หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จุดเยี่ยมชม ประมวลภาพกิจกรรม ตอบคำถามชิงของรางวัล ติดต่อเรา

 

     

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดนราธิวาส

พระราชดำรที่ตั้งโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ

ลักษณะโครงการ ผู้ได้รับประโยชน์ ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ

ความสำเร็จของโครงการ ประมวลภาพโครงการ

   
พระราชดำริ :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
แนวพระราชดำริ :

ปฐมพระราชดำริ
            “จัดหาน้ำ” เพื่อเตรียมการ “จัดตั้งศูนย์ฯ”
            พ.ศ. 2522 มีพระราชดำริให้จัดสร้าง “อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน” ที่ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และดำเนินการสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2526 ขนาดความจุ 2,850,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับการก่อตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่ได้ก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2525
            พ.ศ. 2522 มีพระราชดำริให้ก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำเขาสำนัก” ขนาดความจุ 140,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในกิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
            “หาน้ำมาเติม” มีพระราชดำริให้พิจารณาสูบน้ำจากคลองบางนรามาเติม “อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน” โดยใช้ท่อเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ และนำน้ำมาใช้ในกิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
            พ.ศ. 2524 มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ความว่า “...ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปี ดินมีคุณภาพต่ำ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3 แสนไร่ เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่หมดแล้ว ยังยากที่จะให้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผลทั้งนี้ เนื่องจากดินมีสารประกอบไพไรท์ ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้น เห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนา โดยให้มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่ดินพรุในโอกาสต่อไป...”
            ในระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม - 3 ตุลาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์เสด็จพระราชดำเนิน แปรประทับพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทรงเยี่ยมราษฎรในหลายพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ทรงทราบถึงปัญหาและความทุกข์ยากของราษฎรอันเนื่องมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่พรุสภาพดินเป็นดินเปรี้ยวจัดไม่สามารถปลูกพืชได้จึงมีพระราชดำรัสกับเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องสรุปความว่า
          "...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่มีอยู่ในจังหวัดนราธิวาสนี้ ก็เป็นศูนย์ศึกษาที่เน้นหนักไปในทางค้นคว้าวิจัย และบริการในชีวิตความเป็นอยู่แบบที่เป็นอยู่ในภาคใต้ หนักในทางดินที่เป็นพรุ ซึ่งเป็นปัญหามากเพราะยังไม่ได้ศึกษาพอ และเกี่ยวข้องกับกรมกองหลายกรมกอง ซึ่งอาจจะยัง ไม่ปรองดองกันคือไม่เข้าใจ ก็มาวิจัยพร้อมกันที่เดียวกันก็จะได้มีความเข้าใจกันได้..."
           สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนัก งาน กปร.) จึงมีมติอนุมัติหลักการให้จัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ" เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2525 ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง และบ้านโคกสยา ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ถนนสาย นราธิวาส-ตากใบ ห่างจากเมืองนราธิวาส 7 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 1,740 ไร่

 
 
ที่ตั้งของโครงการ : บ้านพิกุลทอง และบ้านโคกสยา ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส
   
วัตถุประสงค์โครงการ :

1. สนองพระราชดำริที่พระราชทานให้ไว้ในการดำเนินงานศึกษาและพัฒนาให้ครบถ้วนและถูกต้อง โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาในเชิงคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น
2. แก้ไขปัญหาความยากจนและผลกระทบที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประชาชนในกลุ่มเป้าหมาย ให้เพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในการพึ่งตนเองพร้อมไปกับการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต
3. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานขยายผลด้วยมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการขยายผลในรูปแบบการท่องเที่ยวในเชิงศึกษาและพัฒนา และการจัดการตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและประชาสังคม
4. ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการดำเนินงาน โดยยึดหลักการโครงการพระราชดำริและการปฏิบัติตนตามรอยพระยุคลบาทเป็นแนวทางดำเนินงาน โดยการใช้แผนเป็นเครื่องมือชี้นำไปในการดำเนินงาน

หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง :
สำนักงาน กปร.
 

