หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดเยี่ยมชม ประมวลภาพกิจกรรม ตอบคำถามชิงของรางวัล ติดต่อเรา

 

     

โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านแม่ตุงติง
จังหวัดเชียงใหม่

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
   
แนวพระราชดำริ :
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2540 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ ป่าต้นน้ำห้วยแม่ตุงติง ตำบลแม่สาย อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้หน่วยงานร่วมโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างและศูนย์ฝึกทอผ้าศิลปาชีพ บ้านแม่ตุงติง โดยจัดหาพื้นที่เสื่อมโทรม เพื่อให้ราษฎรฝึกอบรมอาชีพการเกษตร ทอผ้า ปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงนกกระทา,เป็ดเทศ,ไก่พันธุ์เนื้อ,ไก่พันธุ์ไข่,ปลูกกล้วยหอม,ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นต้น ตลอดจนการปลูกไม้ใช้สอยต่างๆ เช่น ไม้ยูคาลิปตัส,สะเดา สำหรับราษฎรโดยให้จัดจ้างแรงงานจากราษฎรยากจนภายในหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียง ตลอดจนให้จัดตั้งธนาคารข้าวพระราชทานและที่เก็บน้ำฝน โดยทรงมอบให้กองทัพบกและกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งควบคุมดูแลฟาร์มตัวอย่างดังกล่าว และให้มีนักเกษตรในพระองค์จากสำนักพระราชวังเป็นผู้ดูแลการปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอดจนติดต่อประสานงานกับหน่วยราชการอื่นๆ
   
ที่ตั้งของโครงการ : หมู่ 5 ต.แม่สาย อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
   
วัตถุประสงค์โครงการ :

1. ส่งเสริมราษฎร ในพื้นที่โครงการฯ ให้มีรายได้เสริมจากการดำเนินงานฟาร์ม
2. เป็นแหล่งอาหารให้กับราษฎรในพื้นที่โครงการฯ
3. เป็นแหล่งข้อมูลจากการสาธิตและทดลองของส่วนราชการที่ดำเนินกิจกรรมในฟาร์ม
4. เป็นแหล่งศึกษาและถ่ายทอดกรรมวิธีดำเนินการที่ได้ผล ให้ราษฎรสามารถนำไปปฎิบัติเองโดยให้ใช้วัสดุ/ อุปกรณ์ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้มากที่สุด
5. ขยายพื้นที่ป่าไม้ในบริเวณโครงการฯ

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กรมประมง , กรมปศุสัตว์ , กรมป่าไม้ , กรมชลประทาน , กองทัพบก
 
ลักษณะโครงการ :  

ผู้ได้รับประโยชน์ : ราษฎรในหมู่บ้านแม่ตุงติง หมู่ที่ 5 ตำบลแม่สาย อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และขยายผลไปสู่ราษฎรหมู่บ้านใกล้เคียง

