หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดเยี่ยมชม ประมวลภาพกิจกรรม ตอบคำถามชิงของรางวัล ติดต่อเรา

 

     

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริดอยผาหม่น ดอยผาจิ
จังหวัดเชียงราย

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 
แนวพระราชดำริ :

     เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2543 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยม ราษฎรบ้านร่มฟ้าทอง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และทรงทราบถึงปัญหาต่างๆ ในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา ที่สิ้นสุดห้วงระยะเวลาการดำเนินการไปแล้ว อาทิ ปัญหาการประกอบอาชีพการเกษตร การพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร การกำหนดขอบเขตของพื้นที่ทำกิน และแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ และอื่นๆ นั้น
     สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา(เดิม) ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทรงมอบให้กองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานของโครงการฯ ดังกล่าวเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามหนังสือสำนักพระราชเลขาธิการ ที่ รล 0010/2134 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2543 เรื่องทรงรับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ (เดิม) เป็นโครงการพระราชดำริ ในการนี้กองทัพภาคที่ 3 ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยประสานและร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย - จังหวัดพะเยา กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี  ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 - 2548 พร้อมกับแต่งตั้งคณะทำงานโครงการฯ โดยมี ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกพะเยา เป็นประธานคณะทำงาน และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อเป็นองค์กรบริหารงานในระดับพื้นที่และดำเนินการพัฒนา, แก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จและบรรลุผลตามพระราชประสงค์

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

อำเภอเทิง, อำเภอเวียงแก่น, อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงคำ และอำเภอปง จังหวัดพะเยา

   
วัตถุประสงค์โครงการ :

1. เพื่อสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการช่วยเหลือราษฎรอาสา
สมัครชาวเขาและราษฎรอาสาสมัครกองหนุน ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
2. เพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เป้าหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. เพื่อจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภค ตลอดจนการประกอบ
อาชีพด้านการเกษตรกรรม
4. แนะนำ ส่งเสริม สาธิตถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรแผนใหม่ให้กับราษฎรในพื้นที่ ตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่
5. อนุรักษ์สภาพป่า และป้องกันปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป
6. ส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ   สามารถยังชีพด้านการเกษตร ให้มีผลผลิตทางการเกษตร อย่าง พอเพียงในการดำรงชีพ
7. ให้ราษฎรสามารถมีเส้นทางคมนาคมสะดวก เพื่อขนส่งผลผลิตด้านการเกษตรสู่ท้องตลาด
8. แบ่งแยกที่ทำกินที่อยู่อาศัยของราษฎรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ออกจากพื้นที่ป่าสงวน
9. ส่งเสริมให้ราษฎรได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :
 

ลักษณะโครงการ :

ผู้ได้รับประโยชน์ :
ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 19 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเทิง, อำเภอเวียงแก่น, อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงคำ และอำเภอปง จังหวัดพะเยา

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย  คือ

1. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ
ความเป็นมา
สืบเนื่องจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณารับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา ที่สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการไปแล้วไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทรงมอบให้กองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการ โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การประกอบอาชีพการเกษตร การพัฒนาฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธารร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนองพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาด้านการประกอบอาชีพของเกษตรกร กรมปศุสัตว์จึงจัดทำโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ กิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ขึ้น
พื้นที่ดำเนินการ
18  หมู่บ้าน  ใน  3  อำเภอ ได้แก่
- บ้านร่มฟ้าทอง  หมู่  8   ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น           
- บ้านห้วยคุ  หมู่  8  ตำบลปอ  อำเภอเวียงแก่น           
- บ้านห้วยหาน  หมู่  9   ตำบลปอ  อำเภอเวียงแก่น
- บ้านร่มฟ้าสยาม  หมู่ 15   ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น
- บ้านร่มฟ้าผาหม่น หมู่ 15  ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น
- บ้านร่มฟ้าหลวง  หมู่ 12   ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น
- บ้านฟ้าไทยงาม  หมู่ 13  ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น
- บ้านร่มโพธิ์เงิน หมู่ 11 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น
- บ้านร่มโพธิ์ทอง  หมู่  9    ตำบลตับเต่า   อำเภอเทิง           
- บ้านพิทักษ์ไทย   หมู่  9   ตำบลตับเต่า   อำเภอเทิง
- บ้านไทยสามัคคี  หมู่ 16  ตำบลตับเต่า   อำเภอเทิง
- บ้านร่มโพธิ์ไทย   หมู่  9   ตำบลตับเต่า   อำเภอเทิง
- บ้านราษฎร์รักษา หมู่  8   ตำบลตับเต่า   อำเภอเทิง
- บ้านขุนต้า  หมู่ 11   ตำบลตับเต่า  อำเภอเทิง
- บ้านเล่าตาขาว  หมู่  8 ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง           
- บ้านขุนห้วยไคร้   หมู่ 18 ตำบลตับเต่า  อำเภอเทิง
- บ้านร่มฟ้าไทย    หมู่  9  ตำบลตับเต่า   อำเภอเทิง
- บ้านพญาพิภักดิ์ หมู่  9    ตำบลยางฮอม  อำเภอขุนตาล
วัตถุประสงค์ของโครงการ
     1. ส่งเสริมราษฎรให้มีอาชีพมั่นคง ไม่บุกรุกแผ้วถางป่า
     2. สร้างรายได้ และเพิ่มอาหารโปรตีนจากสัตว์เพื่อบริโภคในครัวเรือน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

2. โครงการทดลองเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก บ้านร่มฟ้าทอง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรและสมาชิกโครงการ ศิลปาชีพ บ้านร่มฟ้าทอง หมู่ที่ 9 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย   มีราษฎรที่เข้าเฝ้าฯ บนศาลา ที่ประทับทรงงาน คือ นางอะตอ แลเซอ อายุ 30 ปี อยู่บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 9 บ้านร่มฟ้าทอง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มีสภาพยากจน สามีติดฝิ่น ทรงคิดจะให้ทดลองเลี้ยงแกะเพื่อเอาขนมาทอผ้าคลุมไหล่ แต่ต้องขอนำกลับไปศึกษากันดูก่อน และนางมอ แซ่ย่าง อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 9 บ้านห้วยหาน ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย สามีเสียชีวิต สภาพยากจนมาก เลี้ยงไก่ไว้มาก แต่เป็นโรคตายเหลืออยู่ 3 ตัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมี พระราชเสาวนีย์ให้ คุณสหัส บุญญาวิวัฒน์ ลองไปสอนให้เลี้ยงไก่อย่างถูกวิธี

ต่อมา ศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จึงได้ประสานส่วนราชการ เพื่อจัดหาพื้นที่ในการจัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่าง และได้พื้นที่พิกัด (PB 509978) มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ เป็นพื้นที่จัดตั้ง โครงการฟาร์มตัวอย่าง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการทดลองเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก ตามพระราชดำริ บ้านร่มฟ้าทอง” ตามวิทยุ กองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ที่ นร 5106/99  ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541

วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนองพระราชประสงค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามพื้นที่โครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ (พื้นที่ทรงงาน)
2. เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรแผนใหม่ ลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และการปลูกพืชเสพติด
3. เพื่อให้ราษฎรมีทักษะในการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
4. เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่
5. เพื่อให้ราษฎรมีแหล่งอาหารในพื้นที่
6. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับราษฎรให้ดีขึ้น
7. เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการถ่ายทอดกรรมวิธีของกิจกรรม ที่ดำเนินการในฟาร์มที่ได้ผล ให้กับราษฎรในพื้นที่โครงการฯ เพื่อดำเนินการเอง
8. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าไม้ในเขตพื้นที่ ให้คงอุดมสมบูรณ์ตลอดไป

เป้าหมาย
ราษฎรในหมู่บ้านร่มฟ้าทอง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และขยายผลไปสู่ราษฎรหมู่บ้านใกล้เคียง ในพื้นที่  ศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ

 

ความสำเร็จของโครงการ :

