ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการจัดหาน้ำให้ราษฎร ตำบลรัตภูมิ และตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

โครงการจัดหาน้ำให้ราษฎร ตำบลรัตภูมิ และตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะเกิดจากแนวพระราชดำริของพระองค์เอง ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการในลักษณะที่เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนเอง กล่าวคือ ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานโครงการ ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดารแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เคยที่จะทรงละเลยในทุกข์สุขของประชาชน ซ้ำยังคงทรงติดตามอย่างต่อเนื่องถึงความเป็นไปต่างๆ อย่างเช่น โครงการที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ โครงการจัดหาน้ำให้ราษฎรตำบลรัตภูมิ และตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานโครงการ แม้จะเป็นเพียงโครงการเล็กๆ ที่ส่งประโยชน์ให้กับประชาชนเพียงแค่ไม่กี่หมู่บ้าน แต่ในหลวงของเราก็ไม่เคยแม้ซักครั้งที่จะทรงละเลยความใส่พระทัยให้กับราษฎรที่อยู่ห่างไกล ด้วยพระองค์ไม่เคย “หยุดทรงงาน” แม้จะไม่เคยทอดพระเนตรเห็นถึงความเดือดร้อนของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ด้วยพระเนตร แต่ความเดือดร้อนดังกล่าวนั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นได้ด้วยพระทัย

ตำบลบางเหรียงและตำบลรัตภูมิ มีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสลับกับลูกเนินเตี้ยๆ พื้นที่มีความลาดเทจากเทือกเขาบรรทัดสู่ทะเลสาบสงขลา ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ปลูกผัก สวนผลไม้และสวนยางพารา

ในช่วงฤดูแล้งราษฎรขาดแคลนน้ำเนื่องจากเวลาฝนตกลงมา ไม่มีที่เก็บกักน้ำ ทำให้น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็วที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ กรมชลประทานได้พิจาณาพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ๙ แห่ง ในลำน้ำธรรมชาติ ๕ สาย โดยการขุดลอกคลองต่างๆ และก่อสร้างท่อระบายน้ำเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีน้ำไม่เพียงพอในฤดูแล้ง เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ต่อมา ในปี ๒๕๔๕ นายบุญศิลป์ เกิดศรี กำนันตำบลบางเหรียง และนายสวัสดิ์ สุจิชาติ กำนันตำบลรัตภูมิ จึงได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการก่อสร้างฝายทดน้ำบริเวณคลองรัตภูมิเพื่อช่วยเหลือราษฎร ทั้ง ๒ ตำบล คือ ตำบลรัตภูมิและตำบลบางเหรียง ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคและทำการเกษตร

ซึ่งเมื่อพิจารณาความต้องการของประชาชน ตลอดจนสภาพภูมิประเทศแล้ว กรมชลประทานจึงพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือโดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองรัตภูมิเป็นการยกระดับน้ำให้สูงขึ้น พร้อมทั้งมีระบบส่งน้ำ ๒ สาย เพื่อส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ของราษฎรและยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อส่งน้ำไปเติมให้กับคลองสายต่างๆ ทั้ง ๕ สาย ซึ่งพร้อมอยู่แล้วด้วยอาคารเก็บกักน้ำและยกระดับน้ำในลำน้ำดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปแนวทางการช่วยเหลือและจัดทำรายงานขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการจัดหาน้ำให้ราษฎรตำบลรัตภูมิและตำบลบางเหรียง โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำรัตภูมิไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี ๒๕๔๖ ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๔๘ และ ๒๕๔๙

การดำเนินงานดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่เกษตรกรรม ๗,๕๐๐ ไร่ ซึ่งมีทั้งนาข้าว สวนผลไม้ พืชผัก และสวนยางพารา มีน้ำสำหรับทำการเกษตร โดยราษฎรสามารถสูบน้ำจากคลองขึ้นมาใช้ได้โดยตรง อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้นอีกด้วย ส่งผลให้ราษฎร ๘,๔๐๐ คน ๒๒ หมู่บ้าน ในเขตตำบลบางเหรียง และตำบลรัตภูมิ ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรได้ผลผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ราษฎรสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงปลาได้อีกอาชีพหนึ่งเนื่องจากมีน้ำในลำคลองเพียงพอที่จะเลี้ยงปลาได้ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า พอมีน้ำทำให้ราษฎรคิดที่จะประกอบอาชีพต่างๆ โดยการรวมกลุ่มกัน เช่น กลุ่มปลูกผัก กลุ่มเลี้ยงปลา สำหรับการบริหารจัดการน้ำนั้น ราษฎรกลุ่มผู้ใช้น้ำจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในการวางแผนการใช้น้ำและรักษาอาคารชลประทานต่างๆ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนได้เป็นอย่างดี