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

1. แผนงานส่งเสริมด้านการประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่
ทำการสาธิตและส่งเสริมการเลี้ยงปลาภายในฟาร์ม เช่นปลานิลแดง ปลาดุก ปลากดหลวง ปลานิลดำ แจกจ่ายให้กับราษฎรนำไปเลี้ยงที่บ้าน รวมทั้งปล่อยพันธุ์ปลาลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ราษฎรมีอาหารโปรตีนรับประทานตลอดทั้งปี
การขยายผลสู่ราษฎร
- แจกจ่ายพันธุ์ปลาให้กับราษฎรในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวน 80 ราย
2. แผนงานส่งเสริมด้านการเกษตร
ทำการทดสอบและพัฒนาระบบการปลูกพืชสวน พืชไร่ ไม้ผลเมืองหนาว อาทิ ท้อ พลับ มะละกอพันธุ์แขกดำ กล้วยหอมทอง มะคาเดเมียนัท กาแฟพันธุ์ดาบิค พริก หอมแบ่ง ทดสอบการปลูกข้าวนาที่สูง ข้าวไร่ ข้าวนาปี เพื่อหาชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทดสอบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทำชาเขียว โดยจำหน่ายกล่องละ 200-250 บาท ทำให้ราษฎรมีรายได้เสริม นอกจากนั้นได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ด้านการเกษตรเพื่อให้ราษฎรรู้เทคนิคและวิชาการเกษตรแผนใหม่
การขยายผลสู่ราษฎร
- ได้ขยายผลการดำเนินงานออกสู่หมู่บ้านบริวาร ได้แก่ บ้านงิ้วเฒ่า บ้านปางเดิม บ้านงาแมง บ้านกองขากน้อยและบ้านผายอง โดยขยายพันธุ์กล้ยวหอมทองให้เกษตรกรในหมู่บ้านบริวาร 5600หน่อ  แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ผักให้เกษตรไปปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน 275 ครอบครัวและกล้ากาแฟ จำนวน 29000 กล้า
- อบเมล็ดพืชไร่แก่เกษตรกรรอบฟาร์มฯมีพันธุ์เมล็ดถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดเทียน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมและกรมปศุสัตว์ โดยให้เกษตรกรทำการปลูกเมื่อได้ผลผลิตแล้วนำมาจำหน่ายให้ฟาร์มเพื่อเป็นอาหารสัตว์ในฟาร์มต่อไป
3. แผนงานส่งเสริมด้านงานปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่
ทำการสาธิตการเลี้ยงสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น ไก่พันธุ์ไข่ ไก่พันธุ์พื้นเมือง ไก่ฟ้าหลวง ไก่งวง เป็ดพันธุ์ไข่ เป็ดอี้เหลียง ห่าน นกระทา แกะขน กระต่ายเนื้อและหมูจินหัวพันธุ์ผสม เป็นต้น
กิจกรรมที่ขยายผลให้กับราษฎรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง
- สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ ส่งเสริมให้ราษฎรปลูกพืชอาหารสัตว์และนำมาจำหน่ายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ในฟาร์ม
4. แผนงานส่งเสริมการเลี้ยงหมูป่า โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32
ทำงานการเลี้ยงหมูป่า พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อขยายพันธุ์ให้ราษฎร บ้านแม่ตุงติง นำไปเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
การขยายผลสู่ราษฎร
- แจกลูกหมูป่าให้ราษฎร บ้านแม่ตุงติง นำไปเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์6 รายๆละ1ตัว
5. แผนงานฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าไม้และเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า โดยสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16
5.1 งานส่งเสริมการปลูกไม้ใช้สอยอเนกประสงค์ ส่งเสริมให้ราษฎรนำพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ อาทิ ประดู่ สัก มะค่าโมง โมกมัน สะเดา ขี้เหล็กบ้าน ตะเพียนทอง ยูคาลิปตัส ไปปลูกเพื่อเป็นการขยายพื้นที่ป่า จำนวน 20 ไร่
5.2 งานส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ทำแปลงสาธิตการปลูกพืชสมุนไพร จำนวน 1 แปลง ประกอบด้วยเล็บครุฑแดง  ว่านหางจระเข้ กาบหอยแครง หนุมารตัวผู้และตัวเมีย เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่นำไปปลูกที่บ้านและแปรรูปเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด ทำให้ราษฎรมีรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำไร่ทำนา
5.3 การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า  ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจำพวก เก้ง เนื้อทราย กระต่ายป่า และไก่ป่าตุ้มหูแดง เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
6. แผนงานการจัดตั้งธนาคารข้าวและธนาคารปุ๋ย โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสะเมิง
ทำการจัดตั้งธนาคารข้าวและธนาคารปุ๋ยเพื่อให้ราษฎรกู้ยืมมีข้าวเปลือกในธนาคารข้าวจำนวน 1400 ถัง มีหลักเกณฑ์กู้ยืม 10 ถัง ต้องใช้คืน 12 ถัง ภายในระยะเวลา 1 ปี สำหรับปุ๋ยมี 265 กระสอบ หลักเกณฑ์ให้กู้ยืม 10 กระสอบ ต้องใช้คืน12กระสอบ ภายในระยะเวลา 6 เดือน ทำให้บรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรได้ในระดับหนึ่ง
7. แผนงานการจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการ โดยโครงการชลประทานเชียงใหม่
ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเหนือบ้านแม่ตุงติง ก่อสร้างบ่อเก็บน้ำคอนกรีตพร้อมท่อส่งน้ำภายในฟาร์ม ขนาดความจุ 1,000 ลบ.ม. จำนวน 2 แห่ง และบ่อเก็บน้ำคอนกรีตพร้อมท่อระบายน้ำบริเวณวัดธรรมมิมิการาม(วัดแม่ตุงติง) ขนาดความจุ 1,000 ลบ.ม. จำนวน 1 แห่ง ศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาลภาค 6 จังหวัดลำปาง ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบสูบน้ำบาดาลในพื้นที่โครงการฯ พร้อมระบบส่งน้ำ
8. แผนงานอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่
จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้วยการจัดทำคูรับขอบเขาและปลูกไม้พุ่มบำรุงดิน เพื่อความชุ่มชื้นของหน้าดิน ปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืชและมูลสัตว์ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นการบำรุงดิน
9. แผนงานศิลปาชีพ โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ร่วมกับ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
ฝึกอบรมในเรื่องการทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าตีนจก ผ้าลายศตวรรษ การปักผ้าด้วยลวดลายต่างๆ การทำพรมเช็ดเท้า การตีเหล็ก และการแกะสลักไม้ ทุกกิจกรรมอยู่ในขั้นการพัฒนาฝีมือ ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของตลาด กลุ่มสมาชิกได้ส่งผลิตภัณฑ์จำนวนพวกผ้าให้กองศิลปาชีพสำนักฯ 18 งวด ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นกลุ่มสมาชิกได้รับพระราชทานเงินจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 300,000 บาท เป็นกองทุนศิลปาชีพของกลุ่มสมาชิกทอผ้าฝ้าย กลุ่มสมาชิกทอผ้าไหม และกลุ่มสมาชิกทอพรมเช็ดเท้า กลุ่มล่ะ 100,000 บาท เพื่อให้กลุ่มบริหารและดำเนินการเอง
10. แผนงานเพาะเลี้ยงและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งหลวง โดยสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16
จัดเจ้าหน้าที่มาให้การอบรมวิธีการเก็บรักษาการบรรจุน้ำผึ้งลงในขวดอย่างถูกวิธีให้กับกลุ่มสมาชิกในแต่ละปีสมาชิกหาน้ำผึ้งได้เป็นจำนวนมากโดยจำหน่ายขวดล่ะ 200 บาท
11. แผนงานอำนวยการและบริหาร โดยกองพลพัฒนาที่ 3
กอ.โครงการฯ และส่วนราชการทุกหน่วย ร่วมกันวางแผนการทำงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการฯ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ทราบถึงวัตถุประสงค์การดำเนินงานและประโยชน์จากการเข้ามาศึกษากรรมวิธีที่ได้ผลภายในฟาร์มฯ เพื่อนำไปดำเนินการเอง
ในส่วนของชุดปฏิบัติการได้นำยุทธศาสตร์ดินและน้ำของกองทัพภาคที่ 3 เข้าไปส่งเสริมราษฎรในพื้นที่เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยส่งเสริมให้ราษฎรทำการเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติกรอบบ่อปลูกผักสวนครัวเพื่อไว้บริโภคตลอดทั้งปี นอกจากนี้ในด้านการเกษตร ได้รณรงค์การลดใช้สารเคมี หันมาทำการเกษตรธรรมชาติ โดยใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพแทน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้ดินมีคุณภาพดียิ่งขึ้น ปัจจุบันมีราษฎรเข้าร่วมโครงการฯ โดยมอบพื้นที่ทำการเกษตรให้จัดทำแปลงสาธิตการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพ ในการปลูกกระเทียมและข้าวไร จำนวน 1 ไร่ 2 งาน

