ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

เรื่องเดิม

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๗ กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. (ตำแหน่งในขณะนั้น) ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ให้จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อทดลองปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน เพื่อให้ระบบนิเวศป่าชายเลนกลับคืนสู่ธรรมชาติ จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปลูกป่าชายเลนชนิดต่าง ๆ ที่คลองบางตราใหญ่และคลองบางตราน้อย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้กราบบังคมทูลเกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำโครงการศูนย์พลังงาน โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก่อสร้างศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบการจัดค่ายฝึกอบรม การจัดนิทรรศการ การสาธิต และห้องสมุดพลังงาน และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑

 

ผลการดำเนินงาน

๑. ดำเนินการฟื้นฟู ดูแลรักษาและพัฒนาพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ตามแนวพระราชดำริให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างเพื่อการเรียนรู้และการสาธิตด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน

- ดูแลและพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลน ป่าบก ป่าชายหาด และพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของอุทยานฯ รวมพื้นที่ ๒๑๕.๓๙ ไร่

- ปลูกต้นไม้ และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำตามธรรมชาติโดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสิ้น ๕๓,๘๒๘ คน

- พัฒนาพื้นที่บริเวณสวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม โดยจัดทำและปรับปรุงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ป้ายสื่อความหมาย ศาลาเรียนรู้ หอศึกษาเรือนยอดพรรณไม้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๔

๒. ให้บริการความรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ตามแนวพระราชดำริ ให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ชุมชนท้องถิ่น ประชาชนและผู้สนใจทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ในรูปแบบต่างๆ อย่างหลากหลาย มีจำนวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ๕๓,๘๒๘ คน

 

  

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

๑. เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นในการศึกษาเรียนรู้และเข้ารับการฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานตามแนวพระราชดำริ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ และสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมของอุทยานฯ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพต่อไป

๒. เกิดชุมชนเครือข่ายเพื่อการเผยแพร่ความรู้และขยายผลความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่อื่น ๆ ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนจากการติดตามและประเมินผล พบว่า ชุมชนที่ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ของอุทยานฯ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ช่วยส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนในอีกทางหนึ่ง

 

สามารถดาวโหลดไฟล์ PDF ได้ที่นี่

 

    

สภาพพื้นที่ป่าชายเลนภายในโครงการ

 

ผลการดำเนินงานปีงบประมาณ ๒๕๖๒

                 อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรฯ ได้รับการฟื้นฟู ดูแลและพัฒนา มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ การอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้กับชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป โดยอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน อาทิ หน่วยงานในพื้นที่ ชุมชนโดยรอบอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ กปร. ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการอุทยานฯ และการดำเนินงานตามภารกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดความยั่งยืน

               ปีงบประมาณ ๒๕๖๒ มุ่งดำเนินงานตามภารกิจด้านการเผยแพร่ความรู้และพัฒนาอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงานตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมให้ผู้ที่เรียนรู้สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ โดยมีการติดตามผลการเผยแพร่ความรู้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

              ๑. พื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้รับการฟื้นฟูดูแลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เกิดความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และเกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพื้นที่ป่าบกป่าชายหาดและป่าชายเลนมีสภาพแวดล้อมที่สวยงามมากขึ้น เป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยมีวิทยากรและเจ้าหน้าที่นำชมและให้บริการความรู้ทุกวัน มีประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ชุมชนท้องถิ่นและผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ จำนวนไม่น้อยกว่า ๘๐,๐๐๐ คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ

 

    

     

จัดกิจกรรมให้บริการความรู้แก่ประชาชนและผู้ที่สนใจทั่วไป

 

                ๒. เผยแพร่องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมการศึกษาวิจัย ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและผู้สนใจ ซึ่งเป็นงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ของอุทยาน การจัดค่ายฝึกอบรมหลักสูตรการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การให้ความรู้ด้านการเกษตรแบบผสมผสาน ในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ จำนวนไม่น้อยกว่า ๔๕ ค่าย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายฝึกอบรมไม่น้อยกว่า ๓,๔๐๐ คน ประกอบไปด้วยกลุ่มเยาวชน นักเรียน ครู บุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ผู้นำชุมชนและผู้แทนชุมชน และการออกให้บริการความรู้นอกสถานที่ จำนวน ๒๔ แห่ง มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ๑๗,๙๑๘ คน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการให้ความรู้แก่กลุ่มเยาวชน ชุมชนและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเป็นเครือข่ายในการเผยแพร่ความรู้ร่วมกับอุทยานฯ ต่อไป

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

                 ๑. เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นในการศึกษาเรียนรู้และเข้ารับการฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานตามแนวพระราชดำริ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ และสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมของอุทยานฯ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพต่อไป

                ๒. เกิดชุมชนเครือข่ายเพื่อการเผยแพร่ความรู้และขยายผลความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่อื่น ๆ ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนจากการติดตามและประเมินผล พบว่า ชุมชนที่ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ของอุทยานฯ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ช่วยส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนในอีกทางหนึ่ง 

 

 

สามารถดาวน์โหลด pdf.ที่นี่