หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดเยี่ยมชม ประมวลภาพกิจกรรม ตอบคำถามชิงของรางวัล ติดต่อเรา

 

     

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสืออันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดอุบลราชธาน

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

   
แนวพระราชดำริ :

เป็นโครงการตามแผนพัฒนาเสริมความมั่นคงพื้นที่ชายแดนในเขตอีสานตอนล่าง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทกับ พลโทพิศิษฐ์  เหมบุตร แม่ทัพภาคที่ 2 (ตำแหน่งในขณะนั้น) พร้อมคณะทำงานพัฒนา เสริมความมั่นคง พื้นที่ชายแดนอีสานตอนบนและตอนล่าง เมื่อวันที่ 29  พฤศจิกายน  2528 ณ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดียก จังหวัดสกลนคร

   
ที่ตั้งของโครงการ :

อ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือ(ตอนบน)อยู่ในเขตพื้นที่บ้านโนนสูง ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี หรือที่พิกัด 48 PWA 232-876 ระวาง 6037 IV โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี  138  กม.

อ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือ(ตอนล่าง)อยู่ในเขตบ้านโนนสูง ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี หรือที่พิกัด 48 PWA 255-948 และพิกัด 48 PWA 216-946 ระวาง 6037 IV ห่างจากตัวจังหวัดฯ 126 กม.

 
วัตถุประสงค์โครงการ :

เป็นแหล่งน้ำที่ทำหน้าที่เก็บกักน้ำเพื่อให้เกิดการซึมซับลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่าทางตอนล่าง เพื่อให้สภาพของหน้าดินที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งทำมาหากินของราษฎร สามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่

หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
 
ลักษณะโครงการ :

อ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือ เป็นลำห้วยในลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงบริเวณชายแดนรอยต่อ 3 ประเทศ (สามเหลี่ยมมรกต) ไหลมารวมกับห้วยบอนและห้วยโปร่งลิง (ฝั่งซ้าย) นอกจากนั้นยังมีลำห้วยผึ้ง(ฝั่งขวา)สภาพพื้นที่โดยทั่วไป บริเวณด้านเหนืออ่างฯ เป็นเนินเขาสูง สำหรับด้านท้ายอ่างฯเป็นที่นาสลับป่าโปร่ง ความจุของอ่างฯที่ระดับเก็บกัก 33.50 ล้านลบ.ม ลักษณะอ่างเป็นทำนบดินปิดกั้นลำห้วยพลาญเสือ สันทำนบกว้าง 7 เมตร ยาว 282 เมตร ส่วนที่สูงที่สุด 16 เมตร  มีอาคารระบายน้ำล้นความยาวสันฝาย 20 เมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีพื้นที่หัวงานประมาณ 2 ไร่

 
ผู้ได้รับประโยชน์ :
เกษตรกรรอบพื้นที่โครงการ พื้นที่ทั้งหมดของโครงการประมาณ  6,850 ไร่  เป็นพื้นที่ชลประทาน 5,823 ไร่ และส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งได้ 1,000  ไร่
 
ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :
ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาภายใต้โครงการ ท้องที่สามเหลี่ยมมรกตให้ เป็นแหล่งท่องเที่ยว สามเหลี่ยมมรกต หมายถึงพื้นที่รอยต่อของประเทศ ได้แก่ ไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ กัมพูชา ตั้งอยู่บริเวณช่องบก อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากอำเภอประมาณ 28 กิโลเมตร หรืออยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย สำหรับประเทศลาว อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองมูนป่าโมก แขวงจำป่าสัก ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 75 กิโลเมตร ทางกัมพูชาอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอจองกระสาร จังหวัดพระวิหาร ห่างจากตัวจังหวัด 32 กิโลเมตร มีการบริหารจัดการน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในอ่างเก็บน้ำมาใช้งานอย่างคุ้มค่า และให้ประโยชน์สูงสุด ด้วยการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ที่บริหารจัดการน้ำในยามแล้งได้ โดยพื้นที่ยังมีน้ำเพียงพอสำหรับแปลงเพาะปลูก.
   
