โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดยโสธร

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

 

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
 
แนวพระราชดำริ :

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร บ้านคำน้ำสร้าง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 ทรงรับทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนที่ชาวบ้านได้ถวายรายงาน จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยราชการ ให้การช่วยเหลือดูแลราษฎรให้อยู่ดีกินดี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ ด้วยการขุดลอกหนองอึ่งที่เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ พร้อมการพัฒนาปรับปรุงดินและพื้นที่แห้งแล้ง ด้วยการปลูกป่าและหญ้าแฝก รวมถึงการฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบหนองอึ่ง ในพื้นที่กว่า 3,006 ไร่ โดยราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมและร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่โดยรอบหนองอึ่ง

พื้นที่หนองอึ่ง มีแม่น้ำสองสายมาบรรจบหรือสบกัน คือแม่น้ำชีและลำน้ำยัง พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ลุ่มต่ำและเป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน ทำให้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ราษฎรจำนวน 7 หมู่บ้าน ประสบกับปัญหาน้ำท่วมมาอย่างยาวนาน เส้นทางสัญจรถูกตัดขาดติดต่อไม่ได้ พื้นที่การเกษตรเพาะปลูกข้าวนาปีมีความเสียหาย ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นซ้ำซากทุกๆ ปี ขณะเดียวกันเมื่อถึงช่วงฤดูแล้งน้ำแห้งไม่มีน้ำเพียงพอเพื่อการอุปโภค บริโภค ทำการเกษตรไม่ได้ผล

อดีตก่อนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพัฒนาหนองอึ่ง ประสบ ปัญหาน้ำทวีความรุนแรงขึ้นต่อการดำรงชีพ ในเวลาเดียวกันประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อความอยู่รอด ชาวบ้านจึงทำทุกอย่างแม้แต่การบุกรุกถากถางป่า ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกแผ้วถางเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อเพิ่มพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอย นำไม้มาทำฟืน และใช้สอย ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรม ชาวบ้านโดยรวมจึงมีชีวิตยากลำบากยิ่งขึ้น ในระยะหลังแม้แต่จะอาศัยเก็บหาของป่าเพื่อบริโภคและจำหน่วยไม่ได้เหมือนเดิม ราษฎรส่วนหนึ่งต้องพากันอพยพออกไปรับจ้างย้ายถิ่นฐานไปอยู่หัวเมืองใหญ่ เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ต่อมาได้จัดตั้งเป็น “ป่าชุมชนดงมัน” ในปี 2546 เพื่อสนองพระราชดำริ “ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล” โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยราชการต่างๆ อาทิ จังหวัดยโสธร กรมป่าไม้ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นต้น

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง  จังหวัดยโสธร

   
วัตถุประสงค์โครงการ :

1.เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดิน
2.เพื่อแก้ปัญหาสภาพของหน้าดินที่ถูกน้ำพัดพาไป
3.เพื่อแก้ปัญหาสภาพด้านการเกษตรให้แก่ราษฎรบริเวณท้ายอ่าง


- สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์...อ่านต่อ
- เดลินิวส์...(9 กค. 54)...อ่านต่อ
- แนวหน้า (4 กค. 54)...อ่านต่อ
- แนวหน้า (30 มิย. 54)...อ่านต่อ
- คมชัดลึก(2 กค. 54).....อ่านต่อ
- ไทยโพสต์ (15 กค. 54) ....อ่านต่อ
- บ้านเมือง (21 กค.54)...อ่านต่อ

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

-กรมป่าไม้ -กรมส่งเสริมสหกรณ์ -โครงการชลประทานยโสธร -สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ -จังหวัดยโสธร

 

ลักษณะโครงการ :

การพัฒนาพื้นที่หนองอึ่งให้เป็นแหล่งเก็บน้ำ เพื่อนำน้ำมาใช้ในการเกษตร ซึ่งเดิมประชาชนในพื้นที่โดยรอบประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และการร่วมปลูกป่าและอนุรักษ์พื้นที่ป่าดงมัน ให้เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ นอกจากนี้โครงการฯ ยังมีการศึกษาการเพาะเห็ดธรรมชาติ การเพาะพันธุ์ไม้ เพื่อเพาะปลูกในป่าชุมชน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากป่า เช่น ได้รวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากป่าในชุมชน จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ในชื่อผลิตภัณฑ์ วนาทิพย์ โอทอป ชุมชนคนรักป่า ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น เห็ดโคนในน้ำเกลือ, เห็ดเผาในน้ำเกลือ, ไข่มดแดงในน้ำเกลือ, เห็ดละโงกในน้ำเกลือ, เห็ดตับเต่าในน้ำเกลือและแม่เป้งคั่วเกลือ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มได้เป็นอย่างดี และผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนที่ร่วมเยี่ยมชมเป็นอย่างมากและจะนำไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายต่อไป

