สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงฯบ้านป่าคา ต้นแบบคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน (เผยแพร่ทางเว็บไชต์ ไทยรัฐออนไลท์ )

 

https://www.thairath.co.th/news/local/north/1769268

"องคมนตรี" พร้อมคณะ ติดตามการดำเนินงานของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริบ้านป่าคา จ.กำแพงเพชร เพื่อเชิญสิ่งพระราชทานมอบแก่ราษฎร-ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมพบปะชาวไทยภูเขา รับทราบชีวิต-ความเป็นอยู่-การประกอบอาชีพ

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อดร็วๆนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา เดินทางไปติดตามการดำเนินงานของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร พร้อมเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการฯ จำนวน 300 ชุด โอกาสนี้ได้พบปะเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาบ้านป่าคา บ้านโละโคะ และบ้านป่าหมาก เพื่อรับทราบชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯแห่งสุดท้าย หลังจากนั้นไม่มีพื้นที่ใดที่ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการมีการดำเนินงานแบบบูรณา โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับผิดชอบหลัก นับเป็นโครงการที่มีความสำเร็จจากการพัฒนาที่บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยคุณภาพชีวิตของราษฎรมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น พร้อมการฟื้นฟูทรัพยากรป่าประสบความสำเร็จ สามารถกลับมาสมบูรณ์ได้อย่างเห็นได้ชัดเจน

จากการเยี่ยมชมภายในพื้นที่โครงการฯ องคมนตรีและคณะฯพบว่า ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน โดยการปลูกพืชผักเมืองหนาวหลากหลายชนิดทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิ ผักกาดขาวใหญ่ คะน้าฮ่องเต้ ซาโยเต้ สตอเบอรี่ เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค ซึ่งพืชที่ให้ผลผลิตที่ดีคือ ซาโยเต้ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 96 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากนี่ยังมีสตอเบอรี่ ผลผลิตเป็นที่ยอมรับถึงความปลอดภัยจากสารเคมี จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้ชุมชนชาวไทยภูเขาบ้านป่าคา มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพ มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทำให้ปัญหายาเสพติดและการบุกรุกพื้นที่ป่าลดน้อยลง โดยในช่วงปี 2559-2562 พบว่าไม่มีการบุกรุกพื้นป่าในเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าเพิ่มเติม ส่วนที่เป็นป่าเสื่อมโทรมและที่ราษฎรเคยใช้ทำไร่เลื่อนลอย จะมีการฟื้นผืนป่ากลับคืนมา โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคา เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ โดยมุ่งส่งเสริมอาชีพด้านการทำเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้สิ่งแวดล้อม ให้กับราษฎรชาวไทยภูเขาบ้านป่าคาและหมู่บ้านบริวาร

การนี้องคมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมการปลูกฟื้นฟูสภาพป่า และร่วมสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในพื้นที่อีกด้วย และเยี่ยมชมแปลงเกษตรตัวอย่างของ นายจักรพงษ์ ม้าเจริญตระกูล เกษตรกรบ้านป่าคาคลองลาน ที่ได้เรียนรู้การทำการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตรจากโครงการและนำมาปรับใช้ในแปลงปลูกของตนเองเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี บนพื้นที่ 6 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ 2 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น อะโวคาโด แมคคาดีเมีย กาแฟ มะขามป้อม ส่วนที่เหลือปลูกพืชล้มลุก เช่น มันญี่ปุ่น สตอเบอรี่ มีรายได้จากจำหน่ายกาแฟ ชาเปลือกกาแฟ อาโวคาโด ซาโยเต้ และพืชผักสวนครัวปลอดสาร อาทิ พริก มะเขือ มะเขือเทศ อื่นๆ หักค่าใช้จ่ายแล้วยังมีเงินเหลือเก็บแสนกว่าบาทต่อปี และคาดว่าหากอาโวคาโดให้ผลผลิตในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง นับว่าสถานีพัฒนาการเกษตรแห่งนี้เป็นสิ่งที่มีค่าอันประเสริฐ ที่ทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

และในโอกาสนี้องคมนตรีและคณะ ได้มีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งการเตรียมการและแนวทางเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนให้โครงการฯ ได้สนองพระราชดำริเพิ่มมากขึ้น โดยกรมชลประทานได้รายงานถึงความคืบหน้าในการบริหารจัดการน้ำ และการเตรียมการเพื่อจัดสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ และฝายทดน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและส่งน้ำสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการฯ และการทำการเกษตรของราษฎรในพื้นที่เป็นการเพิ่มเติมอีกด้วย