หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดเยี่ยมชม ประมวลภาพกิจกรรม ตอบคำถามชิงของรางวัล ติดต่อเรา

 

     

โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดศรีสะเกษ

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  
   
แนวพระราชดำริ :

          เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณอำเภอภูสิงห์ ในการนี้ได้มีพระราชดำริ สรุปความว่า “ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมกันพิจารณา จัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ซึ่งประกอบอาชีพทำนาไม่ได้ผล และจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินงานศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”
          เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านวนาสวรรค์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริให้ผู้เชี่ยวชาญด้านดิน พิจารณาช่วยเหลือราษฎรที่มีปัญหาเรื่องดินดาน และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร พระราชทานพระราชดำริ ความว่า “ให้พิจารณาสร้างระบบน้ำ และปรับปรุงดินลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง โดยเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลให้มากยิ่งขึ้น”
          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ในการนี้ได้มีพระราชดำริ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมให้แก่ราษฎรในบริเวณพื้นที่รอบศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ เพื่อให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ รวมทั้งให้พิจารณาช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรเพื่อให้มีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

   
ที่ตั้งของโครงการ : บ้านตะแบงใต้  ตำบลห้วยตึ๊กชู  อำเภอภูสิงห์  จังหวัดศรีสะเกษ 
   
วัตถุประสงค์โครงการ :
1.เพื่อสนองพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
2.เพื่อเป็นสถานที่ให้บริการทางด้านวิชาการเกษตร และสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แก่เกษตรกร
3.เพื่อเป็นศูนย์กลางสาธิต ฝึกอบรมและเป็นตัวอย่างเผยแพร่ความรู้ทางด้านการเกษตรให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ ใช้พัฒนาอาชีพทางการเกษตรของตนเอง
4.เพื่อพัฒนาและยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ ให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :
กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ , กรมประมง , กรมชลประทาน , กรมส่งเสริมการเกษตร , กรมส่งเสริมสหกรณ์ , สำนักงาน กปร.
 
ลักษณะโครงการ : พื้นที่ประมาณ 700 ไร่

ผู้ได้รับประโยชน์ : เกษตรกรรอบพื้นที่โครงการ

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :
          1.งานอำนวยการ ดำเนินการประสานงาน กำกับดูแล และติดตามผลงาน จัดทำการประชาสัมพันธ์ ทางสื่อมวลชน และจัดการบันทึกข้อมูลเชื่อมโยงระบบข้อมูล
          2.งานโครงสร้างพื้นฐาน ดำเนินการก่อสร้างอาคาร สำนักงาน โดยการปรับพื้นที่และถมดิน ปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ภายในพื้นที่โครงการให้อยู่ในสถานที่สามารถใช้การได้ พัฒนาปรับปรุงระบบไฟฟ้า ประปา และการสื่อสาร ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ภายในพื้นที่โครงการ ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของแต่ละกิจกรรม ปรับปรุงซ่อมแซมและบำรุงรักษา โรงสูบน้ำพร้อมกับก่อสร้างโรงสูบน้ำดิบของศูนย์ฯ
          3.งานปศุสัตว์และประมง ดำเนินการซื้อพ่อแม่พันธุ์สัตว์ปีกทดแทนจำนวน 220 ตัว ซึ่งเป็นพ่อพันธุ์ไก่พื้นเมือง 10 ตัว แม่พันธุ์ไก่ไข่ 100 ตัว พ่อพันธุ์เป็ดเทศ 10 ตัว แม่พันธุ์เป็ดเทศ 100 ตัว และก่อสร้างโรงเรือนชั่วคราวแยกคุมฝูงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 2 โรงเรือน จัดซื้ออาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์และลูกสัตว์ปีก 41,128 กิโลกรัม จัดซื้อตู้เย็น เครื่องตัดปากไก่ ถังน้ำ ถังอาหาร วัคซีนและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ปีก ฝึกอบรมเกษตรกรด้านการเลี้ยงสัตว์ปีก จำนวน 100 ราย และสาธิตส่งเสริม การเลี้ยงปลาในลักษณะการเพาะและอนุบาลปลา การเลี้ยงสุกรและไก่ในคอก บนบ่อเลี้ยงปลา การเลี้ยงปลาในนาข้าวและ การฝึกอบรมพร้อมกับแจกจ่ายพันธุ์สัตว์ – พันธุ์ปลา ให้แก่เกษตรกร
          4.งานชลประทาน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตึ๊กชู ปริมาณกักเก็บน้ำ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2541 สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรในพื้นที่ศูนย์ฯ และหมู่บ้านใกล้เคียงประมาณ 20,000 ไร่ และขุดสระน้ำประจำไร่นา ขนาด 1 ไร่ จำนวน 30 บ่อ เพื่อสนับสนุนราษฎรในการพัฒนาการเกษตรตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่”
          5.งานพัฒนาการเกษตร จัดทำแปลงขยายผลโครงการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวพระราชดำริให้แก่ เกษตรกรจำนวน 15 ราย พื้นที่ดำเนินการ 245 ไร่ พร้อมกับสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์ สำหรับพันธุ์พืช ได้แก่ มะม่วงแก้ว ศก. 007 มะม่วงพันธุ์ดี โชคอนันต์ เขียวเสวย แรด หนองแซง ฟ้าลั่น สายฝน น้ำดอกไม้ ลำไย ลิ้นจี่ เงาะโรงเรียน ทุเรียนพันธุ์ชะนี หมอนทอง ขนุนพันธุ์ย่าหง่า ฟ้าถล่ม มะนาว หม่อน ฯลฯ พืชผักยืนต้น พืชล้มลุก และพืช สมุนไพรอื่นๆ ได้แก่ ชะอม แคบ้าน มะรุม มะตูม สะเดา ขิง ข่า สาระแหน่ ตะไคร้ ฯลฯ ไม้ดอกไม้ประดับ ได้แก่ มะลิ ธรรมรักษา พืชไร่ และพืชบำรุงดิน ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ฯลฯ
          6.งานพัฒนาที่ดิน จัดฝึกอบรมผู้นำเกษตรกร จำนวน 100 ราย ปรับปรุงพื้นที่พร้อมจัดระบบอนุรักษ์ดิน และน้ำของ เกษตรกร ทำการผลิตและขยายพันธุ์หญ้าแฝกเพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร จำนวน 43,600 กล้า สาธิตและส่งเสริมการ ใช้ปุ๋ยพืชสดจากถั่วพริก, ถั่วพุ่ม และโสนอัฟริกัน โดยแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสดให้กับเกษตรกรรวม 550 กิโลกรัม, ส่งเสริมการผลิต และใช้ปุ๋ยหมักพร้อมแจกสารเร่งเชื้อยูเรียให้แก่เกษตรกร จำนวน 300 ชุด ประโยชน์ของโครงการ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และ จังหวัดสุรินทร์ ให้มีสภาพความเป็นอยู่ด้าน โครงสร้างพื้นฐานสังคมและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และทำให้เกษตกร ได้รับความรู้ ความสามารถจากการสาธิต การอบรมในการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ตาม หลักวิชาการสมัยใหม่และเป็นแหล่งให้บริการและสนับสนุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ให้แก่เกษตรกร
 

