ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยบริเวณทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

1. ความเป็นมา

          วันที่ 10 กรกฎาคม 2534

                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ ณวังไกลกังวล ให้การก่อสร้างโครงการพระราชานุสาวรีย์ฯมีการใช้น้ำที่เก็บในสระเก็บน้ำจำนวนมากเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของราษฎรที่มีพื้นที่อยู่รอบบริเวณพระราชานุสาวรีย์ฯ

          วันที่ 24 ตุลาคม 2538

                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ของพระราชานุสาวรีย์ฯ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรที่ถูกน้ำท่วมและเพื่อเป็นการเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งอีกทางหนึ่งด้วยและนำที่ได้เก็บกักไว้ในสระเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ตามแนวพระราชดำริด้านการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งโดยส่งเสริมอาชีพเสริมแก่ราษฎร 4 โครงการ คือโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรัง โครงการปลูกพืชอายุสั้นและไม้ผล โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาและโครงการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน

          วันที่13 พฤศจิกายน 2538

                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาปรับปรุงบริเวณพื้นที่โครงการให้สามารถเก็บน้ำได้มากขึ้นเป็น200 ไร่ เหลือเป็นพื้นที่พระราชานุสาวรีย์ไว้ 50 ไร่ และยกระดับถนนในพื้นที่ขึ้นด้วย

          วันที่4 ธันวาคม 2538

                    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสกับบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สรุปความได้ว่า

                    ...ในที่สุด ปีนี้น้ำก็ท่วมและเกิดระลึกขึ้นมาได้ว่ามีโครงการนี้อยู่...จึงให้คนไปถ่ายรูปมีหลายฝ่ายทั้งทางภาคพื้นดิน ทั้งทางอากาศ ในรูปได้เห็นว่ามีการสูบน้ำปลายหนึ่งของท่อจุ่มอยู่ในสระ และดูดน้ำออกจากสระ น้ำในสระนั้นมีระดับวัดได้ 3เมตร 50 เซนติเมตร แต่เมื่อดูแล้วข้างนอก น้ำขึ้นสูงไปมากกว่านั้นจึงบอกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งหยุดสูบน้ำออกไปและถ้าอย่างไรให้เปิดประตูน้ำที่เป็นท่อ และช่องที่เปิดน้ำให้เข้า-ออกได้ ให้น้ำเข้ามา น้ำก็ค่อยๆเข้ามาเอื่อยๆ น้ำจึงขึ้นมาหน่อย แต่ว่าเข้ามาช้ามาก... ก็เลยบอกว่าให้ฟันคัน ให้ใช้รถตักที่เขาเรียกว่าแบ็คโฮตักคันที่กั้นน้ำนั้นให้น้ำเข้ามา...และในเวลาเดียวกันก็วัดระดับน้ำ ปรากฏว่าระดับน้ำทางด้านตะวันออกคือน้ำที่มาจากแม่น้ำป่าสักสูงกว่าด้านที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 20เซนติเมตร ความรู้นี้ ไม่มีใครเคยรู้ว่า น้ำที่อยู่ในทุ่งด้านป่าสักมีความสูงกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และความรู้นี้ทำให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งกรมชลประทานเกิดความรู้ว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจากไหนและไปไหน...

          ...ก็บอกให้ทำต่อไปจนกระทั่งน้ำข้างนอกกับน้ำข้างในเท่ากันและวัดดูโดยต่อจากมาตรวัดน้ำ ซึ่งทีแรกสูง 4 เมตร ต่อขึ้นมา 5 เมตร ก็ท่วม 5 เมตรจนกระทั่งขึ้นมาถึง 5 เมตร 70 เซนติเมตร เป็นอันว่าน้ำที่เข้ามาในบริเวณนั้นจากเดิม3 เมตร 50 เซนติเมตร ขึ้นมาเป็น 5 เมตร 70 เซนติเมตร และน้ำในสระนั้นแทนที่จะมีประมาณห้าแสน ก็ขึ้นมาเกือบสองล้านลูกบาศก์เมตรเมื่อถึงขนาดนั้นแล้ว จึงสั่งให้ปิดได้ให้ปิดเพื่อที่จะเก็บน้ำนี้ไว้ข้างใน ...ทำให้ราษฎรเห็นว่าอนุสาวรีย์นี้ทำประโยชน์และสมเด็จพระสุริโยทัย นี้เป็นวีรสตรีในอดีต กลับมาเป็นวีรสตรีในปัจจุบันด้วยฉะนั้นโครงการนี้ก็ได้ผลเต็มที่...

          ...ทฤษฎีใหม่นี่มีไว้สำหรับป้องกันความขาดแคลนในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามที่มีอุทกภัยก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้เร็วโดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไปทำให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งตนเองได้อย่างดี ฉะนั้นจึงได้สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่...  

