ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการปรับปรุงระบบกระจายน้ำในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์ ดอนขุนห้วย ๑ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

โครงการปรับปรุงระบบกระจายน้ำในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์
ดอนขุนห้วย ๑ ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
อ่างเก็บน้ำโป่งทะลุ
อ่างเก็บน้ำโป่งทะลุ

          สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมชลประทาน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ร่วมมือกันดำเนินงานโครงการปรับปรุงระบบกระจายน้ำในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ๑ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ตำบลดอนขุนห้วยให้สามารถมีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

จุดเริ่มต้น

            จุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าวต้องย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ สำนักพระราชวัง ได้รับหนังสือจากนายมนตรี เพชรไพบูรณ์กุล ตัวแทนราษฎรบ้านดอนขุนห้วย หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยขอพระราชทานโครงการระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำโป่งทะลุไปยังพื้นที่บริเวณหมู่ที่ ๕ ตำบลดอนขุนห้วย เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร จากนั้น สำนักพระราชวัง จึงได้ประสานแจ้งมายังสำนักงาน กปร. ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว

            ต่อมา วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เจ้าหน้าที่กองประสานงานโครงการพื้นที่ ๑ สำนักงาน กปร. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน จังหวัดเพชรบุรี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้ง นายมนตรี ผู้ถวายฎีกา และราษฎรในพื้นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมกันประชุมหารือ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจงปัญหา เสนอแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งความต้องการของชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งน้ำหลักของหมู่บ้าน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำโป่งทะลุ และสระเก็บน้ำเดิมที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าว

เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชาวบ้านในพื้นที่ร่วมประชุมหารือและตรวจสอบพื้นที่

สภาพทั่วไป

           บ้านดอนขุนห้วย หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ในเขตโครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ดอนขุนห้วย ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เพื่อช่วยเหลือให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น ๒ พื้นที่ คือ โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ๑ อยู่บริเวณหมู่ที่ ๕ ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ (พื้นที่ที่ผู้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ) และโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ๒ อยู่บริเวณหมู่ที่ ๑๐ และหมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ราษฎรในพื้นที่โครงการ ฯ ดอนขุนห้วย ๑ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยน้ำฝน น้ำในลำห้วยและน้ำจากอ่างเก็บน้ำโป่งทะลุ ซึ่งกรมชลประทานก่อสร้างไว้เมื่อปี ๒๕๒๐ มีความจุที่ระดับเก็บกัก ๘๑๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร และใช้น้ำจากคลองส่งน้ำสายหัวหิน (คลองส่งน้ำสาย ๑ ขวา - สายใหญ่ ๑) โดยส่งน้ำจากแหล่งน้ำชลประทานทั้งสองแห่ง (ทั้งโดยระบบท่อส่งน้ำและสถานีสูบน้ำ) มายังสระเก็บน้ำในพื้นที่โครงการ ฯ แล้วจึงกระจายน้ำสู่แปลงไร่นาของเกษตรกรด้วยระบบกระจายน้ำแบบรางน้ำเปิด

สภาพปัญหา

          เนื่องจากปัจจุบันระบบกระจายน้ำแบบรางน้ำเปิดดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จนไม่สามารถใช้การได้ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและพื้นที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่โครงการ ฯ จึงทำให้ระบบส่งน้ำต่างๆ ที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี

 

บริเวณหมู่ที่ ๕ บ้านดอนขุนห้วย ตำบลดอนขุนห้วย
อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
เจ้าหน้าที่และชาวบ้านร่วมกันตรวจสอบรางส่งน้ำระบบเปิด
ที่ชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้

การดำเนินการช่วยเหลือ

            หลังการลงพื้นที่ตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวแล้ว กรมชลประทาน ได้ศึกษาพิจารณา แนวทางการให้ความช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวตามหลักวิชาการ โดยมีการพูดคุยชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านอยู่เสมอ และได้เริ่มดำเนินการตามแนวทาง ได้แก่ การปรับปรุงระบบส่งน้ำภายในพื้นที่โครงการ ฯ จากเดิมที่เป็นแบบรางน้ำเปิด เปลี่ยนเป็นแบบระบบท่อส่งน้ำรวมระยะทางประมาณ ๑๒.๖๐ กิโลเมตร และก่อสร้างท่อผันน้ำแยกจากระบบส่งน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำโป่งทะลุ เพื่อส่งน้ำไปเติมสระเก็บน้ำเดิมภายในพื้นที่โครงการ ฯ พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารประกอบ นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำจากสถานีสูบน้ำคลองส่งน้ำสายหัวหิน (คลองส่งน้ำสาย ๑ ขวา - สายใหญ่ ๑) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำไปสนับสนุนแหล่งเก็บน้ำภายในพื้นที่โครงการฯ

           ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวไปแล้วบางส่วน โดยใช้งบประมาณปกติของหน่วยงาน แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคบางประการ ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ได้เดินทางมาติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ณ โครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ดอนขุนห้วย ราษฎรในพื้นที่ได้แจ้งถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำให้องคมนตรีทราบ ประกอบกับปัญหาการดำเนินงานที่ติดขัด องคมนตรีจึงได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานช่วยเหลือราษฎรดังกล่าว ซึ่งสำนักงาน กปร. ได้เสนอ กปร. ในการสนับสนุนแผนงานและงบประมาณดำเนินโครงการปรับปรุงระบบกระจายน้ำในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ๑ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นจำนวน ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ด้วยระบบชลประทานที่มีคุณภาพ ทดแทนระบบเดิมที่ชำรุดเสียหาย โดยที่ราษฎรได้มีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินงานโครงการทุกขั้นตอน พร้อมทั้งได้ให้คำมั่นว่า จะร่วมกันดูแลรักษาโครงการชลประทานของชุมชน มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมทั้งจะใช้ทรัพยาการน้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด

 

 

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ที่นี่


ข้อมูล ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๒
กองประสานงานโครงการพื้นที่ ๑

 

ผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ ๒๕๖๒

    กรมชลประทานดำเนินงานก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ จำนวน ๖ สาย ความยาวรวม ๗,๓๐๕ เมตร อาคารประกอบท่อส่งน้ำ เพื่อทดแทนระบบท่อส่งน้ำจากสระเก็บน้ำเดิมที่ชำรุดเสียหายโดยส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำโป่งทะลุฯ ไปยังพื้นที่เพาะปลูกของราษฎร ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานร้อยละ ๑๐ และจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ๒๕๖๓

     

             ปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำจากสระเก็บน้ำเดิมที่รับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำโป่งทะลุ ฯ
                ไปยังพื้นที่เพาะปลูกของราษฎร แทนคูส่งน้ำเดิมที่ชำรุดเสียหาย

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

       เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะสามารถจัดหาน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ จำนวน ๓๗๓ ครัวเรือน ๑,๓๕๗ คน สนับสนุนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝน จำนวน ๒,๕๐๐ ไร่ ฤดูแล้ง จำนวน ๑,๐๐๐ ไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่โครงการ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่โครงการ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

 

 

 

สามารถดาวน์โหลด pdf. ได้ที่นี่