- จัดตั้งป่าชุมชน/องค์กร/กองทุนป่าชุมชน
- ส่งเสริมการบริหารจัดการป่าชุมชนในรูปแบบฟาร์มเศรษฐกิจพอเพียง
- ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านป่าไม้ เพื่อปลูกป่าในใจคน
- พัฒนาศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


ผู้ได้รับประโยชน์ :
เกษตรกรในพื้นที่และประชาชนทั่วไป ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน จำนวน 824 ครัวเรือน ประชากร 3,403 คน ในท้องที่ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

กิจกรรมจัดตั้งป่าชุมชน/องค์กร/กองทุนป่าชุมชน
จัดตั้งป่าชุมชนดงมันสาธาณประโยชน์ 3,006 ไร่ เป็นป่าชุมชนโดยแบ่งพื้นที่ป่า/เขต รับผิดชอบเป็น 7 แปลง 7 หมู่บ้านจัดตั้งองค์กรป่าชุมชน 8 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารองค์กรกลาง 1 คณะ คณะกรรมการระดับหมู่บ้าน 7 คณะ และกลุ่มอาชีด้านป่าไม้ จำนวน 2 กลุ่มจัดตั้งกองทุนป่าชุมชนดงมัน ประกอบด้วย กองทุนส่วนกลาง 1 กองทุน กองทุนระดับหมู่บ้าน 7 กองทุน โดยมีรายได้มาจากการจำหน่ายไม้โตเร็วที่ปลูกโดยชุมชน ผลกำไรร้อยละ 10 จากกิจกรรมการแปรรูปอาหารจากป่า เงินค่าปรับ ไหม  รวมถึงการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน

กิจกรรมส่งเสริมการบริหารจัดการป่าชุมชนในรูปแบบฟาร์มเศรษฐกิจพอเพียง
การบริหารการจัดการป่าชุมชน
- เพื่อการอนุรักษ์(พื้นที่ป้าที่มีอยู่เดิม) อนุรักษ์ คุ้มครอง ให้ฟื้นคืนตัวตามธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
- เพื่อการใช้สอย(พื้นที่ไร่ร้าง) ฟื้นฟูและพัฒนาในรูปแบบ ป่าสานอย่างประโยชน์สี่อย่าง ป่าไม้โตเร็ว
- เพื่อการเกษตรเชิงประณีต (พื้นที่ไร่ร้าง) การปลูกพืชอายุสั้น ธนาคาร/พันธุ์ไม้เชิงเศรษฐกิจ/หญ้าอาหารสัตว์

การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านป่าไม้ เพื่อปลูกป่าในใจคน
- กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการแปรรูปอาหารจากป่าชุมชน (วนาทิพย์ โอท็อปชุมชนคนรักษ์ป่า) โดยมีกลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดค้อเหนือ 7 หมู่บ้านเป็นกลุ่มเป้าหมาย
- ส่งเสริมและพัฒนาระบบวนเกษตร (ป่าไม้-ปศุสัตว์-เกษตร) เป้าหมาย 300 ไร่ต่อครัวเรือนโดยมีเครือข่ายพัฒนาฟาร์มเชิงนิเวศน์ดงมัน 7 หม่บ้านเป็นกลุ่มเป้าหมาย

กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
ศูนย์ข้อมูลและบริการ บริเวณสำนักงานชั่วคราวโครงการฯ (กรมป่าไม้)
แหล่งเรียนรู้ การแปรรูปผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากป่า/ป่าสามอย่างในระบบวนเกษตร(กรมป่าไม้) การเลี้ยงโคขุน (กรมปศุสัตว์) การปลูกพืชปลอดสารพิษ /ไผ่เลี้ยงแยกหน่ออื่นๆ (กรมส่งเสริมการเกษตร/กรมวิชาการเกษตร) การเลี้ยงปลาในกระชัง(กรมประมง) ธนาคารปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภาพ (กรมพัฒนาที่ดิน)       

 

ความสำเร็จของโครงการ :

