ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2567 เวลา 10.15 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

✨ วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2567 เวลา 10.15 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ การนี้ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. เฝ้าฯ รับเสด็จ

💜 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ขึ้น เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำรองไว้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ ในปี 2556 มูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้จัดตั้งศูนย์ฯ ณ หมู่ที่ 2 บ้านกุง ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ใน 3 จังหวัด 8 อำเภอ รวม 12 กลุ่ม ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ 10 กลุ่ม ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอจอมพระ อำเภอศีขรภูมิ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอสำโรงทาบ และอำเภอสังขะ, จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรอำเภอลำปลายมาศ และจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ อำเภอราศีไสล รวม 449 ราย พื้นที่ผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน รวม 4,542 ไร่ แต่ละกลุ่มมีคณะกรรมการบริหาร ควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ตั้งแต่การเตรียมแปลงนา จนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีและมีคุณภาพที่สุด

🌾 นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริให้ปรับปรุงสระน้ำในแปลงนา และขุดบ่อตามความเหมาะสม ดำเนินการไปแล้ว 671 สระ โดยบริเวณคันดินรอบสระ ยังสามารถปลูกพืชผักผลไม้ไว้บริโภค และนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริม พร้อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุด และปรับปรุงสระน้ำสาธารณะ จำนวน 10 สระ เพื่อให้ราษฎรในชุมชนได้ใช้อุปโภคและบริโภค

🌾 โดยปีนี้ ได้พระราชทานพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน กว่า 1 ล้าน 3 แสน กิโลกรัม ที่สะสมสำรองไว้แก่ราษฎรที่ประสบภัยแล้ง และอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์, มหาสารคาม, บุรีรัมย์ นครราชสีมา, ยโสธร และศรีสะเกษ รวม 10,441 ราย นำไปเพาะปลูกในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายกว่า 9 หมื่น 1 พันไร่

🌱 นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน”พระราชทานกิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี นำไปปลูกริมถนน และพื้นที่สาธารณะในหมู่บ้าน โดยให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลรักษา และเมื่อเติบโตได้ผลผลิตแล้วให้แบ่งปันกันในชุมชน รวมถึง การส่งเสริมการเลี้ยงโคและกระบือในชุมชน โดยกรมปศุสัตว์ และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้เข้ามาแนะนำการดูแลสุขภาพสัตว์ และสนับสนุนการผสมเทียมโค และกระบือพระราชทาน

☀️ ในช่วงบ่าย เสด็จฯ ไปวัดบ้านหนองแคน ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอสำโรงทาบ ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ที่ผ่านมาสมาชิกทุกกลุ่ม มีความรู้เรื่องขบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เอาใจใส่การทำนาได้ละเอียดประณีตทุกขั้นตอน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ดี มีคุณภาพ ปราศจากข้าวอื่นปลอมปน ปัจจุบัน ส่งเสริมให้สมาชิกผลิตข้าวมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ได้ผลผลิตสูงขึ้น ลดและเลิกใช้สารเคมี เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างสมดุลทางธรรมชาติในระบบนิเวศ ส่งผลดีต่อสุขภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

💜 โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ สมาชิกกลุ่มผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยบ้าน” บ้านกระเบื้อง น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายลูกโคที่เกิดจากโคพระราชทาน ซึ่งได้พระราชทานต่อให้เพื่อนสมาชิกเลี้ยง ได้มูลโคใช้ทำปุ๋ยบำรุงดินในแปลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน เป็นแนวทางช่วยลดและเลิกใช้สารเคมีที่ยั่งยืน

💦 จากนั้น ทรงติดตามการดำเนินงานเรื่อง การจัดเก็บข้อมูลการใช้น้ำจากสระน้ำพระราชทานสำหรับทำนาหยอด สำนักสารสนเทศ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำ หรือ “ไม้ไผ่อัจฉริยะ” ภายในสระพระราชทาน ของกลุ่มสมาชิก ตั้งแต่ปี 2563 และเก็บข้อมูลระดับน้ำเรื่อยมา เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในสระพระราชทานให้เพียงพอเพาะปลูกข้าวนาดำ และใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ / ในปี 2567 ได้ติดตามและเก็บข้อมูลการใช้น้ำจากสระน้ำพระราชทานของสมาชิกบ้านหนองแคน ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอสำโรงทาบ และสมาชิกบ้านกระเบื้อง ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบการทำนาหยอด มีข้อดีคือ จะช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ ใช้น้ำน้อย ลดวัชพืช ต้นข้าวเจริญเติบโตสม่ำเสมอ

🌾 การเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมสมาชิกเกษตรกรที่เข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทานในครั้งนี้ สร้างขวัญกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ให้แก่เกษตรกร ทำให้เกิดความมานะ อดทน ผลิตพันธุ์ข้าวคุณภาพดีช่วยเหลือเกษตรกรไทยที่ประสบภัย และที่เดือดร้อนเผชิญความทุกข์ยาก ให้กลับฟื้นและก้าวเดินต่อได้ในฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง สร้างความมั่งคงทางด้านอาหาร และความมั่งคงของประเทศชาติสืบไป

#ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ

#สำนักงานกปร