ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

วันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 เวลา 14.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมศูนย์สาขา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 3/2564

ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์สาขา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ณ ห้องประชุม อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรุงเทพฯ 

โดยมีระเบียบวาระการประชุม คือ สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2563 การประเมินผลแผนแม่บทศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2560 - 2564 ในส่วนการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร มีผลการดำเนินงานดังนี้ 1) ด้านศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนา มีผลการศึกษาฯ จำนวน 13 เรื่อง 2) ด้านการขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้ ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 มีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 21,972 คน โดยนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ กว่า 85% ในเรื่องของการปลูกข้าวแบบครบวงจร เกษตรทฤษฎีใหม่ การปลูกพืชสวน ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีเมนูโดดเด่น จำนวน 26 เมนู อาทิ การเลี้ยงโคเนื้อภูพาน ไก่ดำภูพาน สุกรภูพาน การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การผลิตข้าวครบวงจร การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริขึ้น จำนวน 32 แห่ง ที่มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ ความสำเร็จให้แก่ผู้สนใจในแต่ละด้าน 3) ด้านการบริหารจัดการองค์กร ศูนย์ฯ ให้ความสำคัญกับพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ในการถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ปัจจุบันมีจำนวน 22 หมู่บ้าน 5,107 ครัวเรือน มีประชากร 15,900 คน 

      สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ปี 2564 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานโดยเฉพาะการฝึกอบรมในรูปแบบ New Normal คือให้ความรู้แก่เกษตรกรกลุ่มย่อย การอบรมศึกษาดูงานแบบออนไลน์ มีการจัดทำคลิปเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และของสำนักงาน กปร. รวมทั้งมีการแจกปัจจัยการผลิต โดยมีผู้เข้าอบรม จำนวน 1,270 คน หลักสูตรที่อบรม เช่น การเลี้ยงกระต่ายดำภูพาน ไก่ดำภูพาน เทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีด การผสมปุ๋ยใช้เอง ขยายพันธุ์พืชเพื่อใช้เองและจำหน่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอาชีพเพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะการใช้พื้นที่ที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเลี้ยงปลาในวงบ่อซีเมนต์ การเพาะเห็ดในวงบ่อซีเมนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ยังคงทำหน้าที่ศึกษา ทดลอง หารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเกษตรกรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการให้เกิดความยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ต่อไป 

      ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีศูนย์สาขา จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1)โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดมุกดาหาร ได้ดำเนินงานตามแผนงานด้านพัฒนาแหล่งน้ำ ส่งเสริมการใช้น้ำชลประทานอย่างมีส่วนร่วมและฝึกอบรมเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ใช้น้ำ เกษตรกรสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกทำให้มีผลผลิตทางเกษตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้นกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีนพร้อมกับสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่ครอบครัวนักเรียน ฝึกอบรมอาชีพจักสานเพื่อเป็นอาชีพเสริม เป็นต้น 2)โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครพนม ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในบริเวณพื้นที่โครงการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่บริเวณ 2 ฝั่งลำน้ำก่ำ ให้มีน้ำใช้ในการเกษตร และการอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน รวมถึงมีการพัฒนาการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรผสมผสาน 3)โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนบ้านแดนสามัคคีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี 2564 ได้จัดกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะการประกอบอาชีพการเกษตรตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ 4)โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ ดำเนินการสนับสนุนงานพัฒนาในพื้นที่อำเภอภูสิงห์ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยเป็นศูนย์ให้บริการด้านการเกษตรสาขาต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ให้บริการแก่เกษตรกรทั้งในรูปแบบของการจัดทำแปลงสาธิต การฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ และฝึกทักษะทางอาชีพ รวมไปถึงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตพื้นฐานให้แก่เกษตรกร และนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาอาชีพของตนเอง โดยมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาพืชเพื่อให้ได้พันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และให้ผลผลิตสูง รวมทั้งการสนับสนุนให้เกษตรกรได้น้อมนำการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยนำพันธุ์พืชต่าง ๆ ที่ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรไปเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกอย่างแพร่หลายต่อไป มีผลสำเร็จที่โดดเด่น 20 เมนูหลัก เช่น การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ การปลูกมะนาวนอกฤดู การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การเลี้ยงปลานิลในกระชัง การผลิตผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ การผลิตทุเรียนคุณภาพ และการผลิตกาแฟโรบัสตา ฯลฯ เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้มีความมั่นคงในอาชีพต่อไป