ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

ทฤษฏีใหม่ใจกลางกรุงสร้างรายได้ 450,000 ต่อปี (25 เม.ย.51)

ทฤษฏีใหม่ใจกลางกรุงสร้างรายได้ 450,000 ต่อปี (25 เม.ย.51)

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และได้จัดการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมานั้น ในความสำเร็จของผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งในรางวัลรองชนะเลิศด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นของเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือนายณรงค์ บัวสี บ้านเลขที่ 8 หมู่ 14 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร ชีวิตของณรงค์เหมือนบุคคลทั่วไป คือประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบเรียนรู้ จึงได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งมาประกอบอาชีพการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงทำให้เขามีรายได้จากปีที่ผ่านมาถึง 450,000 บาท/ปี มีรายจ่าย 50,000 บาท/ปี ดังนั้นจึงมีเงินเหลือจ่ายถึง 400,000 บาทต่อปี

นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า นายณรงค์เริ่มทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2542 บนพื้นที่ 27 ไร่ เหตุผลที่ทำทฤษฎี ใหม่ เนื่องจากพบว่าการทำเกษตรอย่างเดียวนั้น จะทำให้ตนเองและครอบครัวประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากบางปีผลผลิตออกมาก ทำให้ราคาตกต่ำไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงได้ปรับปรุงพื้นที่ในแปลงเกษตรของตนเองให้มีการทำการเกษตรหลากหลายขึ้นมา และจากการที่ได้ทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกข้าวจำนวน 12 ไร่ และปลูกถึง 3 ครั้งต่อปี ได้ผลผลิต 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะเดียวกันนำพืชอื่น ๆ มาปลูกรอบแปลงนา เช่น ปาล์ม ผักสวนครัว แตงไทย และฟักทอง เป็นต้น เพื่อให้เกิดความหลากหลายและมีรายได้อย่างต่อเนื่องด้วย

นอกจากข้าวแล้วเขายังมีแหล่งน้ำเป็นของตนเองด้วยการขุดสระน้ำขนาด 8x12x2 เมตร จำนวน 3 บ่อ และขนาด 8x30x2 เมตร อีกจำนวน 3 บ่อ เพื่อนำน้ำมาใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยน้ำที่ใช้เป็นหลักคือน้ำฝน และลำคลองธรรมชาติ ในสระก็จะเลี้ยงปลาตะเพียน ปลานิล ปลาดุก ปลาหมอ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ทำให้ทุกวันเขามีรายได้เข้ามาเลี้ยงครอบครัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากพืชหรือสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น

พื้นที่ 8 ไร่ ที่เหลือจากนาข้าว สระน้ำ แล้วเขายังได้ปลูกพืชผักสมุนไพรและผลไม้ ได้แก่ มะม่วง มะพร้าว ขนุน กระท้อน และไม้ประดับเพื่อเป็นรายได้เสริม ได้แก่ ต้นโมก เตยหอม เป็นต้น และพื้นที่ส่วนหนึ่งใช้เป็นที่พักอาศัย และโรงเรือนส่วนหนึ่งให้เช่าที่ดินไปทำโฮมสเตย์ และเป็นโรงสีข้าวชุมชน และเมื่อเดือนมกราคม 2551 จากความมุ่งมั่นจริงจังในการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ของนายณรงค์ ก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการเกษตรอย่างมีส่วนร่วม กรุงเทพมหานครได้ประกาศเป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ต้นแบบให้ชาว กทม. ได้เรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม

นายณรงค์ ทำการเกษตรด้วยการยึดหลักการ “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” ในบริเวณแปลงเกษตรจะปลูกพืชหลาย ๆ อย่าง ทั้งพืชไร่ ไม้ผล ไม้ประดับ ผักต่าง ๆ ซึ่งสามารถที่จะนำมาบริโภคในครัวเรือน ที่เหลือก็จะนำไปขายเป็น รายได้แก่ครอบครัวมีความพอประมาณ”

ในการทำการเกษตรนั้นนายณรงค์ จะเน้นในเรื่องการเตรียมดิน จะใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นหลัก ใช้ศัตรูธรรมชาติ ในการป้องกันโรค แมลง เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่อให้ดินมี คุณภาพและที่เหลือก็จะนำไปขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว มีการปลูกพืชหลาย ๆ ชนิดเพื่อเป็นหลักประกันให้กับตนเอง ถ้าผลผลิตชนิดไหนตกต่ำก็จะมีผลผลิตอย่างอื่นเข้ามาทดแทน

“ในชุมชนสะพานสูงจะมีทั้งคนนับถือศาสนาพุทธและอิสลาม แต่ก็ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเพราะทุกคนมีน้ำใจที่ดีต่อกันถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการประกอบอาชีพการเกษตรให้กับผู้ที่สนใจ ตลอดจนเด็ก ๆ นักเรียนที่เข้ามาศึกษาดูงานอยู่เป็นประจำ มีการรวมกลุ่มในการผลิต และระดมทุนเพื่อใช้เป็นทุนในการผลิต และให้สมาชิกในกลุ่มกู้ยืมไปใช้ในการประกอบอาชีพโดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการเอื้อเฟื้อและดูแลซึ่งกันและกัน อันแสดงถึงความสามัคคีในชุมชนอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับประจำวันที่ 25 เมษายน 2551