โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ (โครงการคลองลาน)
จังหวัดกำแพงเพชร

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงกา

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ




   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 
แนวพระราชดำริ :

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรบ้านสักงาม หมู่ที่ 1 ตำบลสักงาม อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเข้าเฝ้า ณ อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนสักงามประชาสรรค์ ทรงได้รับการถวายฎีกาจากราษฎรชาวไทยภูเขาที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเขตอุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
เป็นชาวไทยภูเขากลุ่มที่ได้ฝึกศิลปาชีพที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ว่า ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และได้รับสัญชาติไทย อีกทั้งทรงพบว่า มีราษฎรยากจนเป็นจำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน มีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง และบางส่วนไม่มีงานทำ ราษฎรเหล่านี้ส่วนมากเป็นชาวไทยภูเขา มีความสามารถพิเศษในการทำเครื่องเงิน ปักผ้า และจักสาน โดยเฉพาะการทำเครื่องเงินและปักผ้านั้น สามารถทำได้อย่างสวยงามและฝีมือดี น่าจะได้มีการรวมกลุ่มราษฎรชาวไทยภูเขาต่าง ๆ เหล่านี้ โดยจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามกลุ่มอาชีพที่ราษฎรถนัด โดยให้หัวหน้าครอบครัวที่ทำหน้าที่ปลูกต้นไม้รักษาป่าในยามว่าง หลังจากการปลูกป่าก็ให้ทำเครื่องเงิน แกะสลัก จักสาน ส่วนแม่บ้านให้ปักผ้าส่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพต่อไป ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชเสาวนีย์ความว่า
“ให้แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรและป่าไม้จังหวัดกำแพงเพชร จัดหาพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวบ้านเขาแม่พืช และบ้านแปลงสี่ โดยจัดที่ทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ และให้มีการพัฒนาคุณถาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ตลอดจนส่งเสริมให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จะทำให้ขายสินค้าของที่ระลึกได้”จากพระราชเสาวนีย์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดโครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ณ พื้นที่บ้านอุดมทรัพย์ หมู่ที่ 8 ตำบลหินดาต กิ่งอำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร มีเนื้อที่ประมาณ 210 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราษฎรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน ทำไร่เลื่อนลอย ได้มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมให้ราษฎรได้ประกอบอาชีพที่ถนัด พร้อมกับช่วยฟื้นฟูสภาพป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และส่งเสริมให้หมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

 

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

บ้านอุดมทรัพย์ ตำบลหินดาต กิ่งอำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธาร ลำน้ำแม่วงศ์ คลองสวนหมาก คลองวังเจ้า ให้กลับมีความสมบูรณ์ดังเดิม
2. เพื่อช่วยให้ราษฎรซึ่งขาดแคลนที่ดินทำกิน ทำไร่เลื่อนลอยได้มีที่ดินเป็นหลักแหล่ง ไม่บุกรุกแผ้วถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

สำนักงานป่าไม้จังหวัดกำแพงเพชร

                                                      
 

ลักษณะโครงการ :

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงมีดำริ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537 กับนายผ่อง เล่งอี้ อธิบดีกรมป่าไม้
พลโทยิ่งยส โชติมาย แม่ทัพภาคที่ 3 นายศิวะ แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ความโดยสรุป คือ
1. ให้จัดหาพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวเขาบ้านแม่พืช และบ้านแปลงที่สี่ที่เคยอาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติแม่วงศ์ โดยจัดที่ทำกินในครอบครัวละ 5 ไร่
2. พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา โดยจัดอาชีพให้ผู้ชายรับจ้างปลูกป่า ผู้หญิงทำเครื่องเงิน เย็บปัก จักสาน
3. ส่งเสริมให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จะทำให้ขายสินค้าของที่ระลึกได้


