ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

วันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช

✨ วันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช การนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. เฝ้าฯ รับเสด็จ

🎤 โอกาสนี้ เลขาธิการ กปร. กราบบังคมทูลรายงานประวัติความเป็นมาของศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยธรรมชาติ ทำการเกษตรไม่ได้ผล มีกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำ สร้างอ่างเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำจากพรุควนเคร็ง ที่มีสภาพเป็นกรด รวมถึงผลักดันน้ำเสียที่บำบัดแล้วออกสู่ทะเล ในปี 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่โครงการฯ เป็นครั้งแรก และมีพระราชดำริในด้านต่างๆ เพิ่มเติมเรื่อยมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นผลสำเร็จ คือการปรับปรุงดินเปรี้ยวตามทฤษฎีแกล้งดิน ทำให้ปลูกข้าวได้ ทำเกษตรได้

💦 ปัจจุบัน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ดำเนินงานกว่า 2,290,000 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด 13 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 10 อำเภอ , จังหวัดพัทลุง 2 อำเภอ และจังหวัดสงขลา 1 อำเภอ มีศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เป็นหลัก ข่วยสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน

📌 ผลการดำเนินงานสำคัญ ในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ 👉ด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม สามารถสงวน และอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ บำรุงรักษาพื้นที่ป่าชายเลน 1,192 ไร่ สร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ตำบลตะลุมพุกและตำบลปากพนังฝั่งตะวันออกไปแล้วกว่า 58 กิโลเมตร ฟื้นฟูแปลงป่าพรุได้มากกว่า 6,500 ไร่ ทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าพรุที่ระดับน้ำลดต่ำลงมาก 👉ด้านพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ เน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการทำเกษตร ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นช่วยเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร เป็นเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ที่ปลอดภัย เช่น การใช้ประโยชน์จากป่าจาก ที่มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 3,000 ไร่ ได้น้ำตาลจาก น้ำหวานจาก หรือ น้ำผึ้งไซรัป น้ำส้มจาก และน้ำตาลจากชนิดผง รวมถึงต่อยอดคิดพัฒนาบรรจุภัณฑ์ นำใบจากแปรรูปเป็นภาชนะใส่อาหาร ส่งเสริมให้ขยายพันธุ์ปลาดุกลำพัน เป็นปลาพื้นถิ่น อาศัยอยู่ในป่าพรุ ใกล้สูญพันธุ์ ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วกว่า 4 พันตัว 👉ด้านงานวิจัย มีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คิดค้นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพของเกษตรกร เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์กิมจิ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกผักสวนครัว

🚎 จากนั้น ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดแพรคลุมป้ายศูนย์ผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทานปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์แห่งนึ้ สร้างขึ้นเมื่อปี 2563 เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทานในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ส่งมอบให้โรงเรียนในสังกัดโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร หรือ กพด. และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้การทำปศุสัตว์อย่างถูกวิธี มีโรงเรือนเลี้ยงไก่ โรงเก็บอาหาร เก็บพัสดุ และโรงฟักไข่

🐓 ปัจจุบันผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ได้แล้วกว่า 200 ตัว ผลิตไก่ไข่ อายุ 20 สัปดาห์ ได้กว่า 3 พันตัว ขยายผลสู่โรงเรียนได้แล้ว 9 โรงเรียน และขยายผลสู่ชุมชนได้โดยรอบ ในปี 2567 มีแผนที่จะผลิตไก่ไข่พระราชทานให้ได้มากถึง 4 พันตัว กระจายให้โรงเรียนในสังกัด กพด. และราษฎรพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งจัดฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่อย่างถูกวิธี คิดนำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ช่วยลดต้นทุน และให้การดำเนินงานเกิดความต่อเนื่อง

🌾 จากนั้น ทอดพระเนตรแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ “พอ...เพียงนี้ก็พอ” ใช้หลักการจัดการประโยชน์ที่ดินและน้ำพึ่งพาตนเองในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน มีสระเก็บน้ำปลูกพืชและเลี้ยงปลา ปลูกผักหมุนเวียนที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม เช่น ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง เป็ดไข่อารมณ์ดี ผลิตอาหารสัตว์สูตรต่าง ๆ จากวัตถุดิบในท้องถิ่นและผลผลิตจากแปลงสาธิต สำหรับเลี้ยงเป็ดไข่และ ไก่ดำภูพาน

#โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

#สำนักงานกปร