โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดปราจีนบุรี

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

สำหรับความทุกข์ร้อนเรื่องน้ำของคนไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการแก้ไขและบรรเทาจากแนวพระราชดำริมากมายที่พระราชทานไว้ ซึ่งโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดสระแก้ว เมื่อปี 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้พัฒนาต้นน้ำลำธารปราจีนบุรี โดยให้พิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 เขื่อน ได้แก่เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยาง และเขื่อนห้วยโสมง เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงในอีกหลายโอกาสตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำห้วยพระปรงและลุ่มน้ำห้วยโสมง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรีหรือแม่น้ำบางปะกง เนื่องจากเห็นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำบางปะกงตอนบนได้ และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย ดังพระราชดำรัสที่ว่า “… ควรพิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำห้วยโสมง ทำเลที่สร้างเขื่อน พิกัด 48 PSA 806-585 แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระหว่าง 5437 III โดยด่วน ทั้งนี้ควรพิจารณาเก็บกักน้ำอย่างเต็มที่เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสองฝั่งห้วยโสมง ในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี…”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรีถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา โดยครั้งสุดท้ายทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการดำเนินการในโครงการต่างๆ ที่สำคัญเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2544 ความตอนหนึ่งว่า “... โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี และสระแก้ว ตามพระราชดำริ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก และอ่างเก็บน้ำอื่นๆ เป็นโครงการที่ดีมากทำให้มีปริมาณน้ำใช้เพิ่มมากขึ้น และผลที่ได้รับเพิ่มเติม ก็คือ ทำให้ดินมีการพัฒนาตามมาด้วย ...” กรมชลประทานสนองพระราชดำริโดยได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอแผนแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้วเสร็จ เมื่อปี 2538 และได้มีการแก้ไขรายงานฯ อีกรวม 2 ครั้งในปี 2546 ต่อมาได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่แล้วเสร็จในปี 2550 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการห้วยโสมง วันที่ 26 สิงหาคม 2552 และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการห้วยโสมงฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552

 
 
ที่ตั้งของโครงการ : โครงการห้วยโสมง มีที่ตั้งเขื่อนหัวงานอยู่ในเขต บ้านแก่งยาว ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เส้นละติจูด 14?-04?-46?? เหนือ และ เส้นลองติจูด 102?-01?-49??ตะวันออก โดยพื้นที่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอและมีพื้นที่ชลประทานครอบคลุม 5 หมู่บ้านในเขตอำเภอนาดี และ 32 หมู่บ้านในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
   
   
วัตถุประสงค์ 1. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนจำนวน 111,300 ไร่ และฤดูแล้งจำนวน 45,000 ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
2. ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบรี และลุ่มน้ำสาขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
3. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรและการประปา
4. ช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง
5. อ่างเก็บน้ำจะเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาส การเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้
   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

กรมชลประทาน , สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

   
ลักษณะโครงการ :

โครงการห้วยโสมงเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเขื่อนหัวงาน ชนิดเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ความสูงประมาณ 33 เมตร ความยาวประมาณ 3,970 เมตร และทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ จำนวน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตรพร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. สภาพทางอุตุ-อุทกวิทยา
- พื้นที่ลุ่มน้ำเหนือที่ตั้งเขื่อนเก็บกักน้ำ              443.00    ตารางกิโลเมตร
- ความยาวลำน้ำสายหลักจากต้นน้ำ              32.00      กิโลเมตร
-  ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรายปีเฉลี่ย   266.00    ล้านลูกบาศก์เมตร
2. เขื่อนหัวงาน ชนิดเขื่อนดินแบบ แบ่งโซน  (Zone Type Dam)
-  ระดับสันเขื่อน                                         + 53.000    เมตร(รทก.)
-  ความกว้างสันเขื่อน                                    9.00        เมตร
-  ความยาวสันเขื่อน                                      3,970      เมตร
-  ความสูงเขื่อนจากท้องน้ำประมาณ              33.00      เมตร
-  ระดับเก็บกักน้ำปกติ                               + 48.000    เมตร (รทก.)
-  ความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ          295.00    ล้านลูกบาศก์เมตร
3. อาคารระบายน้ำล้น ชนิดบานระบายโค้งขนาด 7.00x6.00 เมตร จำนวน 3 บาน สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 630.57 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
4. ทำนบดินปิดกั้นเขาต่ำ 2 แห่ง
5. ระบบส่งน้ำด้วยคลองส่งน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่ ประกอบด้วย
-  พื้นที่ชลประทานฝั่งซ้าย                              94,800    ไร่
-  พื้นที่ชลประทานฝั่งขวา                              16,500    ไร่
6. ความยาวคลอง
1. คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย                       34.25      กิโลเมตร
2. คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา                       11.00      กิโลเมตร
3. คลองซอยฝั่งซ้าย (54 สาย)                       178.81    กิโลเมตร
4. คลองซอยฝั่งขวา (17 สาย)                        35.27     กิโลเมตร

