โครงการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดสุรินทร์

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 
แนวพระราชดำริ :

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2536 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านจรัส หมู่ที่ 1 อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ และทรงทราบว่าป่าเตรียมการสงวนป่าห้วยทับทันมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด จึงพระราชทานพระราชดำริที่จะอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ โดยจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้ป่าแห่งนี้ได้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสืบไป

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ 72 ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ 32210

   
วัตถุประสงค์

เพื่อรักษาสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เพื่อให้ป่าแห่งนี้ได้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสืบไป

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

1. กรมป่าไม้
2. สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
3. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
4. จังหวัดสุรินทร์

 

ลักษณะโครงการ :

กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกควบคุมดูแลพื้นที่ เพื่อเตรียมการจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของจังหวัดสุรินทร์ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และด้านที่จดกับเขตป่าไม้ชายแดนจังหวัดบุรีรัมย์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายห้วยทับทันแปลง 3 ป่าทุ่งมน บักได ตาเบาแปลง 3 ท้องที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติป่าห้วยสำราญ ท้องที่อำเภอสังขะ และอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เพื่อขอกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปี 2538

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้อนุมัติงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้จัดทำโครงการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสุรินทร์ โดยให้สร้างที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขึ้นที่บ้านเขื่อนแก้ว หมู่ที่ 13 ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสำราญที่บ้านนาสนวน หมู่ที่ 4 ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด ในปี 2539 กรมป่าไม้ให้สร้างหน่วยพิทักษ์ป่าอีก 1 หน่วย ที่ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2539

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ดังกล่าวข้าวต้นให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพระราชกฤษฎีกา หน้า 24 เล่ม 112 ตอนที่ 56 ก ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไป


ผู้ได้รับประโยชน์ :

ราษฎรในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ครอบคลุมพื้นที่ 313,750 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลกาบเชิง ตำบลโคกตะเคียน ตำบลตะเคียน ตำบลด่าน ตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง ตำบลบักได ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก ตำบลตาตุม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ และตำบลจรัส ตำบลอาโพน อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

เป็นที่ราบและเทือกเขาสูงชันอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 200-476 เมตร จึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สามารถส่งไปช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่ราบชายแดนในโครงการต่างๆ มีลำห้วยที่สำคัญหลายสาย คือ ห้วยสิงห์ ห้วยจรัส ห้วยประเดก ห้วยขนาดมอญ ห้วยหมอนแบก ห้วยสำราญ ห้วยเสียดจะเอิง  ห้วยจำเริง ฯลฯ  กรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำจรัส อ่างเก็บน้ำขนาดมอญ อ่างเก็บน้ำขยอง อ่างเก็บน้ำห้วยสิงห์ อ่างเก็บน้ำห้วยเชิง อ่างเก็บน้ำห้วยด่าน อ่างเก็บน้ำตาเกาว์และอ่างเก็บน้ำห้วยจำเริง อันเป็นผลให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นโดยทั่วไป มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ปราศจากการรบกวนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ภูมิประเทศที่ติดแนวชายแดนมีความสวยงาม โดยเฉพาะใกล้เขตแดนประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา พื้นที่ยิ่งสูงขึ้นเป็นป่าทึบมีภูเขาสลับซับซ้อนตลอดแนวชายแดนและเป็นหุบเหวมีหน้าผาลึกลงไปทางกัมพูชา

 

ความสำเร็จของโครงการ :

พื้นที่ป่าอนุรักษ์จังหวัดสุรินทร์ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จึงเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จึงนับได้ว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกและแห่งเดียวของจังหวัดสุรินทร์ และเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอันดับที่ 38 ของประเทศไทย

 
   


ที่มาของข้อมูล : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เว็บไซต์http://www.dnp.go.th/wildlifenew

ที่อยู่.............................

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.