ความสำเร็จของโครงการ :

          ผลการดำเนินงานในงานอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาป่าไม้ ได้มีการสาธิตแปลงธนาคารอาหารชุมชน บำรุงรักษาสวนป่า บำรุงไม้สองข้างทางภายในศูนย์ ทดลองขยายพันธุ์หวาย ก่อสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ป่าไม้บริเวณรอบศูนย์ เพาะชำกล้าไม้ทั่วไป และกล้าหวาย เพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์และประชาชนที่สนใจทั่วไปและจัดทำแผนที่จำลองศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ตั้งแสดงไว้ที่อาคารที่ทำการศูนย์
          การดำเนินงานด้านการเกษตร ได้มีการสาธิต และพัฒนาระบบการปลูกไม้ผลพันธุ์ดี ๘ ชนิด โดยใช้ปุ๋ยและฉีดสารสมุนไพร ทำให้มีการเจริญเติบโตดี ได้แก่ ลิ้นจี่พันธุ์ นพ.๑ เงาะพันธุ์โรงเรียน มังคุด ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ทุเรียนพันธุ์ชะนี และระหว่างแถวได้มีการปลูกถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ปลูกสะตอและอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี ๕๐ เพื่อเป็นต้นพันธุ์ไว้แจกเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการทดสอบและพัฒนาการปลูกไม้ผลแบบผสมผสานและขยายพันธุ์ ไม้ผลพันธุ์ดี โดยการตอนและทาบกิ่ง มีการปลูกไผ่ตงเขียวพันธุ์ศรีปราจีน บำรุงรักษาแปลงเพื่อกระตุ้นการออกหน่อและทำการขยายพันธุ์โดยวิธีการตอน เพื่อแจกจ่ายเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีพืชผักสวนครัว และปลูกทดสอบพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม
          ด้านงานประมง มีการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำกว่าสองล้านตัว เพื่อปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมทั้งแจกจ่ายพันธุ์ปลาแก่เกษตรกร และส่วนราชการ รวมทั้งส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อดินนาข้าว ส่วนงานปศุสัตว์ มีการผลิตสัตว์ปีกพันธุ์ดี เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกแก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มผลผลิตแหล่งน้ำสาธารณะ
          ด้านงานพัฒนาที่ดิน มีการปลูกหญ้าแฝก ผลิตหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จัดทำแปลงปุ๋ยพืชสด ทำปุ๋ยหมัก จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ สาธิตการทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และ ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก
          ด้านการส่งเสริมอาชีพ ได้ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงไหมภายในศูนย์ ดูแลแปลงหม่อนภายในศูนย์ สร้างแปลงหม่อนพันธุ์ดี ส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ และปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรือนไหม รวมถึงสนับสนุนไม้ผลพันธุ์ดี ให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสานไม้ผล
นอกจากนี้ ทางโครงการยังมีการเพาะขยายพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี และเมล็ดพันธุ์ผัก สำหรับสนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรให้เกษตรกรในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯอีกด้วย

 
   


ที่มาของข้อมูล : สำนักงาน กปร. หนังสือรายงานผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2552 (หน้า 27-31)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 

Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.