สภาพปัญหาและเหตุผลความจำเป็น
1 ปัญหาการเกิดอุทกภัยในพื้นที่
พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีประสบปัญหาการเกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่ มาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ.2547 ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี พบว่ามีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย  ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำนองในลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขา (รวมลุ่มน้ำห้วยโสมง) ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี รวมกว่า 117 หมู่บ้าน นอกจากนั้นในปีพ.ศ.2549 มีพื้นที่ประสบภัยใน 2 อำเภอดังกล่าวรวมกว่า 207 หมู่บ้าน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรกว่า 49,316 ไร่ พื้นที่ทำการประมง/เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 289 ไร่ และถนน 360 สาย ซึ่งปัญหาการเกิดอุทกภัยยังคงสร้างความเสียหายให้แก่ราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

2 ปัญหาการเกิดภัยแล้งในพื้นที่

ในปัจจุบันพบว่า พื้นที่การเกษตรบริเวณด้านท้ายน้ำห้วยโสมง ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี ส่วนใหญ่จะทำการเกษตรได้ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ส่วนช่วงฤดูแล้งหรือช่วงฝนทิ้งช่วงจะไม่สามารถทำการเกษตรได้เนื่องจากการขาดแคลนน้ำ ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มต่ำริมห้วยโสมงและลำน้ำสาขาที่พอจะมีปริมาณน้ำไหลบ้าง จะมีการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน รวมทั้งปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคของแหล่งชุมชนต่างๆ จะขาดแคลนในช่วงฤดูแล้งเช่นกัน (เดือนธันวาคม-เดือนเมษายน) เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยในปี พ.ศ.2551 จังหวัดปราจีนบุรีมีพื้นที่ที่ได้รับประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง 582 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 64 ตำบล โดยอยู่ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรีกว่า 190 หมู่บ้าน ดังนั้นหากไม่มีการพัฒนาโครงการห้วยโสมงจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

   
ผู้ได้รับประโยชน์ :
ราษฎรในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
   
ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

โครงการห้วยโสมงเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ พื้นที่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอ และพื้นที่ชลประทานอยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอ  อำเภอ นาดี ตำบลเมืองเก่า  ตำบลบ่อทอง และตำบลบ้านนา อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี  ลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ความสูงประมาณ 33 เมตร ความยาวประมาณ 3,970 เมตร และทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ จำนวน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่
คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 มีระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2553-2561) งบประมาณ 8,300 ล้านบาท และกรมชลประทาน ได้ทำสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 31สิงหาคม 2553(ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ 30 กันยายน 2553 - 10 สิงหาคม 2554)

 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี  นายสวัสดิ์  วัฒนายากร  องคมนตรี  นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี (ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก) และนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ กปร. ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเรื่องแนวทางการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  และเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี  และ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี พร้อมกับเลขาธิการ กปร. รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมชลประทาน รองอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้ให้นโยบายแก่คณะทำงาน ความว่า “ขอให้มีการชดเชยค่าเสียหายแก่ราษฎรอย่างเป็นธรรม”

