หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดเยี่ยมชม ประมวลภาพกิจกรรม ตอบคำถามชิงของรางวัล ติดต่อเรา

 

     

ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร 
จังหวัดนราธิวาส

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
แนวพระราชดำริ :
พ.ศ. 2545 หน่วยปฎิบัติการวิจัยร่วมทางธรรมชาติวิทยาป่าพรุ และป่าดิบชื้นฮาลา-บาลา ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ค้นคว้าวิจัยและสำรวจเพื่อนำองค์ความรู้ไปขยายผลดำเนินการวิจัยต่อ เป็นการส่งเสริมงานวิจัยด้านชีวทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นแก่การรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยและทรงงานวิจัยป่าพรุด้วยพระองค์เอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อ "ศุนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิริธร" พ.ศ. 2534
 
 
ที่ตั้งของโครงการ : พื้นที่ดำเนินการอยู่บริเวณคลองโต๊ะแดง ฝั่งขวา ท้องที่บ้านโต๊ะแดง หมู่ที่ 5 ตำบลปูโย๊ะ อำเภอสุไหงโก-ลก  จังหวัดนราธิวาส
   
วัตถุประสงค์โครงการ :

1. เพื่อศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และสำรวจหาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับป่าพรุมาใช้ในการ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าพรุ
2. เพื่ออนุรักษ์ป่าพรุสมบูรณ์ตามธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไป และฟื้นฟูสภาพป่าพรุเสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่สภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม
3. เพื่อสาธิตและเผยแพร่งานป่าพรุทั้งด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าพรุ
4. เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึก และประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้ทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของป่าพรุ

 

หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :
 

ลักษณะโครงการ :
ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุ

ผู้ได้รับประโยชน์ :
ราษฎรโดยรอบศูนย์ฯ

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

     ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งรับผิดชอบงานทางด้านป่าไม้ ครอบคลุมพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง ทั้งหมด 125,625 ไร่ ได้ดำเนินการตั้งปี 2533 โดยกรมป่าไม้ ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่พรุที่จะดำเนินการจัดตั้งสำนักงานบริเวณคลองโต๊ะแดง ท้องที่บ้านโต๊ะแดง ตำบลปูโย๊ ะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นสถานที่สำหรับศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ และความเพลิดเพลิน ในความหลากหลายของทรัพยากรป่าพรุธรรมชาติของประชาชนทั่วไป โดยใช้ชื่อว่า “ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ” และในปี 2534 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาคัดเลือก ให้ศูนย์แห่งนี้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมมายุ 36 พรรษา และต่อมาในปี 2535 ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตใช้ชื่อว่า “ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร”

 

ความสำเร็จของโครงการ :

