พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เป็นขั้นเป็นตอนอย่างละเอียดก่อนทุกครั้งในการจัดวางแผนโครงการใดโครงการหนึ่ง ก่อนจะมีพระราชดำรินั้น ขั้นตอนต่าง ๆ พอจะกล่าวได้ดังต่อไปนี้
๑. การศึกษาข้อมูล
๒. การหาข้อมูลในพื้นที่
๓. การศึกษาข้อมูลและการจัดทำโครงการ
๔. การดำเนินงานตามโครงการ
๕. การติดตามผลงาน
๑. การศึกษาข้อมูล
ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินยังพื้นที่ใดๆ นั้น จะทรงศึกษาข้อมูลจากเอกสารและแผนที่ต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อให้ทราบถึงสภาพในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างละเอียดก่อนเสมอ
๒. การหาข้อมูลในพื้นที่
เมื่อเสด็จฯ ถึงพื้นที่นั้นๆ จะทรงหาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและข้อมูลล่าสุด อาทิเช่น
๒.๑ ทรงถามชาวบ้านเกี่ยวกับอาชีพและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้านตลอดจนภูมิประเทศสภาพภูมิอากาศและแหล่งน้ำ
๒.๒ ทรงสำรวจพื้นที่ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่จริงที่คาดว่าควรจะดำเนินการพัฒนาได้
๒.๓ ทรงสอบถามเจ้าหน้าที่เมื่อทรงศึกษาจากข้อมูลเอกสาร และทรงได้ข้อมูลจากพื้นที่จริงแล้ว จะทรงปรึกษากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ถึงความ เหมาะสม ความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งคำนวณวิเคราะห์ทันที ด้วยว่า เมื่อดำเนินการแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร และคุ้มค่ากับการลงทุน หรือไม่เพียงใด อย่างไรแล้ว จึงพระราชทานพระราชดำริให้เจ้าหน้าที่ที่ เกี่ยวข้องไปพิจารณาในขั้นรายละเอียดตามขั้นตอนต่อไป
๓. การศึกษาข้อมูลและการจัดทำโครงการ
เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้รับพระราชทานพระราชดำริแล้ว จะไปศึกษาข้อมูลรายละเอียดต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อประกอบการจัดทำโครงการให้เป็นไปตามแนวทางพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้มีพระราชดำริอยู่เสมอว่า พระราชดำริของพระองค์เป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น เมื่อรัฐบาลได้ทราบแล้ว ควรไปพิจารณาวิเคราะห์กลั่นกรองตามหลักวิชาการก่อน เมื่อมีความเป็นไปได้และมีประโยชน์คุ้มค่า และเห็นควรทำ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตัดสินใจเอง และในกรณีที่วิเคราะห์พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสมสามารถล้มเลิกได้
๔. การดำเนินงานตามโครงการ
เมื่อจัดทำโครงการเสร็จเรียบร้อย และผ่านการพิจารณาจากหน่วยเหนือตามลำดับขั้นตอน จนถึงการอนุมัติโครงการและงบประมาณแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการปฏิบัติงานในทันที โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและประสานแผนต่างๆ ให้แต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการสนับสนุนสอดคล้องกัน และ/หรืออาจจัดตั้งองค์กรกลางที่ประกอบด้วยแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ควบคุมดูแลให้การดำเนินการต่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ
๕. การติดตามผลงาน
ในการติดตามผลงานการดำเนินงานนั้น แต่ละหน่วยงาน รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะได้มีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ แต่ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจะเสด็จฯกลับไปยังโครงการนั้นด้วยทุกครั้งเมื่อมีโอกาส เพื่อทอดพระเนตรความก้าวหน้าและติดตามผลงานต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในกรณีที่เกิดมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ จะทรงชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ให้สำเร็จลุล่วงไป