โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข-ขุนกำลัง
จังหวัดพะเยา

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ : สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
 
แนวพระราชดำริ :

“ประชาชนยังไม่เข้าใจว่า ป่ามีความสำคัญกับน้ำอย่างมาก ถ้าถางป่าหมดก็จะเกิดความแห้งแล้ง เขาไม่เชื่อกัน ไม่เข้าใจกัน ต่างประเทศเขาพยายามฝึกให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ต้องให้คนเข้าใจว่า ป่าคือความสำคัญด้วย ถ้าถางเตียน โล่ง จะไม่มีอะไรดีขึ้น นักวิทยาศาสตร์เขาสันนิษฐาน ว่าอีก 10 ปี คนจะเริ่มรู้สึกว่า น้ำจืดเป็นของหายากมากๆ อาจทำให้เกิดสงครามแย่งชิงน้ำได้ ที่ภาคอีสานราษฎรเขาเล่าให้ฟังว่า เขาตัดไม้ยึดพื้นที่ได้ 50 กว่าไร่ แต่เขาทำมาหากินแค่ 5 ไร่ ข้าพเจ้าก็บอกว่า เสียดายว่าทำไมทำกินแค่ 5 ไร่ เขาบอกว่ามันไม่มีน้ำ ข้าพเจ้าก็บอกว่า ถ้าตัดป่าก็จะยิ่งทำให้ไม่มีน้ำ น้ำก็จะเริ่มแห้งลงไป บ่อเกลือก็ผุดขึ้น น้ำที่เหลืออยู่น้อยก็จะเค็มใช้ไม่ได้ เราต้องช่วยเขา ถ้าเราช่วยเขาแล้วไม่สำเร็จ เขาคงไปบุกป่าใหม่… ให้เขามีฐานะดี… เก็บน้ำไว้ในบ้านเราเยอะๆ”
“….ที่นี่มีธนาคารข้าวหรือยัง….ให้สร้างธนาคารข้าวทั้ง 2 หมู่บ้าน สอนเขาให้เหมือนธนาคารการเงิน….” พระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันเสาร์ ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2548

วันเสาร์ ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2548 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ป่าดอยผาช้างตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำยม สภาพป่าต้นน้ำถูกบุกรุกแผ้วถางขยายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศป่าต้นน้ำและจะเกิดผลกระทบตามมาอีกหลายประการเช่น อุทกภัย ภัยแล้ง ดินถล่ม ฯลฯ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เชิญแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมปรึกษาหารือเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ณ บริเวณป่าดอยผาช้าง
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้ตั้ง “สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านสันติสุข-บ้านขุนกำลัง” ณ บ้านสันติสุข อำเภอปง จังหวัดพะเยา ให้ฟื้นฟูระบบนิเวศ ป่าต้นน้ำให้สมบูรณ์ และตั้งธนาคารข้าวให้เหมือนธนาคารการเงิน มีเป้าหมายให้เป็นสถานที่เรียนรู้และรับจ้างเป็นแรงงานของชุมชนฝึกทำการเกษตรแผนใหม่ควบคู่กับการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากราษฎรขาดทักษะและขาดความรู้ทางด้านการเกษตร ส่งเสริมให้ราษฎรมีความเข้าใจว่าป่ามีความสำคัญกับน้ำอย่างมาก ถ้าถางป่าหมดก็จะเกิดความแห้งแล้ง แนวทางดังกล่าวนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎร ส่งเสริมให้ราษฎรมีความรู้ทางการเกษตรอย่างถูกวิธี ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่าได้รับการฟื้นฟูให้มีความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีความเข้มแข็ง ปัญหายาเสพติดจะหมดไป เกิดความมั่นคงต่อชาติบ้านเมือง ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

ขนาดพื้นที่ของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านสันติสุขและบ้านขุนกำลัง มีพื้นที่รวมทั้งหมด 46,875 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านสันติสุข และหมู่ที่ 4 บ้านขุนกำลัง ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา

