องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากนั้น นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคณะให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การดำเนินงานโครงการสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย และการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ตอนล่าง) ต่อมา เดินทางไปสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ซึ่งอยู่ภายในบริเวณโครงการฯ และเยี่ยมชมสภาพพื้นที่โดยรอบโครงการฯ โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะ พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรและเกษตรกรผู้เข้าร่วมงาน
โครงการสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2534 ณ วังไกลกังวล ให้ก่อสร้างโครงการพระราชานุสาวรีย์ฯ มีการใช้น้ำ ที่เก็บในสระเก็บน้ำจำนวนมากเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของราษฎรที่มีพื้นที่อยู่รอบบริเวณพระราชานุสาวรีย์ฯ และมีพระราชดำริเพิ่มเติมหลายครั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้แก่โครงการ ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ถูกน้ำท่วม ตลอดจนมีน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชดำริให้ส่งเสริมอาชีพเสริมแก่ราษฎร เช่น การปลูกข้าวนาปรัง การปลูกพืชอายุสั้นและไม้ผล การเลี้ยงปลา และการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน
โครงการสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 256 ไร่ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย สวนสาธารณะและอื่นๆ มีพื้นที่ประมาณ 56 ไร่ ส่วนที่ 2 พื้นที่สระเก็บน้ำมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ปริมาณความจุที่ระดับเก็บกัก 1,209,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำ โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริหารจัดการสระเก็บน้ำโครงการฯ ในรูปแบบพื้นที่แก้มลิง ได้แก่ 1) การเติมน้ำเข้าสระ รับน้ำเข้าสู่พื้นที่สระเก็บน้ำ โดยใช้ระบบท่อเติมน้ำ 2) การนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งจะทำการส่งน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมรอบโครงการฯ จำนวน 1,037 ไร่ ผ่านระบบชลประทาน และ 3) การบริหารจัดการน้ำในช่วงเกิดอุทกภัย ในช่วงน้ำหลากและเกิดปัญหาอุทกภัยโดยการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในสระเก็บน้ำตลอดเวลา
ช่วงบ่ายคณะ เดินทางไปยังเขื่อนพระราม 6 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำเขื่อนพระราม 6 และการจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก จากนั้น เยี่ยมชมสภาพพื้นที่บริเวณสันเขื่อนพระราม 6 พร้อมกันนี้ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณเขื่อนพระราม 6 และประตูระบายน้ำพระนารายณ์ โอกาสนี้ องคมนตรี พบปะเยี่ยมเยียนกลุ่มผู้ใช้น้ำและราษฎรบริเวณโครงการ
โครงการเขื่อนพระราม 6 เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษเสนอให้สร้างปิดกั้นแม่น้ำป่าสักใต้ บริเวณจังหวัดสระบุรี ต่อมาในปี 2459 ได้เลื่อนจุดก่อสร้างมาที่คุ้งยางนม ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากอำเภอท่าเรือขึ้นมาประมาณ 6 กิโลเมตร เนื่องจากมีฐานรากที่มีความมั่นคงกว่า หินคุณภาพดี และบริเวณตำบลท่าหลวง มีระดับต่ำกว่าจังหวัดสระบุรี ซึ่งเมื่อมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาในภายหลังจะสามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในยามที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักมีไม่เพียงพอ เดิมพระราชทานนามว่า “เขื่อนพระเฑียรราชา” ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2467 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเปลี่ยนนามเป็น “เขื่อนพระราม 6” โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2459 และดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2466 โดยในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิด ปัจจุบันเขื่อนพระราม 6 มีอายุการใช้งาน 99 ปี ตัวเขื่อนมีช่องระบายน้ำทำด้วยบานเหล็กจำนวน 6 ช่อง กว้างช่องละ 12.50 เมตร มีประตูระบายพระนารายณ์ทำหน้าที่ระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักที่ทดไว้เข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นคลองส่งน้ำสายใหญ่ที่ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จนถึงทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี รวมพื้นที่ 680,000 ไร่ ตลอดจนใช้ในการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม ผลักดันน้ำเค็ม และรักษาระบบนิเวศน์ด้านท้ายน้ำ สำหรับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนพระราม 6 ประกอบด้วย ปริมาณน้ำหน้าเขื่อนพระราม 6 และการบริหารจัดการน้ำบริเวณหน้าเขื่อน เนื่องจากเขื่อนพระราม 6 มีหน้าที่ในการทดน้ำ ดังนั้น ในการบริหารจัดการน้ำหน้าเขื่อนจึงใช้เขื่อนเป็นอาคารควบคุมปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมาในแม่น้ำป่าสัก