ลักษณะโครงการ :
เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา

ผู้ได้รับประโยชน์ :
เกษตรกรรอบศูนย์ฯ

ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ :

พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ 1,740 ไร่    

  • พื้นที่ดอน เนื้อที่ 202 ไร่ เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน โรงงานสกัดน้ำมันและแปรรูปน้ำมันปาล์ม งาน ป่าไม้ งานปศุสัตว์ งานวิชาการเกษตร งานควบคุมโรคติดต่อ งานอุตสาหกรรมกระจูด และเส้นใยพืชอาคารฝึกอบรม และที่พัก
  • พื้นที่ลุ่ม เนื้อที่ 308 ไร่ เป็นพื้นที่พรุสำหรับศึกษา ทดลอง วิจัยหาแนวทางการปรับปรุงดิน อาทิ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่โครงการแกล้งดิน การปรับปรุงดินเพื่อปลูกข้าว การปลูกปาล์มน้ำมัน การเลี้ยงปลาในพื้นที่ดินเปรี้ยว สวน 50 ปีครองราชย์ รวบรวมพันธุ์ปาล์ม สวน 72 พรรษา รวบรวมพันธุ์ไม้หายากสวนสมุนไพรและงาน ทดลองอื่นๆ
  • พื้นที่อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน เนื้อที่ 1,030 ไร่ ตั้งอยู่ตอนใต้ของศูนย์ฯ จุน้ำได้ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของศูนย์ฯ และพื้นที่ของเกษตรกรใกล้เคียง
  • พื้นที่สวนยางเขาสำนัก เนื้อที่ 200 ไร่ เป็นที่ดอนเชิงเขาปลูกยางพารา และการผลิตยางแผ่นแบบ ครบวงจร สาธิตการปลูกพืชแซมในสวนยาง       

แผนงานหลัก
1. แผนงานทดลองวิจัย
          เพื่อสนองพระราชดำริที่พระราชทานไว้ในการดำเนินงานศึกษา และพัฒนาให้ครบถ้วน และถูกต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนา ในเชิงปริมาณไปสู่เชิงคุณภาพให้มากขึ้น โดยจะต้องมีการค้นคว้าที่เรียบง่ายประหยัด มีความสอดคล้องตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อที่จะสามารถนำผลที่ได้ไปสู่การปฏิบัติในทันทีสามารถรู้เห็น และสัมผัสได้ในลักษณะ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”     
                     
2. แผนงานขยายผลพัฒนา
          ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานขยายผลด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายผลใน รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงศึกษาและพัฒนา รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง และประชาสังคม ให้มีการขยายผลทั้งในพื้นที่เป้าหมายเดิม และขยายผลทั่วกระจายผลการพัฒนาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่บ้านยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,536 บาท/ครัวเรือน/ปี ทุกอำเภอตามพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง        
           
3. แผนงานฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
เพื่อให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมโดยเฉพาะป่าพรุผืนสุดท้ายให้คงอยู่ต่อไป จึงจำเป็นต้องดำเนินการรณรงค์ในการฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าพรุให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง และจำเป็นต้องมีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานให้ครบถ้วน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการป้องกัน และรักษาทรัพยากรในพื้นที่พรุและทรัพยากรชายฝั่ง และนำเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรมีจิตสำนึก และมีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขสถานการณ์ที่จะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม         
           
4. แผนงานพัฒนาสังคม/เศรษฐกิจโครงสร้างพื้นฐาน
เพื่อแก้ปัญหาความยากจน จากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของราษฎรกลุ่มเป้าหมาย จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของ "คน" ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาให้สามารถพึงตนเองได้ พร้อมไปกับการยกระดับและคุณภาพชีวิต การสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชน โดยการกระตุ้นให้ชุมชน "มีส่วนร่วม" ในกระบวนการพัฒนาในลักษณะบูรณาการ   
                     
