หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดเยี่ยมชม ประมวลภาพกิจกรรม ตอบคำถามชิงของรางวัล ติดต่อเรา

 

     
โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
จังหวัดเชียงราย

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
   
แนวพระราชดำริ :

เนื่องด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีความสนพระทัยที่จะพัฒนาพื้นที่ดอยตุง จังหวัดเชียงรายให้เป็นพื้นที่ ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด และเป็นโครงการทดลองรูปแบบการพัฒนาเบ็ดเสร็จ เพื่อจะขยายผลการช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่ต่าง ๆ เนื่องจากทรงเจริญพระชนมพรรษามาก แล้วการที่จะแปรพระราชฐานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ คงไม่สามารถทรงงานเช่นเดิมได้
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2530 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบริเวณที่เห็น สมควรจะ สร้างพระตำหนัก ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ราชเลขานุการในพระองค์ "ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง" จะไม่เสด็จฯไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากพระชนมายุ 90 พรรษา และ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2530 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก พร้อมกับทรงมีรับสั่งกับผู้เข้า เฝ้าทูลละอองพระบาทว่า "อยากจะไปปลูกป่าบนดอยตุง แต่คงจะต้อง ใช้ระยะเวลายาวนานมาก อาจจะเป็นเวลานานถึง 10 ปี"
จากพระราชประสงค์ดังกล่าว จึงมีรับสั่งในเรื่องการพัฒนาดอยตุงกับผู้บัญชาการทหารบกและคณะ ในการเข้าเฝ้า กราบบังคมทูล ขอถวายรายงาน การจัดงานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง เมื่อต้นเดือนมกราคม 2530 เพื่อพิจารณาดำเนินการพัฒนา ตามความเหมาะสม คณะกรรมการโครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย ได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินงานในพื้นที่ทรงงาน โครงการพัฒนาดอยตุงตามคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในที่ 55/2531 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2531 ให้มีหน้าที่พิจารณา กำหนดพื้นที่ทรงงานและวางแผนให้เหมาะสม การดำเนินงานในพื้นที่ทรงงานได้เริ่มในปลายปีงบประมาณ 2531 เป็นต้นมา
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมนี้ได้มอบให้กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารโครงการฯ คณะทำงานฯ ได้จัดทำแผนงานโครงการมี คณะกรรมการ กปร. ให้การสนับสนุนงบประมาณ 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2532-2534

   
ที่ตั้งของโครงการ : ตั้งอยู่ในเขตบางส่วนของอำเภอแม่สาย และอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
   
วัตถุประสงค์โครงการ :

พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เคยเสื่อมโทรมให้กลับมีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม การแก้ไขปัญหาความยากจนและสุขภาพอนามัย ของราษฎรในพื้นที่ ตลอดจนเป็นการลดความรุนแรงของปัญหาพืชเสพติดในพื้นที่

 

   
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :

สำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย

 
ลักษณะโครงการ :  

ผู้ได้รับประโยชน์ :

กลุ่มบ้านรวมทั้งสิ้น 27 หมู่บ้าน/กลุ่มบ้าน 1,602 ครัวเรือน มีครัวเรือนขนาดใหญ่เล็กต่างๆ กัน โดยเฉลี่ยประมาณ 59.30 ครัวเรือนต่อกลุ่มบ้าน โดยกลุ่มบ้านที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ บ้านห้วยน้ำขุ่นมีจำนวน 402 ครัวเรือน และครัวเรือนที่เล็กที่สุด ได้แก่ บ้านเล่าล่อโจ๋ มีจำนวน 6 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมดประกอบด้วยชาว ไทยภูเขา ได้แก่ อีก้อ มูเซอ ลีซอ เย้า ลั้วะ และชนกลุ่มน้อย (ไทยใหญ่ จีนฮ่อ) ตลอดจนชาวไทย พื้นราบ โดยประชากรในพื้นที่มีรายได้ ส่วนใหญ่จากการ ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาได้แก่ การเกษตรกรรม


ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

การดําเนินงานโครงการพัฒนาดอยตุงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2534-2536 ระยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2537-2545 ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2546-2560 นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการดําเนินการตามโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่26 เมาายน 2531 ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายสําหรับทรงงาน จํานวน 6 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,737 ไร่ มีกรอบแนวทางดําเนินการและหน่วยงานรับผิดชอบดังนี้

1.พื้นที่ที่ 1 บ.ลาบา ต.แม่ไร่ กิ่ง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีพื้นที่ 983 ไร่
2.พื้นที่ที่ 2 หน่วยย่อยป่าไม้ ต.แม่ไร่ กิ่ง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีเนื้อที่ 1,390 ไร่
3.พื้นที่ที่ 3 บ.จะลอ ต.แม่ไร่ กิ่ง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีเนื้อที่ 175 ไร่
4.พื้นที่ที่ 4 บ.ผาหมี ต.เวียงพางคํา อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีเนื้อที่ 2,464 ไร่
5.พื้นที่ที่ 5 พื้นที่บริเวณรอบพระตําหนักดอยตุง กิ่ง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีเนื้อที่ 1,963 ไร่
6.พื้นที่ที่ 6 พื้นที่ระหว่างบริเวณ หลังวัดน้อยดอยตุง และบ.อีก้อผาฮี้ กิ่ง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีเนื้อที่ 730 ไร่ในเวลาต่อมาได้มีการขยายพื้นที่ออกไปอีกรวมเป็น 27 หมู่บ้าน รวมเป็นพื้นที่ในโครงการพัฒนาดอยตุงประมาณ 93,515 ไร่