     ป่าพรุสิรินธรเป็นส่วนหนึ่งของป่าพรุโต๊ะแดง ป่าพรุแห่งสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งคลุมพื้นที่ของ 3 อำเภอ คือ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโกลก และอำเภอสุไหงปาดี มีพื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ แต่ส่วนที่สมบูรณ์โดยประมาณมีเพียง 50,000 ไร่ เป็นป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าและ พรรณไม้ พื้นที่ป่าพรุมีลำน้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน คือ คลองสุไหงปาดี แม่น้ำบางนรา และคลองโต๊ะแดง อันเป็นที่มาของชื่อป่าภายในศูนย์ฯ ได้จัดให้มีทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติของป่าพรุ เริ่มที่บึงน้ำด้านหลังอาคารศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรเป็นสะพานไม้ต่อลัดเลาะเข้าไปในป่าพรุ ระยะทาง 1,200 เมตร บางช่วงเป็นสะพานไม้ร้อยลวดสลิง บางช่วงเป็นหอสูงสำหรับมองทิวทัศน์เบื้องล่างที่ชอุ่มไปด้วยไม้นานาพรรณในป่าพรุ จะมีป้ายชื่อต้นไม้ที่น่าสนใจ และซุ้มความรู้อยู่เป็นจุดๆ สำหรับให้ความรู้แก่ผู้เดินชมด้วย เปิดทุกวันเวลา 8.00-16.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม และยังมีห้องจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่คนที่มาเที่ยวชมอีกด้วย
     ป่าพรุ หรือ peat swamp forest เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบคือ เกิดจากแอ่งน้ำจืดขังติดต่อกันชั่วนาตาปี และมีการสะสมของชั้นดินอินทรียวัตถุ ก็คือซากพืช ซากต้นไม้ ใบไม้ จนย่อยสลายอย่างช้าๆ กลายเป็นดินพีท (peat) หรือดินอินทรีย์ที่มีลักษณะหยุ่นยวบเหมือนฟองน้ำมีความหนาแน่นน้อยอุ้มน้ำได้มาก และพบว่ามีการสะสมระหว่างดินพีท กับดินตะกอนทะเล สลับชั้นกัน 2-3 ชั้น เนื่องจากน้ำทะเลเคยมีระดับสูงขึ้นจนท่วมป่าพรุ เกิดการสะสมของตะกอน น้ำทะเลถูกขังอยู่ด้านใน พันธุ์ไม้ในป่าพรุตายไปและเกิดป่าชายเลนขึ้นแทนที่ เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงและมีฝนตกลงมาสะสมน้ำที่ขังอยู่จึงจืดลง และเกิดป่าพรุขึ้นอีกครั้ง ดินพรุชั้นล่างมีอายุถึง 6,000-7,000 ปี ส่วนดินพรุชั้นบนอยู่ระหว่าง 700-1,000 ปี
ระบบนิเวศน์ในป่าพรุนั้นมีหลากหลาย ทุกชีวิตล้วนเกี่ยวพันต่อเนื่องกัน ไม้ยืนต้นจะมีระบบรากแขนงแข็งแรงแผ่ออกไปเกาะเกี่ยวกันเพื่อจะได้ช่วยพยุงลำต้นของกันและกันให้ทรงตัวอยู่ได้ ฉะนั้นต้นไม้ในป่าพรุจึงอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หากต้นใดล้ม ต้นอื่นจะล้มตามไปด้วย
     พันธุ์ไม้ที่พบในป่าพรุมีกว่า 400 ชนิด บางอย่างนำมารับประทานได้ เช่น หลุมพี ซึ่งเป็นไม้ในตระกูลปาล์ม มีลักษณะต้นและใบคล้ายปาล์ม แต่มีหนามแหลมอยู่ตลอดก้าน ผลมีลักษณะคล้ายระกำ แต่จะเล็กกว่า รสชาติออกเปรี้ยว ชาวบ้านนำมาดองและส่งขายฝั่งมาเลเซีย ซึ่งคนมาเลย์จะนิยมมาก ฤดูเก็บจะอยู่ในช่วงเดือน พฤศจิกายน-มีนาคม ถ้าเป็นช่วงอื่นจะหายากและราคาสูง บางอย่างเป็นพืชพรรณในเขตมาเลเซีย เช่น หมากแดง ซึ่งมีลำต้นสีแดง เป็นปาล์มชั้นดีมีราคา มีผู้นิยมนำไปเพาะเพื่อประดับสวน เพราะความสวยของกาบและใบ ลำต้นมีสีแดงดังชื่อ ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่น่าสนใจ เช่น ปาหนันช้าง พืชในวงศ์กระดังงาที่มีดอกใหญ่และกล้วยไม้กับพืชเล็กๆ ซึ่งจะต้องสังเกตดีๆ จึงจะได้เห็นสัตว์ป่าที่พบกว่า 200 ชนิด เช่น ค่าง ชะมด หมูป่า หมีขอ แมวป่าหัวแบน(ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองที่หายากอีกชนิดหนึ่งของไทย) หนูสิงคโปร์ พบค่อนข้างยากในคาบสมุทรมลายูแต่ชุกชุมมากบนเกาะสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยพบชุกชุมในป่าพรุโต๊ะแดงนี้เท่านั้น และหากป่าพรุถูกทำลายหนูเหล่านี้อาจออกไปทำลายผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบได้
     พันธุ์ปลาที่พบ ได้แก่ ปลาปากยื่น เป็นปลาชนิดใหม่ของโลกพบที่ป่าพรุสิรินธรนี้เท่านั้น ปลาดุกรำพัน ที่มีรูปร่างคล้ายงูซึ่งอาจพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจที่ใช้เลี้ยงในแหล่งที่มีปัญหาน้ำเปรี้ยวได้ ปลากะแมะ รูปร่างประหลาดมีหัวแบนๆกว้างๆ และลำตัวค่อยๆยาวเรียวไปจนถึงหาง มีเงี่ยงพิษอยู่ที่ครีบหลัง ปลาเหล่านี้จะอาศัยป่าพรุเป็นพื้นที่หลบภัยและวางไข่ก่อนที่จะแพร่ลูกหลานออกไปให้ชาวบ้านได้อาศัยเป็นเครื่องยังชีพ
     นกที่นี่มีหลายชนิด แต่ที่เด่นๆ ได้แก่ นกกางเขนดงหางแดง มีมากในเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบครั้งแรกที่นี่เมื่อปีพ.ศ. 2530 นกจับแมลงสีฟ้ามาเลเซีย ซึ่งในประเทศไทยจะพบที่ป่าพรุสิรินธรเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และปัจจุบันนกทั้งสองชนิดอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์
     ความน่าสนใจของป่าพรุไม่ใช่เพียงแต่ พรรณไม้แปลกๆ สัตว์ป่าหายาก แต่คนที่ไปเที่ยวโดยเฉพาะเด็กๆจะได้ประสบการณ์ชีวิตกลับไปมากมาย จากธรรมชาติรอบตัวบางทีหากเดินชมธรรมชาติเงียบๆอาจจะได้พบสัตว์ป่ากำลังหาอาหารอยู่ก็เป็นได้ เส้นทางนี้นำเราเข้าไปหาธรรมชาติอย่างใกล้ชิดแต่ก็ไม่ได้นำเราเข้าไปล่วงเกินธรรมชาติมากนัก
     หากนำคู่มือดูนก สมุดบันทึก ดินสอสี กล้องส่องตา กล้องถ่ายรูป และยาทากันยุงไปด้วย อาจจะเพลิดเพลินจนใช้เวลาในนี้ได้ทั้งวัน อากาศสดชื่นเย็นสบายในป่าพรุก็ยังทำให้คนที่เข้าไปเยือนรู้สึกสดชื่นประทับใจ แต่ช่วงเวลาที่มาท่องเที่ยวได้สะดวกคือ กุมภาพันธ์-เมษายน เพราะฝนจะตกน้อยที่สุด เนื่องจากป่าพรุมีภูมิอากาศแบบคาบสมุทร ฉะนั้นจึงมีฝนตกชุกตลอดปี

 
   


ที่มาของข้อมูล : สำนักงาน กปร. ,ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร
( http://www.most.go.th/main/index.php/services/knowledge-service/1151-2009-12-03-03-51-22.html ) 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.