5. แผนงานบริหารจัดการ
          ยึดพระราชดำริและการปฏิบัติตนตามรอยพระยุคลบาท จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกลไกการดำเนินงานระบบข้อมูล ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วนและทันสมัย โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบการติดตามการดำเนินงาน ผู้ปฏิบัติงานและผู้ประสานงาน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมในลักษณะบูรณาการอย่างแท้จริง และเปิดโอกาสให้ ราษฏรและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน           

โครงการพระราชดำริ
โครงการแกล้งดิน        
 พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
          “...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้ง และศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทำการทดลองปลูกควรเป็นข้าว...”         
 วันที่ 16 กันยายน 2527  
           “...โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา 3 ปีแล้วหรือ 4 ปีกว่าแล้ว ต้องการน้ำสำหรับ มาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่แล้วมันได้ผล ดังนั้น ผลงานของเราที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดูเราทำอย่างนี้แล้วเขาพอใจ เขามีปัญหาแล้ว เขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้...”            
วันที่ 5 กันยายน 2535 
                     
 ความเป็นมา     
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินการศึกษา ทดลอง เพื่อหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา    
               

ผลการทดลอง    
          การแกล้งดิน เป็นการเร่งทำให้ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด จนไม่สามารถปลูกพืช เศรษฐกิจได้ จากนั้นหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดรุนแรงที่สุด ให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ โดยอาศัยวิธีการต่างๆ ดังนี้           

  • การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกข้าว
    • การใช้น้ำล้างความเป็นกรด ในปีแรกข้าวเจริญเติบโต แต่ให้ผลผลิตต่ำ และผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อมา ช่วงเวลาของการขังน้ำ และระบายน้ำทิ้งที่เหมาะสมคือ 4 สัปดาห์
    • การใส่หินปูนฝุ่น ข้าวเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีกว่า การใส่หินปูนอัตราครึ่งหนึ่งของความต้องการปูน (1.5 ตัน/ไร่) ข้าวให้ผลผลิตเทียบเท่ากับการใส่ปูนเต็มอัตราแนะนำ
    • การใส่ปูนอัตราต่ำ (ครึ่งหนึ่งของความต้องการปูน) เพื่อสะเทินกรด ควบคู่กับการขังน้ำ แล้วเปลี่ยนน้ำทุกๆ 4 สัปดาห์ ข้าวจะให้ผลผลิตดีที่สุด 
  • การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกพืชไร่ พืชผัก โดยใส่หินปูนฝุ่นอัตรา 2 ตัน/ไร่ ร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำ 
  • การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกไม้ผล ควรขุดยกร่องเพื่อป้องกันน้ำท่วมและช่วยล้างกรด บนคันดินลงสู่คูด้านล่างควรปรับปรุงดินบริเวณสันร่องก่อน โดยหว่านหินปูนฝุ่นอัตรา 2 ตัน/ไร่ เพื่อสะเทินกรด ก่อนปลูกพืชรองก้นหลุมด้วยปูนขาวหรือหินปูนฝุ่นร่วมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ไม้ผลที่ทดลองปลูกได้ผลดี คือ มะพร้าวน้ำหอม ละมุด กระท้อน ชมพู่    
  • จากการทดลองปรับปรุงดินแล้วไม่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง พบว่าดินจะเปรี้ยวจัดรุนแรงอีก
  • ดินเปรี้ยวจัดในสภาพที่ไม่ถูกรบกวน ความเป็นกรดจะเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ และพืชพรรณธรรมชาติที่ทนทานความเป็นกรดขึ้นได้หลายชนิด
  • การพัฒนาพื้นที่พรุ: จากพื้นที่เสื่อมโทรม สู่การใช้ประโยชน์ได้
 

ความสำเร็จของโครงการ :

ผลการดำเนินงาน
“ป่าพรุเสื่อมโทรม สะสมดินเปรี้ยว แกล้งดินอย่างเดียว พัฒนาได้ยั่งยืน”

