สำนักงาน กปร. มอบโล่พร้อมเกียรติบัตร ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์สาขา จังหวัดสกลนคร
วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567 นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เป็นประธานในพิธีมอบโล่พร้อมเกียรติบัตร ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ 2567 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร โดยมี นายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวต้อนรับ นายปริญญวัฒน์ วัชรอาภากร ผู้อำนวยการกองแผนงานและยุทธศาสตร์ สำนักงาน กปร. กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดาริของศูนย์ศึกษาฯ และศูนย์สาขาฯ
โครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริฯ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร โดยสำนักงาน กปร. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและกระบวนการตามหลัก Plan Do Check Act : PDCA จัดทำเป็นคู่มือการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ
ทั้งนี้มีศูนย์เรียนรู้ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินแล้ว จำนวน 221 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายสาขา ได้แก่ ด้านเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ ประมง ปศุสัตว์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาหาความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
โดยครั้งนี้มีศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และศูนย์สาขา รับโล่พร้อมเกียรติบัตร ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน ผ่านการประเมิน จำนวน 43 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ 35 แห่ง ศูนย์เรียนรู้ฯ ของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2 แห่ง ศูนย์เรียนรู้ฯ ของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 แห่ง และศูนย์เรียนรู้ฯ ของโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนบ้านแดนสามัคคี (ลุ่มน้ำลำพะยัง) 3 แห่ง
ช่วงบ่ายคณะฯ เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางงอกบ้านนาเลา ต.บึงทวน อ.เต่างอย โดยมีณัฏกานต์ ดากาวงค์ บุตรสาวของดวงตา ดากาวงค์ ประธานกลุ่มให้การต้อนรับ โดยณัฏกานต์เปิดเผยว่าผลจากการเรียนรู้ด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำให้กลุ่มมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายผ่านร้านค้าของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เริ่มตั้งแต่สบู่สมุนไพร ข้าวสาร ข้าวฮาง ปลาร้าและขยายผลเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือในรูปแบบต่างๆ จนปัจจุบันดวงตา ดากาวงค์ ได้รับโล่และเกียรติบัตรเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567
จากนั้นคณะฯ เยี่ยมบ้านนายทองจิตและนางบัญชี พรหมสาขา ณ สกลนคร ที่บ้านบึงสา ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย จ.สกลนคร แต่เดิมนายทองจิตและภรรยา ทำนาและปลูกมะเขือเทศส่งโรงงานหลวงดอยคำในพื้นที่อำเภอเต่างอย ต่อมาเห็นเกษตรกรรายอื่นทำเกษตรผสมผสาน จึงไปเรียนรู้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จากนั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 จึงได้ปรับพื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน มาปลูกกล้วยหอมทอง ถั่วฟักยาว บวบเหลี่ยม และยังคงปลูกมะเขือเทศ บางส่วน จำหน่ายให้แก่ร้านค้าในพื้นที่มีรายได้วันละประมาณ 1,000 บาท และได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริบ้านบึงสา และมีผู้สนใจเข้าเรียนรู้ ทั้งนี้นายทองจิต มีคุณสมบัติครบ 5 ดี คือ เป็นคนดี มีพันธุ์พืชดี มีพื้นที่ดี มีองค์ความรู้ดี และมีความยั่งยืน จึงได้รับโล่พร้อมเกียรติบัตรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567