โครงการจัดตั้งหมู่บ้านชาวไทยภูเขา ตามพระราชเสาวนีย์
จังหวัดตาก

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับผู้บัญชาการทหารบกและคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ณ ตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ความว่า “...ให้หน่วยงานราชการต่างๆ ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขา ด้วยการให้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่เดิม โดยไม่ต้องอพยพมายังพื้นที่ราบ เพื่อให้ราษฎรชาวไทยภูเขาได้อาศัยอยู่ในถิ่นฐานเดิม สามารถดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีเดิมที่บรรพบุรุษของพวกเขาเหล่านั้นได้ปฏิบัติมา ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด และให้สามารถควบคุมประชากรได้ด้วยการให้ความรู้ การปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย และการปฏิบัติตามกฎหมายไทย ตลอดจนการให้ราษฎรชาวไทยภูเขา ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ลำธาร และร่วมมือกับทางราชการช่วยเหลือ ด้านความมั่นคง...”

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ณ บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 1 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับพลตรีชัยยุทธ เทพสุวรรณ ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 3 และผู้อำนวยการประสานงานโครงการจัดที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระในขณะนั้น “...ให้หาราษฎรชาวไทยภูเขาที่สมัครใจไปเป็นยามตามชายแดนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ...”

และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานแนวทางการจัดตั้งหมู่บ้าน (ตามหนังสือ ทภ.3/กอ.รมน.ภาค 3 ที่ นร 5106/561 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2542) ต่อมาเมื่อวันที่22 กันยายน 2542 ผู้บัญชาการทหารบก ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาราษฎรชาวไทยภูเขา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เห็นชอบกับพื้นที่ที่คณะกรรมการให้พิจารณาว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งโครงการในจังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 จุด และจังหวัดตาก 1 จุด ได้แก่ บ้านมะโอโค๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยมีราษฎรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 37 ครอบครัว ซึ่งต่อมาได้ขยายเป็น 42 ครัวเรือน และโครงการได้สนับสนุนให้ราษฎรขุดบ่อเลี้ยงปลาขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร และปลูกผักสวนครัว ซึ่งบ่อเลี้ยงปลาขนาดดังกล่าวมีความเหมาะสมกับการเลี้ยงปลาดุกลูกผสม (บิ๊กอุย) เนื่องจากเลี้ยงง่ายมีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว มีความอดทนต่อสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี ให้ผลตอบแทนคุ้มทุน เนื่องจากราคาซื้อขายในพื้นที่มีราคาสูงกว่าพื้นที่ปกติมาก และน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาเป็นปุ๋ยใช้ในการรดพืชผักสวนครัว ทำให้ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สมเจตนารมณ์ของโครงการฯ

 
 
ที่ตั้งของโครงการ :

1. บ้านมะโอโค๊ะ หมู่ที่ 12 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก พิกัด MT 579723
2. สนามเฮลิคอปเตอร์ บ้านมะโอโค๊ะ พิกัด MT 579720 

   
วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ให้หาราษฎรชาว ไทยภูเขาที่สมัครใจไปเป็นยามตามแนวชายแดน ตามแนวพระราชดำริของ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. เพื่อจัดตั้งถิ่นฐานและการปกครองตามแนวชายแดนไทย - พม่า ด้านจังหวัดตาก ที่มีสภาพ พื้นที่ตามที่กำหนด ให้เป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย
3. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพื้นที่และโอกาสของราษฎร ให้มีความพร้อมในด้านการพัฒนาและให้สามารถ ดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน และอย่างพอกินพอใช้
4.เพื่อให้ราษฎรมีความสามารถในการปกป้องรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้ใน ระดับหนึ่ง รวมทั้งสามารถแจ้งเตือนภัยให้กับกลุ่มบ้านใหญ่ หรือส่วนราชการได้อย่างทันเวลา
5. พัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรในพื้นที่เป้าหมายให้ได้รับบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ตามความเหมาะสม
6. เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า
7. กำหนดแนวเขตแดนให้ชัดเจน เพื่อลดการกระทบกระทั่ง และความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

- กองพลพัฒนาที่ 3
- สำนักงานประมงจังหวัดตาก
- ส่วนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง กรมประมง

 

ลักษณะโครงการ :

เพื่อเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กองทัพภาคที่ 3 จึงได้พิจารณาจัดตั้งหมู่บ้าน ชาวไทยภูเขาขึ้นในพื้นที่จังหวัดตาก โดยกำหนด ให้มีสภาพดังนี้
1. เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่บนภูเขา เพราะชาวไทยภูเขามีความคุ้นเคยกับการอยู่อาศัยบนภูเขามากกว่าพื้นที่ราบ และให้ เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยพอสมควร
2. เป็นพื้นที่ที่สามารถทำเกษตรกรรมได้ดังเช่นที่ดอยอ่างขาง มีแหล่งน้ำ มีพื้นที่เพียงพอสำหรับหมู่บ้าน ประมาณ 40 - 50 ครอบครัว


ผู้ได้รับประโยชน์ :

ราษฎรบริเวณบ้านมะโอโค๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

1. สนับสนุนโค-กระบือให้เกษตรกรยืมเพื่อการผลิต ตามโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ
2. ดำเนินการฝึกอบรมราษฎรให้มีความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์ การป้องกันโรคสัตว์ การสุขาภิบาล การขยายพันธุ์สัตว์ เพื่อให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญและนำไปปฏิบัติในการเลี้ยงสัตว์ของตนเองได้ ก่อนการส่งมอบพันธุ์สัตว์
3. สนับสนุนพันธุ์สัตว์ และปัจจัยการผลิตต่าง ๆ
4. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน และรายงานผลให้กรมปศุสัตว์ทราบ โดยสำนักงานปศุสัตว์อำเภออุ้มผาง และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตาก

 

ความสำเร็จของโครงการ :

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าประชาชน จำนวน 41 ครัวเรือน ได้รับโค-กระบือครบทุกครัวเรือนในเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งเริ่มต้นโครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้เกษตรกรยังใช้แรงงานสัตว์ในโครงการฯ เพื่อไถนาและชักลากสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการที่ตั้งไว้ และประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงสัตว์ดีขึ้นและมีการขยายพันธุ์สัตว์ต่างๆ แพร่หลายมากขึ้น ทำให้มีเนื้อสัตว์บริโภคตลอดทั้งปี

 
   


ที่มาของข้อมูล : สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์, คณะทำงานพัฒนาระบบสารสนเทศของสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง

ที่อยู่...........................

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.