ความเชื่อมโยงกับโครงการอื่นในแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ
โครงการห้วยโสมงเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงตอนบนและสาขาที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2532 ซึ่งมีโครงการในแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ คือ โครงการพระปรง จังหวัดสระแก้ว และโครงการคลองระบม จังหวัดฉะเชิงเทรา และนอกจากนั้นยังมีโครงการคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนั้น การดำเนินการก่อสร้างโครงการห้วยโสมง ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ มีความจุอ่างเก็บน้ำ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเป็นการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่ โดยจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝนจำนวน 111,300 ไร่ และฤดูแล้งจำนวน 45,000 ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และยังสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำบางปะกงตอนบนได้ รวมทั้งทำให้แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงตอนบนและสาขา ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับราษฎรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ต่อไป

องค์กรบริหาร
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 นายกรัฐมนตรี ประธาน กปร. ลงนามคำสั่งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ 1/2553 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและคณะอนุกรรมการโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี อันประกอบด้วย
(1)  คณะกรรมการบริหารโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี มี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อธิบดีกรมชลประทานเป็น เลขานุการ
(2) คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ มีรองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักประสานงานโครงการพื้นที่ภาคกลาง สำนักงาน กปร. เป็นเลขานุการ
(3) คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินและจัดแปลงอพยพ มีผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 7 กรมชลประทาน เป็นเลขานุการ
(4) คณะอนุกรรมการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน และผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเลขานุการ

การสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงาน กปร.
1. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552  นายกรัฐมนตรี (ประธาน กปร.) อนุมัติงบประมาณประจำปี 2553 จำนวน 77.77 ล้านบาท ให้แก่กรมชลประทาน เพื่อดำเนินการเตรียมงานเบื้องต้นและงานประชาสัมพันธ์ของโครงการ
2. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายกรัฐมนตรี (ประธาน กปร.) อนุมัติงบประมาณประจำปี 2554 จำนวน 1.10 ล้านบาท ให้แก่ กรมชลประทาน เพื่อดำเนินการ จัดทำสื่อ คู่มือ นิทรรศการประชาสัมพันธ์
3. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 นายกรัฐมนตรี (ประธาน กปร.) อนุมัติงบประมาณประจำปี 2554 จำนวน 2.27 ล้านบาท ให้แก่
- สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อดำเนินการฝึกอบรม อาชีพให้แก่กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
- กองทัพภาคที่ 1  เพื่อดำเนินการปฏิบัติการมวลชนสัมพันธ์
4. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 นายกรัฐมนตรี (ประธาน กปร.) อนุมัติงบประมาณประจำปี 2554 จำนวน 13.07 ล้านบาท ให้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปราจีนบุรี,กรมป่าไม้,กรมอุทยาน  แห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  เพื่อดำเนินการ ปลูกเสริมป่าและอบรมเยาวชนให้รักษ์ป่า และ กรมประชาสัมพันธ์   เพื่อดำเนินการจัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์    

ผลกระทบจากการอนุมัติโครงการ
1. ผลกระทบจากพื้นที่น้ำท่วม เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการโครงการห้วยโสมงแล้วจะต้องมีการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่ราษฎรบริเวณที่จะทำการก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พื้นที่น้ำท่วม และพื้นที่ก่อสร้างระบบส่งน้ำ ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สิน และงบประมาณไว้ในค่าก่อสร้างของโครงการแล้ว
2.  ผลกระทบต่อระบบนิเวศ กรมชลประทานได้เตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยได้เสนอตั้งงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมดำเนินการ ซึ่งได้มีการวางแผนการดำเนินงานและงบประมาณไว้ในค่าก่อสร้างของโครงการแล้ว

   
ความสำเร็จของโครงการ :

โครงการห้วยโสมงฯ เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ มีความจุอ่างเก็บน้ำ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนจำนวน 111,300 ไร่ และฤดูแล้งจำนวน 45,000 ไร่ ในเขต อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขาในเขตพื้นที่ อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรและการประปา ช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง

นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดปราจีนบุรีได้ประสบกับปัญหาเรื่องของน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและเกิดจากมนุษย์ ได้แก่ น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม และน้ำเสีย มาเป็นระยะเวลายาวนาน และด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำของ จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ปี 2521 จนเมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ให้ดำเนินโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2552 ถึงวันนี้เป็นระยะเวลารวม 31 ปี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวจังหวัดปราจีนบุรีเป็นอย่างยิ่ง “ภายหลังที่โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จังหวัดปราจีนบุรี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับโครงการนี้ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ โดยเฉพาะในส่วนของงานอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน ทั้งในการฟื้นฟูระบบนิเวศของผืนป่า การดูแลแหล่งต้นน้ำลำธาร และการปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งได้ดำเนินการควบคู่กับการดำเนินงานของโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากต้นไม้จะช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป และระเหยออกมาเป็นก๊าซออกซิเจน ต้นไม้จึงถือเป็นเครื่องฟอกอากาศให้กับโลก การร่วมกันปลูกต้นไม้จึงเท่ากับการช่วยเพิ่มเครื่องฟอกอากาศให้กับโลก” นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล กล่าวด้าน

นายสุรชัย จิวะสุรัตน์ ผอ.สำนักงานก่อสร้าง 7 สำนักโครงการขนาดใหญ่ กรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงานในโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมชลประทานได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารบ้านพักชั่วคราวและอาคารที่ทำการ เพื่อรองรับการทำงานของบุคลากร ในปี 2554 และมีการวางแผนว่าจะก่อสร้างตัวเขื่อนและส่วนของอาคารประกอบ โดยมีการประกวดราคาและได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว และผู้รับจ้างได้เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 2554 เป็นต้นมา “สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อนการดำเนินการก่อสร้างโครงการนั้น มีราษฎรเข้าร่วม 385 คน ซึ่งราษฎรทุกคนเห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการ เพราะทราบว่าจะส่งผลดีต่อตนเองและลูกหลานในอนาคต ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการด้านการเยี่ยวยาราษฎรผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโครงการฯ  โดยการจ่ายค่าขนย้าย (ค่าที่ดิน) ค่าต้นไม้ คิดเป็นต้น แยกเป็นประเภทหลังจากจ่ายเงินให้ราษฎรแล้ว ราษฎรก็ยังเป็นเจ้าของต้นไม้อยู่และสามารถตัดต้นไม้ไปขายได้ พร้อมกันนี้ได้มีการจัดพื้นที่อพยพบนพื้นที่ 1,000 กว่าไร่ อยู่ในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ตั้งอยู่ใต้เขื่อน” นายสุรชัย จิวะสุรัตน์ กล่าวส่วน

นายธงชัย อินกระโทก ราษฎร ม.8 ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี หนึ่งในผู้ที่ได้รับทั้งผลกระทบและประโยชน์จากโครงการฯ เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อน ไม่ได้เสียใจที่ต้องย้ายที่อยู่อาศัย แต่กลับดีใจ เพราะโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ส่งผลให้เพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรอย่างพอเพียงในทุกฤดูกาล“ผมและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกคนไม่เสียใจที่ต้องย้ายที่อยู่ แต่ดีใจเพราะเป็นบุญที่สุดแล้วที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ผมอายุ 30 กว่าๆ เห็นโครงการนี้ของพระองค์ท่านเริ่มมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ในอดีตเมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะท่วมหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องลอยคอออกไปเพื่อนำข้าวไปแลกกับข้าวมากิน เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบ พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือ และในวันนี้ก็เห็นว่าโครงการได้เกิดขึ้นแล้ว ต่อไปปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง จะหมดไป และเราจะมีน้ำเพื่อทำการเกษตรอย่างเพียงพอ ผมรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาให้ประชาชน ทำให้ชาวบ้านหมู่ 8 ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี และชาวปราจีนบุรี ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และไม่ต้องย้ายถิ่นไปทำมาหากินที่อื่นเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว” นายธงชัย อินกระโทก กล่าว

 


ที่มาของข้อมูล :เอกสารข้อมูลจากสำนักงาน กปร. โครงการ “สื่อศิลปิน รวมใจ ถวายในหลวง” ครั้งที่ 3/2554 พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว
ผู้ที่เกี่ยวข้อง : 1. นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี
2. นายสุรชัย จิวะสุรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ก่อสร้าง 7 กรมชลประทาน
3. นายธงชัย อินกระโทก ตัวแทนราษฎรที่ได้รับผลประโยชน์
เบอร์ติดต่อ -
ที่อยู่ -

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.