปนเปื้อนในปัจจัยการผลิต
    • งานตรวจสอบสารตกค้างในกุ้งทะเลเพื่อการส่งออก

2. แผนศึกษาและการพัฒนาการเกษตร
                  การพัฒนาศักยภาพ การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และวิธีการผลิตในการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตรให้สมดุลระหว่างการผลิตกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการบริหารอย่างบูรณาการ เป็นระบบครบวงจร เพื่อสร้างฐานการผลิตให้เข้มแข็งพึ่งตนเองได้โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาค ประกอบด้วย

    • งานศึกษาและทดลองการปลูกพืชไร่ พืชสวน พืชสมุนไพร ไม้ดอก-ไม้ประดับ ข้าว เห็ด และพืชเศรษฐกิจ
    • งานศึกษาและทดลองระบบการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
    • งานพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์
    • งานส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์
    • งานเกษตรอุตสาหกรรมและการแปรรูปผลผลิตการเกษตร
    • งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค
    • งานพัฒนาที่ดินและการปรับปรุงดินเพื่อการเกษตร

3. แผนศึกษาและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                  ศึกษาและพัฒนาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทุกระดับ รวมทั้งงานด้านดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรฐานทางสังคม เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนประกอบด้วย

    • งานศึกษาวิจัยและส่งเสริมด้านป่าไม้
    • งานพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ ป่าชายหาด และป่าชายเลน
    • งานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม
    • งานพัฒนาที่ดิน งานวิจัยทดลองการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
    • งานพัฒนาอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
    • งานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ
    • งานส่งเสริมและการใช้ประโยชน์ป่าไม้อย่างยั่งยืน

4. แผนศึกษาและพัฒนาและเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต
ศึกษาและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร ธุรกิจชุมชนระดับรากหญ้าให้อยู่บนทางสายกลาง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกอย่างรู้เท่าทัน สนับสนุนการผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลผลิตอย่างเป็นกระบวนการ โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ผสมผสานภูมิปัญญาไทยกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างเครือข่ายความร่วมมือเชื่อมโยงทุกระบบและสร้างจิตสำนึกในการพึ่งพาตนเองเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง เข้มแข็งและยั่งยืน ประกอบด้วย
-  งานส่งเสริมและพัฒนาการจัดการป่าไม้เพื่อชุมชน
-  งานส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด
-  งานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า ถนน และแหล่งน้ำ
-  งานพัฒนาการศึกษา
-  งานพัฒนาและบริการด้านสุขภาพอนามัย
-  งานพัฒนาเด็กและสตรี
5.  แผนงานบริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี
พัฒนาศักยภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยี กระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบจัดทำเครือข่ายประสานข้อมูลสารสนเทศของศูนย์ศึกษาทุกกิจกรรม เพื่อกระจายองค์ความรู้ และข่าวสารสู่เกษตรกรอย่างกว้างขวางประสานแผนงานถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างบูรณาการ โดยยึดพื้นที่ภารกิจและมีส่วนร่วมทุกระดับ รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกที่ดี รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ประกอบด้วย
-  งานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
-  งานส่งเสริมพัฒนาการฝึกอบรมด้านการประมง ป่าไม้ ดิน เกษตร ปศุสัตว์
-  งานสวนพฤกศาสตร์โรงเรียน
-  งานฝึกอบรมและศึกษาสาธารณสุข
-  งานฝึกอบรมเตรียมองค์กรประชาชน
6.  แผนงานท่องเที่ยวเชิงพัฒนา
พัฒนาการดำเนินการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ สู่การท่องเที่ยว เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเพลิดเพลินแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับศักยภาพเชิงวัฒนธรรม วิถีชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่อย่างบูรณาการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชน การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเพื่อการกีฬา สุขภาพ รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพด้านการบริการและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานปลอดภัยทุกระดับ
7.  แผนการบริหารและการจัดการ
ดำเนินการบริหารและจัดการ ประสานงานหน่วยงานต่างๆ และบริการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานเพื่อให้ดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งร่วมประสานแผนศึกษาพัฒนาและงบประมาณดำเนินการตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินงาน พร้อมรายงานผลการดำเนินงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
-  งานบริหารโครงการ
-  งานการจัดการที่ดินของรัฐ
-  งานติดตามและประเมินผลโครงการ

 