  • ด้านการศึกษา ทดลอง วิจัย

            ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย ทั้งหมดจำนวน 248 เรื่อง ซึ่งดำเนินการสิ้นสุดแล้ว จำนวน 184 เรื่อง และยังอยู่ระหว่างการศึกษา ทดลอง วิจัย จำนวน 64 เรื่อง แบ่งเป็นงานต่างๆ ดังนี้ งานพัฒนาที่ดิน 78 เรื่อง งานวิชาการเกษตร 37 เรื่อง งานป่าไม้ 48 เรื่อง งานปศุสัตว์ 49 เรื่อง งานประมง 12 เรื่อง งานควบคุมปราบปรามโรคติดต่อฯ 15 เรื่อง งานชลประทาน 2 เรื่อง งานวิจัยและอื่นๆ 7 เรื่อง
            * โครงการแกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการเร่งดินให้เป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน แล้วศึกษาวิธีการปรับปรุงดินโดยการใช้น้ำล้างดิน การใช้หินปูนฝุ่น และใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป สามารถปรับปรุงดินเพื่อปลูกพืชในดินเปรี้ยวจัดไว้ จึงได้จัดทำตำรา “คู่มือปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด” และใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดทั่วประเทศ
            * พันธุ์ข้าวทนเปรี้ยว จากพันธุ์ข้าวมากกว่า 1,000 สายพันธุ์นำมาศึกษาคัดเลือกพันธุ์ ได้พันธุ์ข้าวทนดินเปรี้ยว 10 สายพันธุ์ ได้แก่ลูกแดง อัลซัมดูลละห์ ข้าวเขียว ดอนทราย รวงยาว ข้าวขาว ช่อจำปา ช้องนาง ขาวน้อย และสี่รวง
            * เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยยึดหลักบริหารจัดการดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขาดเล็ก และรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตแบบพออยู่ พอกิน และรู้จักพอเพียงโดยไม่เดือดร้อน ซึ่งได้แบ่งการใช้พื้นที่โดยปรับสัดส่วนให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของภาคใต้ คือ 10-20-30-40 กล่าวคือ 10 % เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ 20% เป็นแหล่งน้ำ 30 % เป็นนาข้าว และ 40% เป็นพืชไร่พืชส่วน และทำการปรับปรุงสภาพความเป็นกรดของดินด้วยหินปูนฝุ่น
            * การปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่พรุ การทดลองปลูกปาล์มน้ำมันในดินอินทรีย์ พบว่าปาล์มน้ำมัน สามารถขึ้นได้ดีในพื้นที่พรุ ทนสภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง
            * โรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม โรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม ในช่วงแรกใช้วิธีทอดผลปาล์มในกระทะ ใช้เครื่องหีบแรงคน ต่อมาพัฒนาเครื่องแยกผลปาล์มจากทะลาย และการทอดผลปาล์มภายใต้ระบบสุญญากาศ ในกระบวนการผลิตไม่มีน้ำเสีย รวมทั้งมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
            * การปลูกพืชแซมยาง ปลูกระกำร่วมกับยางพารา เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างระหว่างแถวยาง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยปลูกระกำหวาน เมื่อปลูกยางแล้ว 4 ปี สามารถปลูกเป็นพืชร่วมกับยางได้ดี จะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 4-5 ปี ระกำหวานอายุ 10 ปี ขึ้นไป จะให้ผลผลิตเฉลี่ยกอละ 10 กิโลกรัม เสริมรายได้ให้เกษตรกร 5,800 บาทต่อไร่ต่อปี
            * การใช้ประโยชน์ไม้เสม็ดขาว ไม้เสม็ดขาวเป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่พรุได้ดีมาก เป็นไม้ที่สามารถนำส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ลำต้น ใช้ในงานก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ ใบ นำมากลั่นให้น้ำมันเขียว

