ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ห้วยใหญ่วังแขม อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี

                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขมจังหวัดลพบุรี เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล 0005/5102 ลงวันที่ 
3 พฤษภาคม  2541  ทรงมีพระราชดำริว่าเป็นโครงการที่น่าสนับสนุนแต่มีข้อตกลงว่า

1)       ผู้ที่บุกรุกในเขตโครงการ จะไม่ได้รับการชดเชยหรือเอกชนจะให้การ

ชดเชยไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน

2)       ระบบต้องใช้ระบบของฝายก่อน

3)       ในพื้นที่ทำประโยชน์จะต้องส่งเสริมระบบทฤษฎีใหม่

4)       ในอนาคตจะต้องขยายพื้นที่รับประโยชน์

 

                1)      เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

2)      มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

                   ในปี2542 กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดลพบุรีตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพบว่ามีราษฎรบุกรุกเข้าครอบครองและจะขอรับค่าชดเชยที่ดิน  ซึ่งขัดต่อแนวพระราชดำริดังนั้นกรมชลประทานจึงใช้งบประมาณในระบบปกติ ดำเนินโครงการ

ด้านการส่งเสริมระบบทฤษฎีใหม่กรมชลประทานได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร.เพื่อขุดสระเก็บน้ำตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น60 ราย แบ่งเป็น 2 รุ่น ๆ ละ 30 ราย โดยทั้ง 2 กลุ่มได้รับการส่งเสริมแนวทางการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ  นอกจากนี้กรมชลประทานมีแผนการที่จะส่งเสริมให้มีระบบท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขมเพื่อเติมน้ำให้แก่สระน้ำประจำไร่นาของเกษตรกรต่อไป

                   1. การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขมเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ผู้ที่บุกรุกในเขตโครงการฯ ทำให้ราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลสระโบสถ์ตำบลมหาโพธิ์ และตำบลนิยมชัยประมาณ7,000 ไร่ ได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และทำเกษตรกรรม

                   2. การใช้ระบบของฝายซึ่งปัจจุบันราษฎรได้ใช้น้ำจากการปล่อยน้ำของอ่างห้วยใหญ่วังแขมผ่านฝายวังแขม  และแนวคลองธรรมชาติ

                   3.การส่งเสริมระบบทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ทำประโยชน์ ปัจจุบันมีราษฎรในเขตพื้นที่โครงการฯ ทำทฤษฎีใหม่ได้สมบูรณ์สามารถเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่นๆจำนวน 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.3 

                   4.  ในอนาคตต้องขยายพื้นที่รับประโยชน์ ได้มีการก่อสร้างระบบส่งน้ำเป็นคลองดาดคอนกรีตฝั่งซ้าย-ขวา รวมความยาว  27.1 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถขยายพื้นที่รับประโยชน์ได้มากขึ้นประมาณ 23,700  ร่

  1) ผลต่อการประกอบอาชีพ 

               จากการดำเนินงานโครงการฯ  ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในระดับครัวเรือนอย่างชัดเจน  คือ ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดของกลุ่ม 1เกษตรกร  25 ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ100 ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการใช้น้ำโครงการห้วยใหญ่วังแขมร่วมกับสระเก็บน้ำที่ได้รับการสนับสนุนขุดให้พร้อมทั้งปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพการทำเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่ ส่วนกลุ่ม 2 เกษตรกร 26ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 100  ได้ใช้น้ำจากโครงการฯ ร่วมกับน้ำจากสระ สำหรับกลุ่ม 3เป็นเกษตรกรที่ได้ใช้น้ำจากโครงการฯ  ผ่านระบบฝายหรือการส่งน้ำตามคลองธรรมชาติ จำนวน  60 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ92.3 ของครัวเรือนทั้งหมด  อย่างไรก็ตามยังมีเกษตรกรบางส่วน   จำนวน 5 ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 7.7 ของครัวเรือนทั้งหมด ไม่ได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำในโครงการฯ แต่ประการใด 

