ประกาศข่าว:
  • ขนาดตัวอักษร:
  • -ก ก+
TH
EN
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Office of the Royal Development Projects Board (ORDPB)

โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรีและสระแก้ว

ความเป็นมา

                   ด้วยในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2521พื้นที่ราบเชิงเขาบรรทัดในเขตอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอเมืองสระแก้วอำเภอวัฒนานคร และอำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ในสมัยนั้น หรือจังหวัดสระแก้วในปัจจุบันเป็นเขตติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ที่มีการแทรกซึมและใช้เป็นฐานปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ซึ่งได้บีบบังคับให้ราษฎรในท้องที่ส่งเสบียง ยารักษาโรค และอาวุธตลอดจนใช้เป็นฐานในการปลุกระดมมวลชน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ

                   ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นผู้อพยพมาจากที่อื่น บุกรุกทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจนพื้นที่ป่าโดยรอบเขาบรรทัดกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก อยู่ในภาวะยากจน จึงต้องกลายเป็นผู้สนับสนุนผู้ก่อการร้ายโดยจำใจเพื่อความอยู่รอด อย่างไม่มีอนาคตและความหวัง เมื่อหน่วยเฉพาะกิจกองพลที่ 2กองทัพภาคที่ 1 เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ พบว่าการต่อสู้ป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายฯ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ขาดความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เพราะประชาชนเหล่านั้นได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรในบริเวณนี้จึงได้มีพระราชดำริให้มีการพัฒนาพื้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขาบรรทัดขึ้นโดยพระราชทานแนวทางเพื่อการพัฒนาไว้ 3 ด้านคือ

                   1. พัฒนาด้านจิตใจของราษฎร

                   2.พัฒนาความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ

                   3.จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรให้ถูกต้อง

และได้โปรดเกล้าให้ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงกลาโหมและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตามพระราชดำริดำเนินการร่างโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรี ตามพระราชดำริขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2521 เป็นต้นมาและได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรีตามพระราชดำริขึ้น คณะทำงานฯ ได้แบ่งพื้นที่การพัฒนาออกเป็น 7 พื้นที่ รวม 404,730ไร่ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโครงการฯเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2525ได้มีพระราชดำริให้พิจารณาดำเนินการพัฒนาพื้นที่บริเวณเทือกเขาสามสิบเพิ่มเติมรวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 437,300 ไร่

                    องค์ประกอบของศูนย์การพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี

                    ศูนย์การพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี เป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในท้องที่จังหวัดสระแก้วและจังหวัดปราจีนบุรีที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์    กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบด้วย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งหมด 7 โครงการฯได้แก่

                   (1)โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าทับลาน 1 (บ้านทับลาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

                   (2)โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าทับบาน 2 (บ้านคลองตาหมื่น)อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

                   (3) โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาป่าท่ากะบาก 1 (บ้านท่ากะบาก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองน้ำเขียวอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว

                   (4)โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาป่าท่ากะบาก 2 (บ้านคลองหมากนัด)อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว

                   (5)โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าโคกสูง 1 (บ้านห้วยชัน)อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

                   (6)โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าโคกสูง 2 (บ้านภักดีแผ่นดิน)อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองหมากฝ้าย อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

                   (7)โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าเขาฉกรรจ์ (บ้านเขาสามสิบ)อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว

                   รวมเนื้อที่พัฒนาทั้งหมดประมาณ 437,300 ไร่

วัตถุประสงค์

          1. เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่าสงวนแห่งชาติและเพื่อเสริมสร้างพื้นที่ป่าไม้ให้มากยิ่งขึ้น

          2.เพื่อจัดที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้แก่ราษฎรที่บุกรุกทำกินอยู่อย่างกระจัดกระจายในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้มาอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งอย่างถาวร โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในรูปหมู่บ้านป่าไม้

          3.เพื่อพัฒนาความรู้และสงเสริมอาชีพให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพและมีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

          4.เพื่อพัฒนาจิตใจของราษฎรให้ยึดมั่นและภาคภูมิใจในสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ อยู่อาศัยในหมู่บ้านอย่างมีความสุข มีเกียรติ มีความหวังและรักถิ่นที่อยู่ของตนมากขึ้นเพื่อที่จะได้ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านของตนให้เจริญมั่นคงถาวรต่อไป

เป้าหมาย

          1.จัดที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้แก่ราษฎรในรูปหมู่บ้านป่าไม้ ครอบครัวละไม่เกิน 15ไร่

          2.ให้ความรู้และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมที่เหมาะสม รวมถึงอุตสาหกรรมในครัวเรือนและอาชีพเสริมอื่นๆ

          3.ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมที่ถูกบุกรุกทำลายไปให้กลับมีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม

          4.จัดจ้างแรงงานในท้องถิ่นในการดำเนินงานของโครงการฯ ต่างๆ ในศูนย์การพัฒนา

          5.พัฒนาจิตใจราษฎรให้ยึดถือหลักการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ

          6. ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในการจัดสร้างสาธารณูปโภค เช่น อ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำ ถนน ไฟฟ้า วัด โรงเรียนและสถานีอนามัย

          7.เมื่อหมู่บ้านได้รับการพัฒนาเป็นปึกแผ่นแล้วจะส่งเสริมให้แปรสภาพเป็นหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรต่อไป

ระยะเวลาดำเนินการ

          ตั้งแต่ปี 2521 ถึงปัจจุบัน

แผนการปฏิบัติงานปีงบประมาณ 2549

          1. ปลูกหวายตามแนวพระราชดำริ รวม 150ไร่ (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว)

          2. บำรุงรักษาสวนเดิมอายุ 2-6 ปี รวม1,950 ไร่ (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว 1,750 ไร่)

          3. บำรุงรักษาสวนเดิมอายุ 7-10 ปี รวม 3,700ไร่ (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว 2,700 ไร่)

          4. บำรุงรักษาสวนป่าหวายอายุ 2-6 ปี รวม1,100 ไร่ (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว)

          5. ทำแนวกันไฟ รวม 69 กม.(ท้องที่จังหวัดสระแก้ว 57 กม.)

ผลการปฏิบัติงานเพียงสิ้นปีงบประมาณ2549

          1. ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าเป็นจำนวน 69,540ไร่ (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว 51,230 ไร่)

          2. ปลูกหวายตามแนวพระราชดำริ เป็นจำนวน1,500 ไร่ (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว)

          3. จัดหมู่บ้านป่าไม้,พัฒนาหมู่บ้านเดิม และจัดที่ดินทำกินให้ราษฎร จำนวน 9 หมู่บ้านปัจจุบันยุติการดำเนินการแล้ว (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว 7 หมู่บ้าน)

ปัญหาและอุปสรรค

          1. การปลูกป่า ปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการได้ในหลายพื้นที่เนื่องจากไม่มีโครงการ/งบประมาณในการจัดที่ดินทำกินและอพยพราษฎรออกจากพื้นที่ป่าไม้หรือการจัดที่ดินในรูปหมู่บ้านป่าไม้ได้เหมือนในอดีตแต่การบุกรุกป่าและครอบครองพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำประโยชน์ ยังคงมีอยู่การปลูกป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรมในปัจจุบันจึงมีปัญหาทับซ้อนกับที่ทำกินของราษฎร

          2.ไม่มีงบประมาณในการป้องกันรักษาพื้นที่ป่าไม้ที่ปลูกไปแล้วเกิน 10 ปีซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกๆ ปี

          3. ปัจจุบันได้ยุติการดำเนินกิจกรรมหมู่บ้านป่าไม้แล้วจึงมีสภาพเป็นหมู่บ้านปกติเหมือนหมู่บ้านทั่วๆ ไป จึงขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

          4.อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรของราษฎรในหมู่บ้านป่าไม้และมีปริมาณน้ำลดลงทุกๆ ปี เนื่องจากมีตะกอนดินไหลลงสู่อ่างการก่อสร้างฝายชั่วคราว CheckDam ตามแนวทางพระราชดำริ เพื่อกักเก็บตะกอน ชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดิน ไม่สามารถดำเนินการได้ในบริเวณที่จำเป็นและเหมาะสมเนื่องจากการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้าง จะพิจารณาจากชั้นลุ่มน้ำเป็นหลักแต่พื้นที่ดำเนินการของศูนย์การพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดสระแก้วจังหวัดปราจีนบุรี ไม่อยู่ในชั้นลุ่มน้ำที่กำหนด

ข้อเสนอแนะ

          1.เห็นควรให้ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสั่งการให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดทุกหน่วยงานร่วมกันออกสำรวจการบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในขอบเขตของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมดรวมถึงพื้นที่ที่ปลูกสร้างสวนป่าไปแล้ว หากพบผู้บุกรุกครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายต้องดำเนินการให้ออกจากพื้นที่ทุกรายทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารป่าที่ปลูกทดแทนและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติไว้ให้คงอยู่สืบไป

          2. พื้นที่สวนป่าที่มีอายุเกิน 10 ปีซึ่งหมดงบประมาณในการบำรุงรักษาแล้ว และไม่มีปัญหาการบุกรุกเห็นควรประกาศผนวกเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆที่มีความเข้มงวดในการป้องกันรักษามากกว่าการคงสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ

          3. การกำหนดพื้นที่ก่อสร้าง Check Dam ควรพิจารณาตามความเหมาะสมและจำเป็นของสภาพภูมิประเทศจริงมากกว่าที่จะกำหนดตามชั้นลุ่มน้ำ

อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก

ฝายทำนบดินคลองน้ำเขียว

แปลงไผ่ทรงปลูก

สหกรณ์การเกษตรคลองน้ำเขียว

 

ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 1

ข้อมูล ณ วันที่ : 28 กุมภาพันธ์ 2557

สามารถดาวน์โหลด .pdf ได้ที่นี่