ป่าชุมชนดงมันเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ จำนวน 3,006 ไร่ ซึ่งเป็นป่าบกผืนเดียวที่น้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพเป็นป่าดิบแล้งผสมเต็งรัง เป็นแหล่งพึ่งพิงที่สำคัญยิ่งของ 7 หมู่บ้านเป้าหมายโครงการ ในการเป็นแหล่งเก็บหาของป่าไม้ใช้สอย ไม้ฟืน รวมถึงการปลูกพืชไร่  และทำเลเลี้ยงสัตว์ ทรัพยากรป่าไม้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม คงเหลือสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ประมาณ 800 ไร่ ป่าเสื่อมโทรม 1,200 ไร่ และพื้นที่ไร่ร้างประมาณ 800 ไร่ กรมป่าไม้โดยโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริ หลักภูมิสังคม โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎร ผู้นำหมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดการทรัพยากรป่าไม้ ดงมันสาธารณประโยชน์ 3,006 ไร่ ในหลักการของป่าชุมชน โดยการส่งเสริมการบริหารการจัดการป่าในรูปแบบ ฟาร์มเศรษฐกิจพอเพียง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และใช้ประโยชน์ป่าอย่างมรสมดุล และยั่งยืน

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ลงพื้นที่ติดตาม ความคืบหน้าของการดำเนินโครงการและเยี่ยมชมราษฎรบริเวณพื้นที่หนองอึ่งซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการ นายบัวผัน เศษสุวรรณ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด (ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2554) เล่าความรู้สึกของตนให้ฟังอย่างปลาบปลื้มว่า อานิสงค์จากโครงการหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำรินำไปสู่การสร้าง ป่าชุมชนด้วยความสามัคคีของชาวบ้านสนองพระมหากรุณาธิคุณทำให้ชาวบ้านโดยรอบจำนวน 7 หมู่บ้าน มีรายได้ จากการเก็บหา ของป่าขายมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทในแต่ละปี ซึ่งรายได้หลักที่เกิดขึ้นจากป่าชุมชนดงมัน ณ เวลานี้มีมากมาย ที่สำคัญได้แก่ เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดก่อ จินูน จิ้งโก่ง ไข่มดแดง มันป่า แต่ที่โดดเด่น คือ เห็ดโคน ซึ่งดอกมีขนาดใหญ่และยาวที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า ‘เห็ดโคนหยวก‘ ในแต่ละปีสามารถเก็บได้จากป่าดงมันได้ประมาณ 5-6 ตัน นอกจากเห็ดโคนแล้ว ปัจจุบัน เห็ดต่างๆ ที่อยู่ในป่าชุมชนดงมัน นับวันจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐในการฟื้นฟูสภาพป่า รวมถึงการป้องกันรักษาป่าโดยองค์กรป่าชุมชนแล้วก็ความชุ่มชื้นจากแหล่งน้ำทำให้ราษฎรมีอาชีพ มีงานทำมีรายได้จากป่าดงมันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือ จึงทำให้ราษฎรมีรายได้ที่ยั่งยืน

นายบัวผัน เศษสุวรรณ์ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาอาศัยป่าและได้ผลประโยชน์จากป่า สามารถสร้างอาชีพด้วยการเก็บของป่า และเกิดการแปรรูปอาหารจากป่าชุมชนดงมัน ภายใต้สหกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในนาม “วนาทิพย์ โอท็อปชุมชนคนรักษ์ป่า” และยังได้รับการคัดสรรเป็นโอท็อประดับ 5 ดาวของจังหวัดยโสธรในปี 2552 ถึงปัจจุบัน โครงการพัฒนาพื้นที่หนองอึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานในเบื้องต้นจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ทำให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพได้มั่นคงยิ่งขึ้น
“ผลสำเร็จของการฟื้นฟูป่าไม้บริเวณพื้นที่หนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริจนกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณแห่งล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระ องค์เป็นที่ประจักษ์และซาบซึ้งของชาวจังหวัดยโสธร โดยเฉพาะราษฎรตำบลค้อเหนืออย่างหาที่สุดมิได้แท้จริง” นายบัวผัน เศษสุวรรณ์ บอกเล่า

 
   


ที่มาของข้อมูล : เอกสารประกอบ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร ผู้ที่เกี่ยวข้อง : สำนักงาน กปร. จังหวัดยโสธร กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมสหกรณ์
เบอร์ติดต่อ : สกรณ์การเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำกัด
ที่อยู่ : หมู่ 12 ต.ค้อเหนือ อ.เมือง จ.ยโสธร โทรศัพท์ : 0-4573-7010, 08-1955-3813 www.nuco-op.com
ผู้ติดต่อ : นายสมศักดิ์ ทวินันท์ นักวิชาการป่าไม้ 6 ทำหน้าที่หัวหน้า โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร โทร.081-8784057

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.