2)    ผลทางเศรษฐกิจ    

          ประชาชนในเขตพื้นที่โครงการฯ  ส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากการทำนา และทำไร่  ซึ่งมีรายได้สุทธิจากการเพาะปลูกเฉลี่ย91,850  บาท/ครัวเรือน  ทั้งนี้รายได้ที่สำคัญของครัวเรือนมาจาก 3 แหล่งด้วยกัน คือ จากการรับราชการเป็นรายได้สุทธิเฉลี่ยสูงสุดรองลงมา  คือ รายได้จากการเพาะปลูกและรายได้จากการทำงานโรงงาน นอกนั้นเป็นรายได้จากประเภทอื่น ๆ เช่นธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย บุตรหลานส่งมาให้ เป็นต้น ในปี 2551เมื่อรวมรายได้สุทธิจากทุกแหล่งที่มาแล้วมีรายได้สุทธิเฉลี่ยปีละ 146,655 บาท/ครัวเรือน สำหรับการศึกษาครั้งนี้พบได้อย่างชัดเจนว่า รายได้ของคนในครัวเรือนในเขตพื้นที่โครงการฯมีรายได้เฉลี่ยคนละ 48,885 บาท ซึ่งเป็นรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน  (จปฐ.)หมวดเศรษฐกิจ ที่ว่าครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าคนละ 23,000 บาท/ปี และจากรายงาน จปฐ. ของครัวเรือนประชาชนทั้งหมดในอำเภอสระโบสถ์ ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2549  2551 รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนยังต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรในเขตพื้นที่โครงการฯ  แต่ราษฎรยังคงมีหนี้สินที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ยจำนวน 141,162 บาทต่อครัวเรือนของผู้ให้สัมภาษณ์ที่ตอบว่ามีหนี้สิน จำนวน 95คน โดยเป็นหนี้สินที่กู้มาแต่เดิมและผ่อนใช้ในเวลาระยะยาว  ซึ่งกู้มาเพื่อใช้ในการลงทุนใน  ภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียวถึงร้อยละ  54.7นอกจากนั้นเป็นการกู้มาใช้เพื่อการลงทุนในภาคการเกษตรร่วมกับการค้าขายการศึกษาบุตร การรักษาพยาบาล การซื้อทรัพย์สินที่จำเป็นและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สำหรับแหล่งกู้นั้นส่วนใหญ่กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร ร้อยละ52.6 และสถาบันการเงินอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์การเกษตร 

            3) ผลทางสังคมประชาชนในเขตพื้นที่โครงการฯ มีการรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ร้อยละ48.3 ซึ่งเป็นกลุ่มออมทรัพย์มากที่สุด นอกจากนั้นเป็น กลุ่มสตรี กรรมการหมู่บ้านฯลฯ ส่วนกลุ่มทางอาชีพนั้น มีการรวมกลุ่มร้อยละ 31.0 ได้แก่ กลุ่มทำนา  กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสหกรณ์การเกษตร อย่างไรก็ตามสำหรับการลงแขกใช้แรงกันในการทำนา ทำไร่ ในหมู่บ้านก็ยังคงมีเหลืออยู่แม้ว่าปัจจุบันจะมีการว่าจ้างแรงงานกันเป็นส่วนใหญ่ โดยชาวบ้านจะเรียกว่าการเอาแรงซึ่งเป็นผลสะท้อนได้ถึงประชาชนในหมู่บ้าน ยังมีความรักความสามัคคีกันอีกมากและเห็นได้ชัดเจนจากเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับตนเองหรือครอบครัวจะไปปรึกษาหารือกับผู้นำชุมชนเพื่อนบ้านและญาติ เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมใดๆ ของโครงการฯ ในอนาคตหากสนับสนุนให้ผู้นำชุมชนเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมด้วยก็จะทำให้ประชาชนเกิดการยอมรับเป็นผลดีต่อการพัฒนา

การมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ 

ส่วนใหญ่ มีส่วนร่วมในกิจกรรมของโครงการฯ ได้แก่กิจกรรมการประชุม  การเข้ารับอบรมอาชีพการส่งเสริมอาชีพและการเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำและกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของโครงการฯในเรื่องการได้ใช้น้ำจากโครงการฯเพื่อใช้ในการเพาะปลูกมากกว่าเรื่องใด ๆ ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จของโครงการฯ ในด้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และการสนับสนุนสระน้ำให้กับประชาชนในเขตพื้นที่โครงการมากกว่าเรื่องใดๆ 

 

ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 1

ข้อมูล ณ วันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2557