หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดเยี่ยมชม ประมวลภาพกิจกรรม ตอบคำถามชิงของรางวัล ติดต่อเรา

 

     

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเนื่องจากอดีตเป็นแหล่งปลูกข้าวที่มีขนาดใหญ่ แต่กลับประสบปัญหา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ พระราชทานพระราชดำริจัดตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีพื้นที่ทำมาหากินดังเดิม

วันที่ 2 ตุลาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริกับคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนา พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ให้เร่งดำเนินการ ก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนังให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นศูนย์รวมในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งให้พิจารณาเกี่ยวกับ ระบบการระบายน้ำเสียจากนากุ้ง น้ำเปรี้ยวจากพรุ และระบบบำบัดน้ำเสียจากชุมชน เพื่อให้น้ำจืดที่กักเก็บ ไว้ในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ สามารถนำมาใช้อุปโภค – บริโภค ได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น

วันที่ 21 ตุลาคม 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสรับสั่งภายหลังจากที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รายงานสรุปสถานภาพการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมโครงการฯ สรุปความว่าให้กรมประมงสนับสนุนด้านวิชาการการเลี้ยงกุ้ง และการป้องกันมลภาวะ ตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มตามระบบสหกรณ์เสรี จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาทั้งในด้านการผลิตและการตลาด

วันที่ 27 ตุลาคม 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริกับเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เลขาธิการ กปร. และอธิบดีกรมชลประทาน ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความโดยสรุปให้บริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักอุทกศาสตร์

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

ครอบคลุมไปด้วยพื้นที่ของอำเภอที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีทั้งหมด 7 อำเภอคือ
        1.  อำเภอชะอวด
        2.  อำเภอร่อนพิบูลย์
        3.  อำเภอเชียรใหญ่
        4.  อำเภอหัวไทร
        5.  อำเภอปากพนัง
        6.  พื้นที่บางส่วนของอำเภอลานสกา
        7.  อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
        นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บางส่วนของอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

   
วัตถุประสงค์โครงการ :

1. เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับช่วยเหลือการเพาะปลูกของราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตโครงการ
2. เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง
3. เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้ประชาชนไว้ใช้บริโภค

หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :
 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
 

ลักษณะโครงการ :

ลักษณะและองค์ประกอบของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้แก่ ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2539 ณ บ้านบางบี้ ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง ประกอบด้วย “บานระบายเดี่ยว” สูง 9 เมตร กว้าง 20 เมตร จำนวน 6 ช่อง “บานระบายคู่” บานบนสูง 3 เมตร 50 เซนติเมตร บางล่างสูง 5 เมตร 50 เซนติเมตร กว้าง 20 เมตร และที่ติดกับบานประตูระบายน้ำปากพนัง ยังได้ก่อสร้าง “บันไดปลา” ฐานเพาะพันธุ์ปลาสำหรับให้วงจรชีวิตสัตว์น้ำ เป็นไปอย่างปกติธรรมชาติ “ประตูเรือสัญจร” เพื่อให้เรือแพสัญจรผ่านไปมาได้สะดวก


ผู้ได้รับประโยชน์ :
กษตรกรในเขตโครงการทั้งสิ้น 83,983 ครัวเรือน

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

1. แผนงานด้านระบบชลประทานและโครงสร้างพื้นฐาน
     1.1  การก่อสร้างระบบระบายน้ำ

  • ขุดคลองระบายน้ำชะอวด – แพรกเมือง ความยาว 27 กิโลเมตร
  • ขุดลอกคลองบางโด – ท่าพญา - บางไทรปก และบ้านเพิง ความยาว 33 กิโลเมตร   
  • ขุดคลองระบายน้ำหน้าโกฐิ ความยาว 2.9 กิโลเมตร
  • การดำเนินงานแล้วเสร็จปี 2546

1.2  การก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบ

  • ประกอบด้วยประตูระบายน้ำ 3 แห่ง ได้แก่
                   * ประตูระบายน้ำชะอวด – แพรกเมือง
                   * ประตูระบายน้ำท่าพญา
                   * ประตูระบายน้ำคลองปากพนัง (เสือหึง)

1.3  งานขุดลอกคลองธรรมชาติเขตน้ำจืด

1.4  งานขุดลอกคลองธรรมชาติในเขตน้ำเค็ม

  • เพื่อจัดหาน้ำเค็มที่มีคุณภาพดีสำหรับใช้ในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเขตพื้นที่น้ำเค็ม