 
ความสำเร็จของโครงการ :
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่เข้ามาทำงานในฟาร์มฯ โดยได้จ้างแรงงานราษฎรในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่ตุงติง บ้านปางเติม บ้านห้วยกล่ำ บ้านทุ่งยาว และบ้านขุนสาบ จำนวนประมาณ 150 คน โดยในปีที่ 1 – 5 ทำการจ้างปีละ 150 คน จากนั้นลดเหลือปีละ 50 คน เนื่องจากราษฎรได้ทำการฝึกฝนเทคนิคและวิธีการที่ถูกต้องในการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การประมง ราษฎรในพื้นที่บางส่วนจึงนำความรู้ที่ได้รับจากการเป็นลูกจ้างของฟาร์มตัวอย่างฯ ไปขยายผลในพื้นที่ของตนเอง อีกทั้งได้มีอาหารโปรตีนทั้งพืชผักและเนื้อสัตว์ราคาถูกจากฟาร์มฯ ไว้บริโภคตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการคอยให้คำปรึกษา แนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องทำให้ราษฎรมีทัศนคติที่ดีต่อส่วนราชการของรัฐ ให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมภายในฟาร์มฯ ตลอดจนงานของทางราชการเป็นอย่างดี
 
   


ที่มาของข้อมูล :

ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 

Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.