   
วัตถุประสงค์

เพื่อให้ทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านสันติสุข-ขุนกำลัง ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยาลดการขยายพื้นที่การแผ้วถางป่า และปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไร่มาเป็นการทำนาขั้นบันได เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างผสมผสานกลมกลืน โดยคนเป็นผู้พิทักษ์รักษาป่า และป่าให้ความร่มเย็น และเป็นแหล่งผลิตอาหารของคน

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

1. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2. สถานีพัฒนาที่ดินพะเยา กรมพัฒนาที่ดิน
3. โครงการชลประทานพะเยา กรมชลประทาน
4. ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว
5. ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดพะเยา กรมส่งเสริมการเกษตร
6. ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา กรมประมง
7. สำนักงานปศุสัตว์อำเภอปง กรมปศุสัตว์
8. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอปง
9. ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน จังหวัดเชียงราย
10. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอปง จังหวัดพะเยา
11. สาธารณสุขอำเภอปง สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข
12. องค์การบริหารส่วนตำบลขุนควร จังหวัดพะเยา
13. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
14. โครงการจัดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
15. ชุดประสานการคุ้มครองและป้องกันชุมชน จังหวัดทหารบกพะเยา ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

 

ลักษณะโครงการ :

1. จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง เป็นเสมือนหนึ่งวิทยาลัยของชุมชน เพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการ โดยใช้พื้นที่ดินอย่างจำกัดให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พอเลี้ยงตนเองได้ ให้ยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง ระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินงาน
2. ทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ ลำน้ำสาว ลำน้ำควร ลำน้ำคาง ลำน้ำขาม และลำน้ำตอง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำยม เพื่อป้องกันวิกฤตการขาดแคลนน้ำในอนาคต
3. สร้างงานให้ราษฎรมีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการขจัดปัญหาความยากจนและการว่างงาน และให้โอกาสแก่ราษฎรผู้ด้อยโอกาสได้มีงานทำ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


ผู้ได้รับประโยชน์ :

ราษฎรบ้านสันติสุขและบ้านขุนกำลัง มีพื้นที่รวมทั้งหมด 46,875 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านสันติสุข และหมู่ที่ 4 บ้านขุนกำลัง ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

ปี 2550 บ้านสันติสุข เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 34 ราย พื้นที่ 87.75 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์เบล้เลี้ย ผลผลิตเฉลี่ย 330 กิโลกรัมต่อไร่ และข้าวอีก 3 ลักษณะ (ข้าวเหนียวกาบใบม่วง ข้าวเจ้าต้นสูง และต้นเตี้ย) ผลผลิตเฉลี่ย 595, 471 และ 630 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ ผลผลิตข้าวรวม 39,610 กิโลกรัม

บ้านขุนกำลัง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 49 ราย พื้นที่ 173.8 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข 6 ผลผลิตเฉลี่ย 360 กิโลกรัมต่อไร่และข้าวอีก 2 ลักษณะ (ข้าวเจ้าต้นสูง และต้นเตี้ย) ผลผลิตเฉลี่ย 404 และ 376 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ผลผลิตข้าวรวม 67,940 กิโลกรัม
 

ความสำเร็จของโครงการ :

เป็นโครงการต้นแบบการใช้พื้นที่สำหรับการปลูกพืชบนที่สูงแบบอนุรักษ์ และรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้การทำนาดำอย่างถูกต้อง เหมาะสม ให้ราษฎรบ้านสันติสุข-บ้านขุนกำลัง ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา ได้รับประโยชน์จากพื้นที่อย่างยั่งยืน

 
   


ที่มาของข้อมูล : กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดพะเยา ศาลากลางจังหวัดพะเยา

ที่อยู่กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดพะเยา ศาลากลางจังหวัดพะเยา ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา 56000
โทร. 0-5444-9601 โทรสาร 0-5444-9588

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.