แผนการดำเนินงาน
1.แผนงานพัฒนาการเกษตรและอาชีพ
-งานทดสอบปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ ดูแลไม้ดอกที่เป็นแม่พันธุ์ คัดพันธุ์ทดสอบพืชเศรษฐกิจ เพื่อค้นหาพันธุ์ ที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของ คพต.พ. งานทดลองปลูกและขยายพันธุ์ RHODODENDRON, AZALEA และงานปรับปรุง พันธุ์หน้าวัว
2.แผนงานคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ
-ดำเนินการปลูก AZALEA จำนวน 89 สายพันธุ์ RHODODENDRON จำนวน 60 สายพันธุ์ และบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกบริเวณสวน ทั้งหมดพร้อมต้นไม้ใหญ่ โดยกำจัดวัชพืชแปลงต่าง ๆ
3.แผนงานพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
3.1งานมวลชนสัมพันธ์
-โดยการจัดส่งเจ้าหน้าที่ 10 คน เข้าไปประจำอยู่ใน 26 หมู่บ้าน เพื่อประสานงานกับส่วนราชการ และประสานการ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ สำรวจข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ - สังคม การประกอบอาชีพรายได้ - รายจ่ายของราษฎร เพื่อทำเป็นข้อมูลในการ วางแผนการพัฒนาต่อไป
3.2งานอบรมสัมมนาเพื่อบุคลากรและราษฎรในเขตโครงการฯ
-จัดประชุมประจำเดือนเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและหน่วยงานต่าง ๆ
-จัดแข่งขันกีฬาพื้นบ้านเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ และราษฎร
-จัดประชุมอาสาปลอดยาเสพติดเพื่อมอบประกาศเกียรติคุณให้แก่อาสาทุกคนที่เลิกยาเสพติดได้เด็ดขาด
-จัดประชุมสัมมนากลุ่มผู้นำประเพณีพื้นบ้าน ผู้นำหมู่บ้านและกรรมการหมู่บ้าน จัดฝึกอบรมผู้ประสานงาน คพต. ประจำหมู่บ้าน และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มพัฒนาสตรีประจำหมู่บ้าน
3.3งานพัฒนาเด็กเล็ก
-จัดจ้างผู้ดูแลเด็ก เพื่อปฏิบัติงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและจัดซื้อวัสดุ - อุปกรณ์ สำหรับการจัดทำ สื่อการเรียนการสอน
3.4งานพัฒนาเด็กอ่อน
-จัดจ้างพี่เลี้ยงเด็กเพื่อดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กอ่อน และเชิญเจ้าหน้าที่พยาบาลจากโรงพยาบาล และสถานีอนามัยมาให้คำแนะนำ ตรวจสุขภาพให้กับเด็ก จัดซื้อวัสดุใช้สอยให้แก่ศูนย์เด็กอ่อน
3.5โครงการรณรงค์และป้องกันโรคเอดส์
-ให้คำปรึกษาและเจาะโลหิตตรวจหาเชื้อเอชไอวี ให้แก่ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มวัยเจริญพันธุ์ในรายที่สมัครใจ จัดนิทรรศการเผยแพร่ให้ ความรู้ให้แก่ราษฎร
3.6งานศูนย์ฝึกอบรมผาหมี
-งานไม้หัว ได้มีการปลูกไม้หัวชนิดต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายและขยายพันธุ์ เช่น แกลดิโอลัส บอนชมพู บอนขาว เป็นต้น และได้ส่งผลผลิตจาก ไม้หัวให้บริษัท นวุตะ จำกัด คือ บัวดินขาว ว่านแสงอาทิตย์ ฯลฯ
-งานสตอเบอรี่ ได้ดำเนินงานขยายพันธุ์นำมาปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อจำหน่าย
-งานผักปลอดสารพิษ เช่น ผักสลัดชนิดต่าง ๆ คะน้า ถั่วลันเตา ฯลฯ หมุนเวียนตลอดปี เพื่อจำหน่าย และบริโภค
- งานพื้นที่ 30 ไร่ ได้ทำการปลูกไม้ยืนต้น และพืชผักเสริมชนิดต่าง ๆ
-งานไม้ดอกไม้ประดับ ผลผลิตที่ได้จะจัดแบ่งไว้เพื่อตกแต่งภายในบริเวณศูนย์ บางส่วนเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้และสนับสนุนหน่วยงานราชการต่าง ๆ
-งานการผลิตเห็ด เช่น เห็ดนางฟ้า นางรม ฮังการี ผลผลิตที่ได้ส่งจำหน่ายห้องอาหารของโครงการ และลูกค้าทั่วไป
-งานเกษตรอื่น ๆ มีผลผลิตส่งจำหน่ายได้ เช่น สิบสองปันนาต้นใหญ่ ยูคาลิปตัส บัว เฟิร์น ASPARAGUS เป็นต้น

 
ความสำเร็จของโครงการ :

การปลูกป่าพร้อมกับการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่เปิดโอกาสให้คนบนดอยตุงมีอาชีพ มีรายได้ เกิดการจ้างงานมากขึ้น ผลผลิตและการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอันเกิดจากการฝึกทักษะงานต่างๆ ให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่ราษฎรได้รับ จากการปลูกฝิ่น เป็นรายได้สุจริต ป่าเศรษฐกิจที่ปลูกพืชให้ผลผลิตราคาสูงคือ กาแฟและแมคคาเดเมีย หัตถกรรมงานฝีมือต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา งานเย็บปักทอผ้าหรือการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ทุกวันนี้ผลผลิตของดอยตุงมีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ดอยตุงชุมชนมีความเข้มแข็ง ครอบครัวอบอุ่น ไม่มีการโยกย้ายถิ่นเพื่อความอยู่รอดไปทำงานในเมืองหรือจังหวัดอื่นๆด้วยอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ ดั่งเช่นการค้าประเวณี การป้องกันปัญหายาเสพติดคนบนดอยตุงจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่อง มีอาชีพที่มั่นคง ความรู้ทักษะใหม่ๆ ความสมบูรณ์ของป่าและต้นน้ำ จิตสำนึกรักป่า คุณภาพชีวิตที่ดี และที่สำคัญคือ ศักดิ์ศรีของความเป็นคนที่ยืนหยัดพึ่งตนเองได้ด้วยอาชีพที่สุจริต

   


ที่มาของข้อมูล :

ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 

Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.