ความสำเร็จของโครงการ :

นายสอนนรินทร์ ชาวศรี บ้านโนนสูง ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน หนึ่งในชาวบ้านที่อยู่นอกเขตชลประทาน  แต่สามารถใช้น้ำในคลองชลประทาน ที่กรมชลประทานดำเนินการสนองพระมหากรุณาธิคุณผันน้ำจากอ่างห้วยพลาญเสือตอนล่างฯ เพื่อใช้ในพื้นที่กว่า 30 ไร่ที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน (ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553) “พื้นที่ตรงนี้นอกจากแห้งแล้งไม่สามารถทำการเกษตรได้ผลอย่างที่คาดหวังแล้วช่วงหนึ่งยังเป็นพื้นที่สงคราม ประมาณปี 2525 เป็นสงครามอันเกิดจากความคิดของชาวบ้านไม่ตรงกับภาครัฐที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านก็ย้ายออกนอกพื้นที่หมดเขายิงกันเพราะกลัวลูกหลงด้วยและอยู่ก็ทำอะไรไม่ได้ น้ำก็ขึ้นอยู่กับฟ้าฝน จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนบนและมีการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่าง พอข่าวดังกล่าวออกมาชาวบ้านเริ่มอพยพกลับมาเพราะสงครามก็เริ่มจางลง ผมเริ่มกลับมาราวๆ ปี 2532” สอนนรินทร์เล่า

สอนนรินทร์บอกว่าเมื่อกลับมาได้ฟื้นฟูที่ดินปลูกพริก มะเขือ ฟักทอง พวกผักต่างๆที่เราต้องกินด้วย เมื่อได้ผลผลิตที่เหลือจากกินก็ขาย พื้นที่ที่เหลือก็ลงไม้ผลไปด้วย พืชผักต่างๆ ถ้าเราทำอย่างจริงจัง ที่เก็บขายได้ตอนนั้นก็มีเงินเหลือเดือนละ 2 หมื่นบาท “พื้นที่ส่วนหนึ่งของสามสิบกว่าไร่ตอนนี้เน้นไม้ผลอย่างลำไย ส้มโอ มะพร้าว กระท้อน เงาะ อีกส่วนหนึ่งก็ทำนา มีรายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือปีละ 2 แสน” สอนนรินทร์บอกด้วยว่า ชาวบ้านทุกคนรู้ว่าที่มีอ่างเก็บน้ำเกิดขึ้นเป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้ส่วนราชการทำอย่างกรมชลประทาน ประชาชนส่วนหนึ่งแม้จะอยู่นอกเขตชลประทานแต่มีที่ติดคลองก็สามารถใช้น้ำได้ หรือถึงอยู่ห่างคลองแต่มีศักยภาพพอก็สามารถใช้ได้  ประชาชนจึงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอด ทรงช่วยให้ราษฎรอย่างพวกเรามีน้ำเพื่อการเกษตรการอุปโภคบริโภคจนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีกว่าแต่ก่อนมากมายนัก “บอกอย่างภาคภูมิใจว่าวันนี้ชาวบ้านเชื่อว่าทั้งอำเภอ ไม่ใช่แค่ตำบลโดมประดิษฐ์นี้เท่านั้นที่น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นความขยัน  อดทน  อดออม  พยายามไม่ข้องแวะอบายมุข  มีความสามัคคีกลมเกลียวกันพึ่งพาอาศัยกันและกันรวมกลุ่มกัน  อย่างผมนี่ใช้หลักพอเพียงของในหลวงอย่างเช่นได้เงินมาก็แบ่งเป็น 3 ส่วน 1 เก็บ 1 ใช้จ่ายประจำวัน 1 ใช้หนี้ ผมน้อมนำมาใช้อย่างจริงจังเลยเพราะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงผมจึงมีวันนี้มีแน่นอน เมื่อก่อนไม่มีอะไรเลยจะทำอะไรต้องไปกู้กู้มาแล้วใช้คืนไม่ได้เพราะไม่มีวินัยให้ตัวเอง แต่วันนี้ไม่ต้องกู้แล้ว” สอนนรินทร์บอกแล้วย้ำอีกทีว่า เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในหลวงต้องขยัน ต้องอดทน ห่างอบายมุขอย่างที่บอกไปข้างต้น “ผมไม่มีอะไรจะตอบแทนพระองค์นอกเสียจากว่าสวดมนต์ไหว้พระภาวนาให้พระองค์ทรงหายพระประชวรโดยเร็วให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงเป็นร่มโพธิ์ทองของปวงพสกนิกรของลูกหลานตลอดไปตราบนานเท่านาน  ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้จริงๆ” สอนนรินทร์กล่าว         

 
 


ที่มาของข้อมูล : สำนักชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 

Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.