ผู้ได้รับประโยชน์ :
ราษฎรบ้านอุดมทรัพย์ หมู่ที่ ๘ ตำบลหินดาต กิ่งอำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้ราษฎรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน ทำไร่เลื่อนลอย ได้มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมให้ราษฎรได้ประกอบอาชีพที่ถนัด พร้อมกับช่วยฟื้นฟูสภาพป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และส่งเสริมให้หมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้ดำเนินการปรับเกรดทางรอบเขาน้ำอุ่น เพื่อเป็นแนวกันไฟและเป็นเส้นทางตรวจการณ์รอบพื้นที่โครงการ ระยะทาง 70 กิโลเมตร ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ในหมู่บ้านอุดมทรัพย์และดำเนินการขยายเขตการให้บริการไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่โครงการฯ บ้านอุดมทรัพย์
2. การพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ดำเนินการจัดสร้างแหล่งน้ำในบริเวณพื้นที่โครงการฯ บ้านอุดมทรัพย์ อันประกอบไปด้วยการขุดสระเก็บน้ำ จำนวน 8 แห่ง เก็บน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง เก็บน้ำได้ 75,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อการประปา จำนวน 1 แห่ง เก็บน้ำได้ 130,000 ลูกบาศก์เมตร และขุดลอกคลองธรรมชาติ จำนวน 1 แห่ง เก็บน้ำได้ 220,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับแหล่งน้ำดิบในพื้นที่มีปริมาณเพียงพอที่จะใช้ เพื่อการเกษตรและเพื่อการอุปโภค- บริโภค นอกจากนี้ ยังมีบ่อน้ำตื้น จำนวน 6 บ่อ ประปาหมู่บ้านขนาดเล็ก จำนวน 1 แห่ง
3. การพัฒนาอาชีพ
3.1 ด้านการเกษตร
- ทดสอบและพัฒนาการปลูกไม้ผลเศรษฐกิจแบบผสมผสาน เช่น ขนุน มะม่วง มะขามหวาน และกระท้อน ผลปรากฏว่า ไม้ผลส่วนใหญ่เจริญเติบโตดี
- ทดสอบและพัฒนาระบบการปลูกพืช จัดระบบการปลูกพืชในระหว่างแถวไม้ผลของเกษตรกร 5 ราย ๆ ละ 1 ไร่ ผลปรากฏว่า ถั่วเหลืองอายุสั้นพันธุ์นครสวรรค์ 1 ให้ผลผลิตค่อนข้างสูงเฉลี่ย 290 กิโลกรัมต่อไร่
- ทดสอบและพัฒนาข้าวไร่ โดยปลูกข้าวไร่เพื่อทดสอบเปรียบเทียบผลผลิต และองค์ประกอบอื่นๆ ระหว่างแถวไม้ผล 6 ราย ๆ ละ 1 ไร่ ผลปรากฏว่า ข้าวไร่มีการเจริญเติบโตดี ทั้งพันธุ์เจ้าฮ่อ และพันธุ์พื้นเมืองที่นำมาปลูกเปรียบเทียบ ส่วนผลผลิตอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูล
- สนับสนุนกิ่งพันธุ์พืช ได้แก่ มะม่วง ขนุน ลำไย มะขามหวาน และไผ่ตง ให้แก่เกษตรกรเพื่อปลูกในพื้นที่ของตนเอง ชนิดละ 10 ต้นต่อครัวเรือน รวม 20 ครัวเรือน และได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช ได้แก่ พันธุ์ข้าวไร่ พันธุ์ถั่วเหลือง พันธุ์ถั่วเขียว ให้แก่เกษตรกร รวม 20 ครัวเรือน
- ส่งเสริมการปลูกกล้วยน้ำว้า มะละกอ ให้แก่เกษตรกรทุกกครัวเรือน
- ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวโพดในพื้นที่ 50 ไร่
- ส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัว แบบผักปลอดสารเคมี (ผักกางมุ้ง)
- จัดทำแปลงสาธิตการปลูกไม้ผลในระบบการให้น้ำแบบประหยัด โดยสาธิตการจัดระบบการผลิตพืช และวางระบบน้ำ ทำแปลงสาธิตการทดสอบการปลูกพุทราในพื้นที่โครงการ จำนวน 130 ต้น ร่วมกับพืชผักต่าง ๆ ในพื้นที่เดียวกัน ทำการวางระบบน้ำในแปลงพุทราผลการปลูกพุทราเจริญเติบโตดี ชาวเขาสามารถที่จะนำไปเป็นตัวอย่างปลูกในพื้นที่ของตนเองได้ เพราะเป็นไม้ผลที่ค่อนข้างจะทนแล้งและให้ผลผลิตเร็ว
- ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ เพื่อการบริโภคและจำหน่าย ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมครอบครัวละ 1,400 บาท
- นำพันธุ์ปลานิล ปลาตะเพียน ปล่อยในแหล่งน้ำ จำนวน 40,000 ตัว เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนในอนาคต
3.2 ด้านศิลปาชีพ
- ส่งเสริมอาชีพการทำเครื่องเงิน ปักผ้า และแกะสลักไม้
4. การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
- ส่งเสริมการจัดสร้างส้วมทุกครัวเรือน
- ส่งเสริมกิจกรรมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปัจจุบันมีเด็กเล็กอยู่ในศูนย์ จำนวน 44 คน
- ปรับปรุงโรงเรียนบ้านอุดมทรัพย์ เพื่อเตรียมรองรับเด็กนักเรียนจากโครงการ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ปัจจุบันมีเด็กชาวไทยภูเขา จำนวน 65 คน ได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน บ้านอุดมทรัพย์
- จัดสร้างศูนย์สงเคราะห์ราษฎรประจำหมู่บ้าน จำนวน 1 แห่ง ปัจจุบันมีเงินกองทุน จำนวน 35,100 บาท
- จัดตั้งธนาคารข้าว จำนวน 1 แห่ง มีเงินกองทุน 108,131 บาท มีผู้ใช้บริการ จำนวน 54 ราย
5. การพัฒนาป่าไม้ ได้ดำเนินการปลูกป่าบริเวณเขาน้ำอุ่น จำนวน 500 ไร่ ปลูกป่าชุมชนสำหรับเป็นไม้ฟืนไม้ใช้สอย จำนวน 100 ไร่ บำรุงรักษาแปลงสาธิต จำนวน 100 ไร่ เพาะหญ้าแฝก จำนวน 200,000 ต้น ป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ 20,000 ไร่ โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา - แม่ฟ้าหลวง ดำเนินการปลูกเสริมป่าในพื้นที่ จำนวน 2,151 ไร่ โดยได้ดำเนินการปลูกตั้งแต่ปี 2538จนถึงปัจจุบัน สำหรับพันธุ์ไมัที่ปลูกประกอบด้วยมะค่าโมง ประดู่ ขะเจ๊าะ สะเดา มะกอกป่า ขี้เหล็ก เสลา ถ่อน สมอพิเภก สีเสียดแก่น โมกมัน กะบก ตีนเป็ด ชัยพฤกษ์ มะเกลือ เป็นต้น จากการติดตามผลการดำเนินงาน พบว่า ต้นไม้ที่ปลูกแล้ว มีอัตราการรอดตายสูง ถึงร้อยละ 90 และมีการเจริญเติบโตดีมาก กลุ่มประชาชนในท้องถิ่นได้รับการอบรมให้เป็นผู้รับผิดชอบในการเตรียมการปลูกป่า การดูแลบำรุงรักษาป่า ตลอดจนเป็นอาสาสมัครป้องกันไฟป่าให้เกิดความเข้าใจเห็นความสำคัญของ ป่าไม้ และมีการจัดยามดูแลพื้นที่ป่าทำให้ไม่มีไฟป่าเกิดขึ้น
6. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ได้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝก จำนวน 188,129 ต้น ในพื้นที่รอบเนินศาลาที่ประทับทรงงาน จำนวน 8,129 ต้น ขอบสระน้ำประปาบ้านอุดมทรัพย์ จำนวน 30,000 ต้น ขอบแหล่งน้ำบ้านอุดมทรัพย์ จำนวน 100,000 ต้น และบริเวณขอบสระน้ำโรงเรียนบ้านอุดมทรัพย์ จำนวน 50,000 ต้น
7. งานอำนวยการและปฏิบัติการจิตวิทยาช่วยเหลือประชาชน ได้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติงานในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ให้ดำเนินงาน ตามแผนงานของหน่วยที่ได้รับมอบหมาย และนำปัญหาข้อขัดข้องเสนอเพื่อหาแนวทางแก้ไข จัดเจ้าหน้าที่พยาบาลของหน่วยให้การดูแลรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2538 - 2544
- ป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่โครงการ 20,000 ไร่
- ปลูกและบำรุงรักษาแปลงสาธิตและวนเกษตร 100 ไร่
- บำรุงรักษาสวนเดิม อายุ 2-6 ปี 3,600 ไร่
- บำรุงรักษาสวนเดิม อายุ 7-10 ปี 400 ไร่
- บำรุงสวนเดิมเพื่อการสาธิตและวิจัย 100 ไร่
- เพาะชำกล้าแฝก 200,000 กล้า
- เพาะชำกล้าไม้ 580,000 กล้า
- ปลูกและบำรุงรักษาป่า 4,000 ไร่
- จัดทำแนวกันไฟ 10 กิโลเมตร
- งานอำนวยการและป้องกันรักษาป่า 20,000 ไร่