การดำเนินงานโครงการ
1. แผนการบริหารและการจัดการ
ดำเนินการบริหารงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ พร้อมทั้งประสานงานภาครัฐ
และเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการทั้งด้านการปฏิบัติงาน การจัดการที่ดินของรัฐ และการสนับสนุน
งบประมาณดำเนินการ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ตลอดจนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโครงการ
2. แผนการศึกษาและพัฒนาการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
ดำเนินการทดลองวิจัย พัฒนาทางด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ตลอดจน
ดำเนินการส่งเสริมฝึกอบรมแก่เกษตรกร พร้อมทั้งดำเนินการทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุล อีกทั้งพัฒนาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำรอบอ่าวคุ้งกระเบนให้ยั่งยืน โดยจัดสร้างระบบชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งเป็นแบบอย่างของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งผลผลิตกุ้งกุลาดำภายในโครงการฯ ประมาณ 500 ตันต่อไป มูลค่าประมาณ 125 ล้านบาท
ในแต่ละปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ สามารถดำเนินงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ สรุปได้ดังนี้
-  ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกุลาดำรอบอ่าวคุ้งกระเบน                                         181  ราย/1,064 ไร่
-  สัตว์น้ำอื่นๆ เช่น การเลี้ยงปลาทะเล และการเลี้ยงหอยนางรม ไม่น้อยกว่า         40  ราย/ปี
-  ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง                                                    ไม่น้อยกว่า         20  ล้านตัว/ปี
-  ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง                                                 ไม่น้อยกว่า         18  ล้านตัว/ปี
-  งานทดลองวิจัยด้านการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ                             6-10 เรื่อง/ปี
3. แผนการศึกษาและพัฒนาการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการศึกษาวิจัย ส่งเสริม พัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าชายหาด ป่าชายเลน พร้อมทั้งปลูกป่าชายเลน ตลอดจนอนุรักษ์ดิน น้ำ พัฒนาสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบน ประมาณ 610 ไร่ และปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมหลังแปลงนากุ้ง และบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนไม่น้อยกว่า 512 ไร่
4. แผนศึกษาและพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์
ดำเนินการศึกษา และทดสอบ การปลูกพืชที่เหมาะสมต่อพื้นที่ทั้งในรูปแบบการปลูกพืชผสมผสาน
และทฤษฎีใหม่เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียง
5. แผนการศึกษาพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิต
ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาโครงการพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎรด้วย
6. แผนบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี
บริการทางวิชาการแก่เกษตรกร ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาและฝึกอบรมแก่ราษฎรทางด้านการประมง ป่าไม้ เกษตรและปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ อีกทั้งดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ในด้านต่างๆ แก่ผู้เยี่ยมชมและประชาชนที่สนใจด้วย
ในแต่ละปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ สามารถดำเนินการได้ดังนี้
-  บริการตรวจโรคและวิเคราะห์คุณภาพน้ำให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย/ปี
-  บริการศึกษาดูงานและถ่ายทอดเทคโนโลยี                                            ไม่น้อยกว่า 15,000 ราย/ปี
-  การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่นักเรียนและเกษตรกร               ไม่น้อยกว่า  1,000 ราย/ปี

การดำเนินงานในกิจกรรมที่สำคัญ
1. การอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่าไม้
อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามแนวภูเขา จำนวนพื้นที่ 11,370 ไร่ และจัดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
ป่าปก จำนวน 2 เส้นทาง เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำด้วยหญ้าแฝก
2.   ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ในพื้นที่รอยต่อป่าชายเลนและเชิงเขา
-   ส่งเสริมและพัฒนาไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ในรูปแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ โดยผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพใช้ไนกิจกรรมการเกษตร เพื่อ ลด ละ เลิกการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 11- 68 เปอร์เซ็นต์
-  ส่งเสริมการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดโคนญี่ปุ่น เป็นต้น เกษตรกรมีรายได้จากการเพาะเห็ด 20,000 – 200,000 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี
-  ส่งเสริมการผลิตข้าวครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจนกระทั่งผลิตเป็นข้าวกล้องหอมมะลิ เกษตรกรสามารถผลิตข้าวพันธุ์ดีได้ 450-550 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรุ่น
-  ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม จากการขายลูกแพะ แพะเนื้อ และเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรที่น่าสนใจที่จะเลี้ยงแพะ
3.  อนุรักษ์ป่าชายเลนที่สมบูรณ์รอบอ่าวคุ้งกระเบน
ราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบน จำนวน 1,122 ไร่ โดยการมีส่วนร่วมของราษฎรซึ่งผืนป่าชายเลนแห่งนี้เป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นแหล่งศึกษาด้านนิเวศป่าชายเลนแก่ผู้สนใจและใช้ป่าชายเลนเป็นตัวดูดใช้ธาตุอาหารที่เกิดจากกิจกรรมการเลี้ยงกุ้งทะเลรอบอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งเป็นกระบวนการบำบัดน้ำทางชีวภาพ เพื่อให้การเลี้ยงกุ้งทะเลในโครงการฯ ยั่งยืนตลอดไป
4.  ส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง   
จัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมรอบอ่าวคุ้งกระเบน 728 ไร่ เพื่อพัฒนาการเลี้ยงกุ้ง แก่สมาชิก 113 ครอบครัว และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เสื่อมโทรม 312 ไร่ พร้อมทั้งดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงกุ้งทะเลรอบอ่าวคุ้งกระเบนด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม ปัจจุบันมีสมาชิก 197 ราย มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งทะเล 1,005 ไร่ บริการด้านวิชาการแก่เกษตรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง  และส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้ได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ( CoC/ GAP) เพื่อพัฒนาสู่  “ครัวไทย ครัวโลก”

 

ความสำเร็จของโครงการ :

ผลสำเร็จจากการพัฒนา
1. ราษฎรในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีเพิ่มขึ้น  มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีเพิ่มขึ้น  ช่วยให้มีความเป็นอยู่ที่พอเพียงตามอัตภาพ
2. ทรัพยากรธรรมชาติบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนคงสภาพความสมบูรณ์ เกื้อกูลต่อการพัฒนาอาชีพของราษฎร       
3. เป็นสถานที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวรวมถึงประชาชนทั่วไป  และสามารถสร้างกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพัฒนาได้ในระยะยาว

“ มีประโยชน์มาก เมื่อเริ่มมีศูนย์ฯ อะไรๆ ก็ดีขึ้น ส่วนพันธุ์สัตว์น้ำ  มีปูไข่นอกกระดองทางฯ จะเอากระชังลอยน้ำไว้ ถ้าสมาชิกได้ปูนอกกระดอง ก็นำไปคืนให้ศูนย์ จะได้ขยายพันธุ์ออกมาอีก โดยเขี่ยไข่ออกมา จะได้เป็นตัวให้เราจับต่อไป...”

   


ที่มาของข้อมูล : สำนักงาน กปร. ,ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.