          วันที่ 23 มกราคม 2539

                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จ
พระสุริโยทัย เพื่อทรงเยี่ยมเกษตรกร และทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่รอบพระราชานุสาวรีย์ในการนี้ ทรงเปิดคันบังคับน้ำ เพื่อปล่อยน้ำเข้าสู่ท่อส่งน้ำที่ 2เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของราษฎรที่อาศัยอยู่โดยรอบและทรงมีพระราชดำริในเรื่องต่างๆกับคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการประกอบอาชีพของราษฎรโดยพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพิจารณานำทฤษฎีใหม่มาใช้งานโดยให้ขุดสระน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตโครงการและบริเวณใกล้เคียงเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูฝน และพิจารณาเพิ่มระดับเก็บกักรวมทั้งให้ขุดลอกสระเก็บน้ำให้ลึกลงไปตามความเหมาะสมเพื่อเพิ่มปริมาณความจุให้สระเก็บน้ำ

          วันที่ 14 พฤษภาคม 2539

                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยเพื่อทรงเกี่ยวข้าวในนาซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวนาปรัง และพระราชทานข้าวที่ทรงเกี่ยวเพื่อไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในการนี้ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ และกรมพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์ฯโดยขุดดินก้นสระให้มีความลึกโดยเฉลี่ยอีกประมาณ 1 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำให้มากกว่าเดิมดินที่ขุดได้ส่วนหนึ่งให้นำไปทำทางสัญจรด้านทิศเหนือขนานไปกับคันกั้นน้ำให้ประชาชนใช้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนริมแม่น้ำกับถนนสายใหญ่ดินอีกส่วนหนึ่งให้นำไปทำถนนเสริมคันกั้นน้ำเดิมให้สูงถึงระดับ 6.20 เมตร (รทก.)หากมีน้ำไหลหลากมากเหมือนปี 2538 จะได้ระบายน้ำเข้ามาในสระเก็บน้ำน้ำจะได้ไม่ท่วมหลังคันกั้นน้ำซึ่งจะทำให้มีน้ำเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้น

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและได้ทรงเปิดคันบังคับน้ำเพื่อปล่อยน้ำเข้าสู่ท่อส่งน้ำสายที่2 เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของราษฎรที่อยู่อาศัยโดยรอบพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยบริเวณทุ่งมะขามหย่อง เพื่อทรงเกี่ยวข้าวในแปลงนาข้าวของราษฎรซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวนาปรังรอบพื้นที่พระราชานุสาวรีย์ฯ 

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539

 

 

2. ลักษณะของโครงการ

                   โครงการพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยมีพื้นที่โดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 256 ไร่ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน ดังนี้

                   ส่วนที่ 1 พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยสวนสาธารณะ และอื่นๆ 

                             มีพื้นที่ประมาณ 56ไร่ ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

                                                                        - องค์พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยทรงช้างประดิษฐานบนเกาะเนินดิน พื้นที่ประมาณ 24 ไร่

                                                                       - อาคารประกอบอื่นๆในบริเวณเช่น อาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ส่วนแสดงแผนผังบริเวณและอาคารบำรุงรักษา ระบายน้ำและบ้านพักเจ้าหน้าที่

                   ส่วนที่ 2 พื้นที่สระเก็บน้ำ

                             มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่  สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งและรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก

                             - พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกัก               158 ไร่

                             -ปริมาณความจุที่ระดับเก็บกัก          1,209,000    ลูกบาศก์เมตร

                             - ระดับคันกั้นน้ำ                            + 6.20           เมตร (รทก.)   

                             - ระดับเก็บกักปกติ                         +4.50          เมตร (รทก.)

                             - ระดับเก็บกักสูงสุด                        +5.760        เมตร (รทก.)

                               (ในปี 2538 เกิดปัญหาอุทกภัยสามารถกักเก็บน้ำได้1,583,040 ลูกบาศก์เมตร)

                             -ปริมาณน้ำเก็บกักที่สามารถ            500,000ลูกบาศก์เมตร

                               นำมาใช้ประโยชน์โดยวิธีการธรรมชาติ

3.แนวทางการบริหารจัดการน้ำ

                โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยาดำเนินการบริหารจัดการสระเก็บน้ำโครงการพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยในรูปแบบพื้นที่แก้มลิง โดยมีแนวทางการบริหารจัดการ ดังนี้

                   3.1การเติมน้ำเข้าสระ 

                             การรับน้ำเข้าสู่พื้นที่สระเก็บน้ำทำโดยใช้ระบบท่อเพื่อเติมน้ำ ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ดังนี้

                             (1) ท่อส่งน้ำจากคลองชัยนาท  อยุธยา จำนวน 1 ท่อ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.80 เมตร ความยาว 516 เมตร ส่งน้ำได้ 0.73 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีหรือวันละ 63,000 ลูกบาศก์เมตรสามารถส่งน้ำได้เฉพาะในฤดูฝนช่วงเดือนตุลาคมน้ำในคลองชัยนาท  อยุธยา จะสามารถไหลเข้าสระเก็บน้ำได้ส่วนหนึ่ง