 

ความสำเร็จของโครงการ :

จากที่เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 1 ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีการจัดราษฎรชาวไทยภูเขากลุ่มเป้าหมายเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่โครงการจำนวน 53 ครอบครัว 279 คน รายได้เฉลี่ยนของชาวไทยภูเขาเหล่านี้เพิ่มขึ้นจากเดิมคิดเป็น 6 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าร่วมโครงการในปี 2537 กล่าวคือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของชาวไทยภูเขาก่อนเข้าร่วมโครงการเท่ากับ 3,347 บาท และเพิ่มขึ้นเป็น 18,729 บาท เนื่องจากได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งการเป็นลูกจ้างในการดำเนินงานโครงการด้วย
การพัฒนาพื้นที่โครงการทางด้านการศึกษาได้มีการส่งเสริมให้เด็กชายไทยภูเขาในโครงการเข้าศึกษาในโรงเรียนซึ่งอยู่ใกล้เคียงและนอกพื้นที่โครงการทำให้ราษฎรชาวไทยภูเขาสามารถพูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ประมาณร้อยละ ๙๐ ยกเว้นผู้สูงอายุ ด้านแหล่งน้ำ ได้มีการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อใช้เลี้ยงปลาและการเกษตร ส่งเสริมและฝึกอบรมวิชาชีพให้กับราษฎรชาวไทยภูเขาอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำเครื่องเงิน ปักผ้า แกะสลัก ตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ พร้อมกับส่งเสริมให้ราษฎรชาวไทยภูเขาในพื้นที่โครการเข้าร่วมปลูกป่าจำนวน ๒,๙๐๐ ไร่ และซ่อมบำรุงรักษาป่าในพื้นที่ โดยมีการอบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่า ด้านบริการสาธารณสุข มีโรงพยาบาลปางศิลาทองซึ่งตั้งอยู่ใกล้โครงการฯ สามารถให้ราษฎรได้รับการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การส่งเสริมสุขภาพ การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การบริการทันตกรรมเบื้องต้น อย่างสะดวกรวดเร็ว และหมู่บ้านได้รับการประกาศเป็นหมู่บ้านสุขภาพดีถ้วนหน้า มีการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กับราษฎรในโครงการฯ และราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้รับประโยชน์จากถนนและไฟฟ้าร่วมกัน
จากความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการในระยะที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จึงได้มีหนังสือถึงราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อกราบบังคมทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อขยายผลโครงการไปยังพื้นที่โครงการระยะที่ ๒ ได้ต่อไปและได้ดำเนินการในปี ๒๕๔๓ คือ พื้นที่บ้านปางมะนาว ตำบลปางมะค่า อำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี และบ้านปางมะละกอ ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ๖๖ ราย รวมพื้นที่ทั้งหมด ๓๙๖ ไร่

 
   

 

ที่มาของข้อมูล
- http://www.belovedqueen.com
- http://www.dnp.go.th
- http://www.school.net.th/library/create-web/10000/generality/10000-3458.html



 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.