  • การพัฒนาพื้นที่พรุ

            * การแบ่งเขตการใช้พื้นที่พรุ จัดแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่พรุตามสภาพการใช้ที่ดิน และศักยภาพของพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ เขตสงวน เขตอนุรักษ์ และเขตพัฒนา โดยเขตสงวนและเขตอนุรักษ์อยู่ในความรับผิดชอบของงานป่าไม้ที่จะต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าพรุ ส่วนเขตพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นเขตนิคมสหกรณ์บาเจาะและนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง เป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะนำผลการศึกษาวิจัยไปถ่ายทอด เพื่อพัฒนาด้านการเกษตรต่อไป

  • ด้านการขยายผลการพัฒนา
  • การพัฒนาหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ทั้งหมด 13 หมู่บ้าน จำนวนประชากรทั้งสิ้น 114,258 คน 1,782 ครัวเรือน พื้นที่ทั้งหมด 23,068 ไร่ ราษฎรมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายทั้งทำนาปลูกไม้ผล ปลูกมะพร้าว ปลูกพืชไร่ พืชผัก เลี้ยงปลา และอาชีพหัตถกรรม
  • ด้านการพัฒนาศูนย์สาขา

            * มีจำนวน 4 ศูนย์ฯ ประกอบด้วย ศูนย์สาขาที่ 1 โครงการสวนยางเขาตันหยง ดำเนินการปลูกยางพาราพันธุ์ต่างๆ และปลูกพืชแซมในสวนยางพื้นที่ 15.8 ไร่ ศูนย์สาขาที่ 2  โครงการพัฒนาหมู่บ้านปีแนมูดอ ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่และปลูกพืชชนิดต่างๆ พื้นที่ 135 ไร่ ศูนย์สาขาที่ 3 โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะ ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาในบ่อและร่องสวน ส่งเสริมการทำปศุสัตว์ และการปลูกพืชชนิดต่างๆ ในพื้นที่ดินเปรี้ยว พื้นที่ 1,500 ไร่ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิต 40-50 ถึง/ไร่ และศูนย์สาขาที่ 4 โครงการพัฒนาหมู่บ้านโคกอิฐ-โคกใน บ้านยูโย พื้นที่ 30,065 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งแรกที่นำผลการศึกษาจากโครงการแกล้งดินไปขยายผลการพัฒนา จากพื้นที่ที่มีปัญหาซึ่งแต่เดิมทำนาไม่ได้ผลเลย จนเกษตรกรปลูกข้าวได้ผลผลิต 40-50 ถัง/ไร่
            * การพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ได้มีพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ พรุแฆแฆ จังหวัดปัตตานี โดยเข้าไปส่งเสริมให้มีการทำนาและปลูกพืชผักในพื้นที่ขอบพรุ บ้านตอหลัง-บ้านทรายขาว โดยพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดให้เกษตรกรทำนาได้ผลผลิตเฉลี่ย 50-60 ถึง/ไร่ และ การปลูกพืชผักพืชไร่ การปลูกไม้ผล และการเลี้ยงสัตว์ การฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรในเขตลุ่มน้ำบางนรา โดยปรับปรุงดินสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วนในลักษณะกองทุนหมุนเวียนเกษตรกรในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอตากใบ และอำเภอเจาะไอร้อง และสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จำนวน 100 ราย
            * โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ เพื่อเป็นแหล่งสร้างงานให้กับราษฎรในพื้นที่ ผลิตอาหารของราษฎรในจังหวัดนราธิวาส ศึกษาและพัฒนาอาชีพทางการเกษตรของผู้ทำงานโครงการ ฝึกอบรม สาธิตและให้ความรู้แก่ราษฎรในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งมีทั้งสิ้น 9 ฟาร์ม ในอำเภอเมือง อำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอรือเสาะ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

   


ที่มาของข้อมูล : สำนักงาน กปร. ,ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มผู้ใช้น้ำ …………………………………………………………………………
เบอร์ติดต่อ ……………………………………………………………………………………….…
ที่อยู่ …………………………………………………………………………………………………

 



Copyright 2010 - Office of The Royal Development Projects Board. All rights reserved.