                             (2) โรงสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง บริเวณหน้าวัดเกตุ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยาสามารถสูบน้ำได้ 0.60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีหรือวันละ 166,000 ลูกบาศก์เมตร โดยส่งน้ำไปตามท่อคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 1 ท่อ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.80 x 254 เมตร สามารถสูบน้ำเข้าสระได้ทั้งฤดูแล้งและฤดูฝนและหากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง จะสามารถไหลเข้าสระเก็บน้ำได้โดยธรรมชาติ  

                             (3) ท่อรับน้ำและระบายน้ำทรงสี่เหลี่ยมจำนวน 2 ท่อ ขนาด1.5 x 1.80 เมตร จำนวน 1 แห่ง  ในช่วงฤดูน้ำ สามารถรับน้ำเข้าพื้นที่ได้วันละประมาณ300,000 ลูกบาศก์เมตร

                3.2 การนำน้ำไปใช้ประโยชน์

                             ในช่วงฤดูแล้งจะทำการส่งน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมรอบโครงการฯจำนวน 1,037 ไร่ ผ่านระบบชลประทาน ประกอบด้วย

                             (1) อาคารระบายน้ำที่1 (ด้านทิศเหนือ) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.60 เมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง10 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ 0.20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรทางด้านทิศเหนือ

                             (2) อาคารระบายน้ำที่2 (ด้านตะวันออก) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.60 เมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง10 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ 0.20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งให้พื้นที่การเกษตรทางด้านทิศตะวันออก

                             (3) อาคารระบายน้ำที่ 3 (ด้านทิศใต้) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง0.60 เมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว จำนวน1 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ 0.20  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีส่งให้พื้นที่การเกษตรทางด้านทิศใต้

                             (4) คูส่งน้ำดาดคอนกรีตจำนวน 3 สาย ความยาวรวม 4,070 เมตร

                             สายที่ 1 ขนาดท้องคูกว้าง0.30 เมตร ยาว 1,290 เมตร มีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 242 ไร่ 

                             สายที่2 ขนาดท้องคูกว้าง 0.30 เมตร ยาว 1,740 เมตร มีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 522 ไร่ 

                             สายที่ 3 ขนาดท้องคูกว้าง0.30 เมตร ยาว 1,040 เมตร มีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 165 ไร่ 

                             ปัจจุบันโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยาได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ(กลุ่มพื้นฐาน)“ทุ่งมะขามหย่อง” คิดเป็นพื้นที่รับประโยชน์ 1,037 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ ตำบลวัดตูม และตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

                3.3 การบริหารจัดการน้ำในช่วงเกิดอุทกภัย

                        ในช่วงน้ำหลากและเกิดปัญหาอุทกภัยโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา จะทำการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในสระเก็บน้ำตลอดเวลา โดยในปี 2553 และ ปี 2554 ได้ดำเนินการดังนี้ 

       ปี2553 ทำการเปิดรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่พื้นที่สระเก็บน้ำโดยวิธีการธรรมชาติ(Gravity) จนเต็มสระเก็บน้ำที่ระดับ + 5.0 เมตร (รทก.)

        ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกักปกติ 50 เซนติเมตรโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ภายในโครงการ 

       ปี2554 เกิดปัญหาอุทกภัยร้ายแรงในหลายพื้นที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงตั้งแต่เดือนกันยายน ส่งผลให้  น้ำเข้าท่วมเต็มพื้นที่สระเก็บน้ำสูงถึงระดับ+7.00 เมตร (รทก.) สูงกว่าระดับคันกั้นน้ำรอบสระที่มีระดับ+6.20 เมตร (รทก.) คิดเป็นปริมาตรน้ำประมาณ 5.4 ล้านลูกบาศก์เมตรเมตรภายหลังระดับน้ำลดลงไม่ปรากฏว่าอาคารระบบชลประทานได้รับความเสียหาย 

                             การเปิดรับน้ำเข้าพื้นที่สระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยเป็นการบริหารจัดการตามหลักการของแก้มลิง โดยในยามน้ำหลากจะเปิดรับน้ำเข้าสระเก็บน้ำโดยวิธีธรรมชาติและในช่วงฤดูแล้งจะบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทานเพื่อนำน้ำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการพร่องน้ำเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรองรับปริมาณน้ำหลากครั้งต่อไป

สภาพพื้นที่โดยรอบพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยบริเวณทุ่งมะขามหย่อง

ในช่วงที่เกิดปัญหาอุทกภัย เดือนตุลาคม2538 สามารถเก็บกักน้ำได้ 1,583,040 ลูกบาศก์เมตร

 

 

 

 

ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 1

ข้อมูล ณ วันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2557

สามารถดาวน์โหลด .pdf ได้ที่นี่