     โครงการ "พอเพียงสู่ประโยชน์สุข" เชียงราย กปร. พาสื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป..."
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2517
     สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.) ได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจรไปชมพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วทั้งประเทศ รวมถึงต่างประเทศเช่นที่พระราชทานเป็นต้นแบบเพื่อให้ประชาชนในประเทศนั้นยึดเอาเป็นมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เพื่อให้หลุดพ้นจากความอดอยากยากจน ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขแบบยั่งยืนด้วยความพอมีพอกิน ถึงจะไม่ร่ำรวยล้นฟ้า แต่ไม่อดอยากแล้วก็ไม่เป็นหนี้อย่างที่พระราชทานแก่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ดำเนินโครงการต่อเนื่องมิได้หยุด เฉพาะอย่างยิ่งในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรางครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ปีมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา จนถึงปีนี้ก็ยังดำเนินการต่อเนื่อง
     ปีนี้ตั้งชื่อโครงการสื่อมวลชนสัญจร "พอเพียงสู่ประโยชน์สุข" สำนักงานกปร.พาไปชมพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายแห่งแล้ว ทั้งที่เคยไปมาหลายครั้ง สื่อมวลชนไปดูโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรูปแบบการดำเนินชีวิตเพื่อนำไปสู่ความพออยู่พอกิน ไปดูราษฎรตัวอย่างที่เข้าสู่โครงการและสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เคยยากจน อดอยาก เป็นหนี้มาเป็นปลดหนี้ได้ มีกินมีใช้ มีเก็บ ลงเอยมีความสุข พื้นที่ที่ยังไม่เคยไปสัมผัสสื่อมวลชนก็ได้ไปเยือน ไปสัมผัสผลที่เกิดขึ้นจากการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ผลที่เกิดคือประชาชนมีความสุข ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติมั่นคง
     ภาพที่สื่อมวลชนไปสัมผัสผลอันเกิดจากการที่ประชาชนเดินตามแนวพระราชดำรินอกจากเรื่องของเศรษฐกิจเข้มแข็งมั่นคงแล้ว ผื้นที่ดังกล่าวยังมีสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับธรรมชาติที่แข็งแรงมั่นคงโดยอัตโนมัติ เพราะโครงการตามแนวพระราชดำริผลผลิตจะมาคู่กับธรรมชาติแวดล้อมที่ดีงาม คือมีน้ำ มีป่า มีอาหารสมบูรณ์เดินเคียงคู่กันไป วันที่ 4-6 สิงหาคมที่ผ่านมาสำนักงานกปร.นำโดยนางสาวศรีนิตย์ บุญทอง รองเลขาธิการกปร. คุณกานตี พรหมศิริ ผู้เชี่ยวชาญ นายศรีเมือง วิริยศิริ ที่ปรึกษาฯเป็นต้น พาสื่อมวลชนไปในโครงการ "พอเพียงสู่ประโยชน์สุข"  จำไม่ได้แล้วเป็นครั้งที่เท่าไหร่ แต่ไปมาหลายครั้งแล้ว คราวนี้ไปยังพื้นที่จังหวัดเชียงราย ไปสัมผัสโครงการเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการพัฒนาที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระดำริให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ที่ได้หลายอย่างหลายประการ
     ตั้งแต่การที่ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขขึ้น ความมั่นคงในด้านต่างๆ ของพื้นที่ตะเข็บรอยต่อก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่มากยิ่งขึ้น ทำให้มีความมั่นคงทั้งในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมคือป่าแหล่งต้นน้ำ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เพราะไม่เกิดการทำลาย ทำให้สามารถดูแลปัญหายาเสพติดให้ลดน้อยและหมดไปได้
     การที่สำนักงานกปร.พาสื่อมวลชนไปในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 76 พรรษา 12 สิงหาคม 2551 พื้นที่แรกคือโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงดอยยาว ดอยผาหม่นและดอยผาจิ มีพื้นที่เกี่ยวโยงกันถึง 3 อำเภอคือเวียงแก่น มี บ้านร่มฟ้าทอง บ้านห้วยคุ บ้านห้วยหาน บ้านร่มฟ้าสยาม บ้านร่มฟ้าผาหม่น บ้านร่มฟ้าหลวง บ้านฟ้าไทยงาม บ้านร่มโพธิ์เงิน ทั้งหมดอยู่ในตำบลปอ อำเภอเทิงมี บ้านร่มโพธิ์ทอง บ้านพิทักษ์ไทย บ้านไทยสามัคคี บ้านร่มโพธิ์ไทย บ้านราษฎร์รักษา บ้านขุนต้า บ้านเล่าตาขาว บ้านขุนห้วยไคร้ บ้านร่มฟ้าไทย อยู่ในตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดพะเยา และในอำเภอขุนตาล พะเยาเช่นกัน คือบ้านพญาพิภักดิ์ ตำบลยางฮอม
     สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อปี 2540 ให้ดำเนินการจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างเพื่อเป็นการฝึกสอนแก่ราษฎรในพื้นที่โครงการศิลปาชีพและในหมู่บ้านโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ดอยยาว ดอยผาหมั่นและดอยผาจิ ที่บ้านร่มฟ้าทอง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้ตั้งฟาร์มสัตว์ปีกเช่นไก่ เพื่อสอนวิธีเลี้ยง ทำฟาร์มแกะเพื่อนำขนให่ชาวบ้านไปทอผ้าคลุมไหล่จำหน่ายในศูนย์ศิลปาชีพ ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรมีอาหาร นำจำหน่ายให้มีรายได้ นำแปรรูปเป็นผลผลิตใหม่เพื่อจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีรายได้ในการเป็นแรงงานรับจ้างในฟาร์ม โดยให้อยู่ในความดูแลของกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้จัดตั้ง ควบคุมดูแล และให้กรมปศุสัตว์ร่วมรับผิดชอบสนับสนุนด้านการเลี้ยงแกะ สัตว์ปีก ตลอดจนสนับสนุนบุคลากรให้คำแนะนำ ถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงสัตว์และการป้องกันโรคสัตว์
     พื้นที่ดอยผาหม่นเป็นที่ตั้งภูชี้ฟ้า สถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อของประเทศไทย อยู่สูงกว่าน้ำทะเลถึงเกือบสองพันเมตร พื้นที่ดอยยาว ดอยผาจิ ก็อยู่ต่อเชื่อมกันรวมพื้นที่ที่ต่อเนื่องกันแล้วก็คือสภาพดอยหรือภูเขาที่เรียงรายไล่ลดหลั่นความสูงต่ำกันไป มีพื้นราบบางช่วง ไล่ไหล่เขาลดหลั่นเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรพื้นถิ่นคือชาวไทยภูเขา มีคนเมืองเข้าไปจับจองพื้นที่สร้างที่พักพิงเชิงธุรกิจที่เรียกกันว่ารีสอร์ทเรียงรายเป็นระยะรองรับนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปเยือนภูชี้ฟ้า และนักนิยมไพรธรรมชาติ โดยเฉพาะนักนิยมความเย็นฉ่ำของอากาศในหุบเขาที่เย็นทั้งกลางวันและกลางคืนแม้ในช่วงที่มิใช่ฤดูหนาวก็เย็นฉ่ำ ได้ใช้บริการรีสอร์ทที่ตั้งเรียงรายรอให้บริการจำนวนไม่น้อย ยอดดอยหลายลูกยังหลงเหลือร่องรอยของการตัดไม้ถากถางจนโล่งเตียนเพื่อปลูกพืชผักผลไม้ แต่วันนี้สภาพโดยรวมสังเกตได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงในด้านดีขึ้น คือดูเหมือนว่าธรรมชาติอันได้แก่ป่าบนยอดดอยเพิ่มปริมาณมากขึ้น ชาวบ้านที่เป็นชาวไทยภูเขาลดการบุกรุกทำลายลงไปมากเนื่องจากได้รับพระราชทานการเกื้อหนุนจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถผ่านศูนย์ศิลปาชีพ ผ่านโครงการพัฒนาดอยยาว ดอยผาหม่นและดอยผาจิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ราษฎรมีรายได้จากการจ้างงานมีรายได้จากการเป็นผู้ผลิตคือผู้ปลูกผัก ผู้เลี้ยงสัตว์โดยความรู้ที่ได้พระราชทานพระราชเสาวนีย์ให้ส่วนราชการไปสนับสนุน
     ท่านรองเลขาฯ ศรีนิตย์พาไปถึงพื้นที่เกือบถึงยอดดอยภูชี้ฟ้าในช่วงบ่ายวันที่ 4 ส.ค. แม้ว่าเส้นทางจะไม่ได้ลำบากยากเย็นอะไรนัก แต่มีข้อจำกัดสำหรับพาหนะที่จะขึ้นไปถึงเหมือนกัน เพราะในช่วงหนึ่งต้องไต่ระดับขึ้นดอยสูงขึ้นๆ ยิ่งใกล้ยอดภูชี้ฟ้ามีความสูงชัน ถ้ามีฝนตกยิ่งมีอุปสรรคคือถนนจะลื่น รถที่ไปจะต้องค่อยๆ ขึ้นไปทีละคัน มีเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับอย่างเช่นนายอำเภอชัยสิทธิ์ รัตนชัยสิทธิ์ พันเอกพจญ จอมพงศ์ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เจ้าของพื้นที่โดยตรงจากตัวจังหวัดเชียงรายไปคอยให้ความสะดวกด้วย
     โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา อย่างที่บอกว่าถึงวันนี้ที่ไปเห็นสภาพ คิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมากมาย เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์สุขแก่ราษฎรและประเทศชาติอย่างแท้จริง

 
   


ที่มาของข้อมูล : สำนักงาน กปร. , http://www.dld.go.th/ ,http://www.dnp.go.th/ , นสพ.สยามรัฐ


ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.