2. แผนงานด้านพัฒนาการประมง
      2.1  แผนงานด้านการศึกษาวิจัย ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยหารูปแบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีคุณภาพ และลดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อม  ได้แก่
       * การเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบปิด ซึ่งเป็นการนำโอโซนมาใช้ในการกำจัดของเสียจากการเลี้ยงกุ้ง โดยต้องทำการตี ตะกอนเลนในบ่อให้ฟุ้งขึ้นโดยใช้โซ่ลาก ซึ่งกระบวนการเลี้ยงกุ้งในระบบปิดจะสามารถนำน้ำ ที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้ง แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้
       * ทดสอบ พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการทดสอบอนุบาลลูกปลากระพงขาว ปลาหมอไทย และการผลิตปลานิล

  • การติดตามตรวจสอบผลกระทบต่อสัตว์น้ำ พบว่า
            * สัตว์น้ำกร่อย จำนวน 92 ชนิด ได้ลดจำนวนลงจากที่เคยมีอยู่
            * เกิดการเปลี่ยนแปลงน้ำกร่อยเป็นน้ำจืด ทำให้เกิดผักตบชวา และเกิดสภาวะน้ำนิ่งในบางจุด

2.2  แผนงานด้านบริการประชาชน

  • การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • การฝึกอบรมเกษตรกร  ด้วยการนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาถ่ายทอดและฝึกอบรมเกษตรกร จำนวน 300 ราย โดยเน้นการรวมกลุ่มเกษตรกร
  • การตรวจสอบคุณภาพน้ำและโรคพยาธิ ดำเนินการในลักษณะคลีนิคสัตว์น้ำในรูปแบบเดียวกันกับที่ดำเนินการ ณ ศูนย์ฯ คุ้งกระเบน โดยให้บริการด้านวิชาการแก่เกษตรกร จำนวน 1,190 ราย
  • การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืน (ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กปร.   

2.3  งานปรับปรุงพื้นที่ในเขตน้ำเค็ม

3. แผนงานด้านพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร
3.1 ดำเนินการพัฒนาอาชีพทั้งในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร
ภาคเกษตร   ได้แก่

  • วิจัยพัฒนาการผลิตข้าว และการเกษตรผสมผสาน
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพการปลูกข้าว
  • ปรับโครงสร้างการผลิต โดยการปรับปรุงบำรุงดิน และปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตร และปศุสัตว์

นอกภาคเกษตร   ได้แก่

  • พัฒนาอาชีพด้านอุตสาหกรรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน
  • การสร้างโอกาสการประกอบอาชีพ และการมีงานทำ เน้นสนับสนุนการรวมกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มแปรรูปผลผลิต ออมทรัพย์ พัฒนาองค์กรสตรี
  • ส่งเสริมองค์กรเอกชนสร้างงานในพื้นที่ โดยจัดตั้งศูนย์ธุรกิจเกษตรชุมชน และให้ความรู้ด้านการตลาด

4. แผนงานด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม
4.1  แผนการกำจัดวัชพืช

  • ก่อนสร้างประตูระบายน้ำมีน้ำเค็มเข้ามาในแม่น้ำปากพนัง ทำให้วัชพืชแพร่กระจายเฉพาะ ในส่วนที่น้ำเค็มรุกล้ำไปไม่ถึงเท่านั้น
  • เมื่อปิดประตูระบายน้ำปากพนัง ทำให้ด้านเหนือประตูระบายน้ำปากพนังเป็นน้ำจืด ส่งผลให้วัชพืชโดยเฉพาะ ผักตบชวามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุกล้ำไปยังลำน้ำสาขาของแม่น้ำปากพนัง ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเดินทาง การประกอบอาชีพ    รวมทั้งกระทบต่อการระบายน้ำและคุณภาพน้ำ
  • กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ และกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันกำจัดวัชพืชในคลองธรรมชาติ 182 สาย ยาว 1,039 กิโลเมตร ปริมาณ 450,480 ตัน
  • 4.2 โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดเพื่อการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียจากชุมชน

5. แผนการด้านบริหารจัดการโครงการ

  • จัดตั้งกองอำนวยการ เพื่อเป็นแกนกลางในการบริหารโครงการ และมีการบริหารงานในรูปของคณะทำงาน
  • ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้ง อบต. ทุกแห่งในพื้นที่มาร่วมประชุมรับทราบแนวทางในการดำเนินงานต่าง ๆ ของโครงการ

การแก้ไขปัญหาเน้นปัญหาหลัก คือ การขาดแคลนน้ำ ป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เพาะปลูก และบรรเทาอุทกภัย ซึ่งได้ดำเนินการ ก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ การก่อสร้างระบบระบายน้ำสายหลักและอาคารประกอบ เพื่อรองรับฤดูน้ำหลาก และเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเป็นช่วงๆ การก่อสร้างคันแบ่งเขตน้ำจืดและน้ำเค็ม เพื่อลดปัญหาการขัดแย้งในการใช้ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งง่ายต่อการควบคุมไม่ให้เกิดการเน่าเสีย

มีการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตการเกษตร การผลิตพืชผักโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ปรับระบบการผลิตเป็น ไร่นาสวนผสม ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับพื้นที่ขุดคู ยกร่องเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำท่วมขังสามารถกักเก็บน้ำ ไว้ใช้ได้ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี และจัดทำ ศูนย์ส่งเสริมการผลิตข้าวชุมชน ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงและ พัฒนาที่ดินเพื่อปลูกข้าว โดยใช้รูปแบบเช่นเดียวกับการพัฒนา ในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส

 

ความสำเร็จของโครงการ :

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง  มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในพื้นที่ของโครงการ ดังนี้
1. สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด สำหรับการเกษตรและการอุปโภคบริโภคได้ เนื่องจากได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ ปากพนัง เพื่อใช้กักเก็บน้ำจืดไว้ในลำน้ำสาขาปากพนัง สามารถรักษาระดับน้ำในแม่น้ำปากพนัง เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำและ ยังช่วยในการควบคุมการเกิดน้ำเปรี้ยว ดินเปรี้ยวในพื้นที่
2. สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทำกินของราษฎร   เนื่องจากได้มีการก่อสร้างระบบระบายน้ำ และขุดลอกขยายคลองเดิม ทำให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็วยิ่งขึ้น เป็นการบรรเทาอุทกภัย คลองที่ขุดลอกและขยาย ได้แก่  คลองชะอวด-แพรกเมือง  คลองปากพนัง คลองบางโด-ท่าพญา คลองระบายน้ำฉุกเฉิน
3. กำหนดแนวเขตแยกน้ำจืด น้ำเค็มออกจากกันป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็ม โดยให้ทิศตะวันออกของคลองปากพนัง และแม่น้ำปากพนังเป็นพื้นที่เค็ม พร้อมกับจัดระบบชลประทานน้ำเค็ม  ส่วนพื้นที่เทือกเขาสูงทางตะวันตกของลุ่มน้ำปากพนัง จะจัดทำอ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำเพื่อเก็บน้ำจืดมาใช้ในการอุปโภคบริโภคและกิจกรรมอื่น
4. ส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวและการเกษตรในพื้นที่โครงการให้เป็นเหล่งผลิตพันธุ์พืช ธัญญาหาร  เช่นที่เคยเป็นมาในอดีตที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคใต้ให้กลับคืนมาสู่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง  โดยการปรับปรุงระบบ ชลประทาน   โดยแบ่งเป็นระบบส่งน้ำแบบสูบน้ำโดยกรมชลประทาน   และระบบสูบน้ำโดยประชาชน
5. เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการการส่งเสริมการเกษตรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง  มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เกษตรกรมีการ เปลี่ยนแปลง การเพาะปลูก หันมาปลูกไม้ผล ผัก ไม้เศรษฐกิจ พืชไร่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ทำไร่นาสวนผสม และสร้างสวนผลไม้
     โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ มีผลการดำเนินงานที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ สร้างชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นให้แก่ราษฎร เป็นอย่างดียิ่ง ราษฎรได้หวนกลับคืนสู่ถิ่นทำมาหากิน ประกอบอาชีพได้อย่างดี จนบางรายสามารถพัฒนามาเป็นแบบอย่าง แก่พื้นที่อื่น ๆ เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ได้อีกด้วย
     โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่สามารถนำมาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา เพื่อการขยายผลไปสู่ ประชาชน ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญพื้นที่ภาคใต้มีมากถึง 14 จังหวัด แต่ละจังหวัดมีพื้นที่ห่างไกล แต่มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพียงแห่งเดียว คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งค่อนข้างห่างไกลในการเดินทางไปเรียนรู้ สำหรับราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จังหวัดทางภาคใต้ตอนบน ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดกันว่าจะมีการขยายผลให้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์ศึกษา การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ที่มีทุกอย่างเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ฯ เนื่องด้วยลุ่มน้ำปากพนัง จะสามารถเอื้ออำนวยความสะดวกที่จะเป็นแหล่งให้ความรู้และราษฎรจะสามารถเข้าถึงและมีโอกาสได้รับการพัฒนาได้เพิ่มขึ้น

   


ที่มาของข้อมูล : กองประสานงานโครงการฯ 4 สำนักงาน กปร. , www.siamsouth.com

เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.